ล้วงตัวตนค้นความคิด “กอล์ฟ ธัญญ์วาริน” ผู้ประกาศตัว “ขอเป็น ส.ส.กะเทย” คนแรกในสภา!

ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนแก่แล้วไม่เคยเห็น ส.ส.ที่เป็นกะเทยแต่งหญิง แต่งหน้าทาปากแดงเข้าไปอยู่ในสภาเลย เราจะเห็นแต่นักการเมืองหน้าเดิมๆ เข้าไปในสภา ไม่ว่าเขาจะออกกฎหมายอะไร หรือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายทางเพศ เขาก็จะคิดแทนเรา

เราจึงอยากเป็นคนที่ไปนั่งให้เขาถามตรงนั้นเลยว่า เราเป็นคนไทยคนหนึ่ง เป็นตัวแทนของคนคนหนึ่งที่ไม่ได้มีแบบเดียว คนไทยมีความหลากหลาย ทั้งอาชีพการงาน หน้าตา รวมถึงความหลากหลายทางเพศ อยากจะเป็นสัญลักษณ์ ถ้าเราได้โอกาสเข้าไปนั่งในสภา มันแสดงให้เห็นว่าคนธรรมดาคนหนึ่งก็มีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ได้เช่นกัน

เราอยากเป็นตัวแทนของความแตกต่าง

คำกล่าวจากใจของ “กอล์ฟ ธัญญ์วาริน” ผู้กำกับฯ ชื่อดังที่ต่อสู้ผ่านเรื่องราวในหนังและทวงความยุติธรรมที่ภาพยนตร์เคยถูกแบนเป็นเรื่องแรก ที่วันนี้ตัดสินใจขอไปเป็น ส.ส.คนแรกในสภา!

: ทำไมถึงเลือกลงสนามการเมืองในเลือกตั้งครั้งนี้?

ส่วนตัวคิดว่า เมื่อก่อนนี้สถานการณ์ไม่ได้เปิดกว้างเท่ากับทุกวันนี้ ศักราชนี้ มีพื้นที่เปิดกว้างให้กับคนที่หลากหลาย คนใหม่ๆ ก็เลยตัดสินใจมาลงสมัคร ส.ส.กับพรรคอนาคตใหม่ ส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่าพรรคนี้ที่เชื่อในเรื่อง “คนเท่ากัน” เราคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเขายอมรับให้เราสมัครได้ แสดงว่าเขาก็เห็นว่าเราเป็นคนคนหนึ่งเท่ากัน

แต่กว่าจะตัดสินใจมาสมัครได้ ยอมรับว่าส่วนตัวมีความกังวลและใช้เวลานานในการตัดสินใจ บอกตรงๆ ว่าในอดีตมองว่าการเมืองไกลตัวและไม่ค่อยอยากจะเข้ามายุ่ง มันดูน่ากลัว แต่ถ้าถามว่าตอนนี้ยังกลัวหรือไม่ ก็ยอมรับว่ากลัว

แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยสักอย่างหนึ่ง สังคมมันก็จะเป็นเหมือนเดิมไปอย่างนี้ตลอด เราเลยตัดสินใจ

คนใกล้ชิดพยายามเตือนสติเราว่าแน่ใจแล้วหรือ? ไม่มีใครที่บอกทันทีว่าเอาเลยๆ มีแต่คนพยายามดึงเราไว้ มันก็ทำให้เราได้ใช้โอกาสทบทวนตัวเองว่าเราอยากจะทำมันจริงๆ หรือไม่? รวมถึงหน้าที่การงานของเรา ตอนแรกก็เป็นกังวลเพราะเราก็เห็นอยู่ว่าประเทศไทย ณ วันนี้มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกตามความเชื่อ มีสีทางการเมือง เกิดความขัดแย้งกันอยู่ตลอด

: ล้วงลึกทัศนคติส่วนตัว

ต้องยอมรับว่าประเทศเราไม่เคยสอนให้เราเคารพคนอื่น ให้เชื่อแต่ความคิดของตัวเอง และคนที่คิดไม่เหมือนเรา เราก็จะชี้ที่เขาแล้วบอกเขาว่าผิด โดยที่ปราศจากการมองหรือทำความเข้าใจว่ามนุษย์คนหนึ่ง ใครจะคิดแบบไหนเป็นเรื่องสิทธิของเขา

