ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/’