ตั้งแต่ตัวเองทำหนังแล้ว กอล์ฟเชื่อในเรื่องคนเท่ากัน เราพยายามสอดแทรกประเด็นเรื่องนี้และความหลากหลาย เพราะส่วนตัวมองว่าคนเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้มันไม่ต้องรักกันหรอก ในเมื่อคุณไม่รู้จักฉัน ฉันไม่รู้จักคุณ การที่จะบอกว่าให้รักกันไว้มันก็ฟังดู “ตอแหล”

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเชื่อว่า “ความเข้าใจ” ต่างหากที่ทำให้คนเราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ แค่เพียงเข้าใจว่าเราเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีเพศอะไร รสนิยมทางเพศแบบไหน ฐานะทางสังคมหรือมีความร่ำรวยยากจน จะหล่อสวยอย่างไร เราทุกคนมีสิทธิเท่ากัน

ถ้าเริ่มมองจากตรงนี้ด้วยความเข้าใจ และเราเคารพเขาว่าเป็นคนเหมือนกับเรา แปลว่าคนคนนั้นก็จะเข้าใจว่าคนที่คิดต่างจากเราก็มีสิทธิในความคิด ถ้าคนในสังคมทำความเข้าใจในส่วนนี้ได้ว่าคนเท่ากันคนคิดต่างไม่ผิด ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดแค่นั้น ไม่ต้องรักกันหรอก แค่นี้ทุกคนก็อยู่ด้วยกันได้ ขอเพียงเข้าใจว่ามนุษย์มีความหลากหลาย เคารพผู้อื่นเหมือนเคารพตัวเอง ส่วนตัวมองว่า ความขัดแย้งมันมีอยู่แล้ว

หนังของเราที่ผ่านมาก็ทำแนวนี้มาตลอด เราพยายามที่จะเล่าว่าไม่ว่าคนไหนก็มีความเท่ากัน มีทุกข์ มีสุขเหมือนกัน เราพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพของการแสดงออกมาโดยตลอด หรือการต่อสู้หนังของตัวเองที่โดนแบน (เรื่องแรกในราชอาณาจักรหลังมี พ.ร.บ.เรตติ้ง) เราก็ต่อสู้มานานหลายปี เราได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้มาตลอด จึงตัดสินใจที่จะเข้ามาที่จะมาผลักดันประเด็นเหล่านี้ มาทำให้สังคมมีความเข้าใจกันมากขึ้น

ส่วนตัวของเราเป็นคนไม่เฟก เราจริงใจ เป็นแบบไหนเป็นแบบนั้นเสมอ เราไม่เคยใส่สูทไปพรรค เราเป็นตัวของตัวเองมาตลอด จุดสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ที่ชอบคือ มีความคิดที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ที่ผ่านมาก็ได้รับ Feedback กำลังใจหลายส่วน มีคนบอกว่าจะมาเลือก กลุ่มเพื่อนฝูง กลุ่มคนที่ทำงานด้วยกัน หรือกลุ่ม LGBT เป็นต้น

: ไม่กลัว ไม่ห่วงอนาคตหรือ?

ถามว่า กลัวไหม ก็กลัว เพราะว่าเมื่อมีคนคิดแตกต่างกัน อย่างเราเป็นฟรีแลนซ์ คนที่เขาจ้างเราอยู่ เกิดเขาคิดไม่เหมือนเรา เขาจะเลิกจ้างเราหรือเปล่า หรือว่าเราจะมีงานทำหรือไม่? ก็เคยคิดถึงเรื่องพวกนี้ว่า ถ้าเราออกตัวแรงชัดเจนว่าเราจะมาทำงานตรงนี้จะมี Feedback อย่างไรกัน

รวมถึงว่า ถ้าสมัครแล้วไม่ได้รับการเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร แล้วก็กลับไปทำงานแบบเดิม แต่ว่าถ้าได้ก็ทำงานการเมืองจนกว่าจะหมดวาระ แล้วเราก็กลับมาทำงานหนังต่อได้ ต้องเข้าใจว่าพี่ๆ ในวงการบันเทิงที่มีความคิดเห็นแตกต่างกับเรา เราก็ใช้ความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น เราไม่เคยรู้สึกว่าเขาจะรังเกียจเรา หรือเราต้องรังเกียจเขา ถ้าเราเห็นคนเท่ากัน เราเข้าใจเหตุผลใครที่ออกไปเป่านกหวีด มีคนหลายคนในวงการบันเทิงที่ไม่ได้แสดงตัว ทุกคนพยายามจะรักษาตัวเองให้อยู่ในเซฟโซน ทุกคนก็กลัวจะไม่มีงานทำ ซึ่งยังมีอีกหลายคนในวงการบันเทิงที่คิดแบบเดียวกับเรา แต่เขาไม่แสดงออก

: มุมมองต่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิต

การมี พ.ร.บ.ชีวิตคู่คือการอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ มันยิ่งทำให้เห็นชัดว่าเราเห็นคนไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น สังคมพยายามจัดบล๊อกให้เราว่าอยู่ในกรอบนี้ เพื่อทำให้เห็นว่ามีความแปลกแตกต่าง การมี พ.ร.บ.ชีวิตคู่ทำให้เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาเราไม่ใช่คนปกติหรือ? ถึงต้องมี พ.ร.บ.แบบนี้ออกมา ทำไมไม่ทำให้กฎหมายแต่งงานปกติที่มีอยู่แล้วหญิง-ชาย เพียงแค่เปลี่ยนจากชายหญิงเป็น “บุคคลกับบุคคลแต่งงานกัน”

การที่มี พ.ร.บ.แยกออกมายิ่งทำให้เห็นว่าเราเหมือนตัวประหลาด แสดงว่าคุณมองเห็นคนไม่เท่ากันตั้งแต่แรก

: มุมมองต่อความหลากหลายทางเพศ

เราต้องเข้าใจว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้กันอยู่หลายระดับ เราอาจจะไม่ได้เข้าใจเหมือนเขา เราอาจจะโอเคกับคำว่า “กะเทย” แต่คำว่ากะเทยสำหรับอีกคนหนึ่งอาจจะไม่โอเค เขาอาจจะมีความต้องการให้ใช้คำว่า “สาวประเภทสอง” หรือ “ผู้หญิงข้ามเพศ” มันคือเรื่องของความพึงพอใจ เพราะฉะนั้น เรื่องของความหลากหลายก็ยังมีความหลากหลายอยู่จริงๆ จึงไม่แปลกถ้าจะมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่อยากเลือกเรา หรือจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิดก็ได้

แต่เราเชื่อว่าบทบาททางเพศที่กดทับพวกเราทุกคน หรือความคาดหวังของสังคมกับการที่เรามีอวัยวะเพศแบบไหน ที่มันมีติดมาอยู่แล้ว ความเป็นชาย ความเป็นหญิง แต่ถ้าเราทำให้คนเท่ากันมันก็จะไม่มีความคิดเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้ประเทศเราไม่ได้สอนให้เราเท่ากันตั้งแต่แรก ผู้ชายจำเป็นเพศ 1 หญิงเป็น 2 ที่เหลือเป็น 3

หรือผู้ชายมีคำนำหน้าว่า “นาย” คำเดียว ผู้หญิงมี “นาง” กับ “นางสาว” อ้าว แล้วทำไมผู้ชายไม่มีตัวเลือก? พระก็บวชได้แต่ผู้ชาย เราจะเห็นว่ามันไม่มีความเท่ากันเลย เราจึงอยากเป็นตัวกลางเพื่อที่จะบอกว่าเราไม่ได้ทำเพื่อแค่คนใดคนหนึ่ง ถ้าเรามีโอกาส จะทำให้มี “คนเท่ากัน”

ไม่ใช่ว่ามีเครื่องเพศแบบไหนต้องแบกรับความกดดันหรือความคาดหวังไปด้วย มันอึดอัดนะ การต้องเป็นผู้ชายแบบที่สังคมกำหนด หรือต้องเป็นผู้หญิงอย่างที่สังคมให้เป็น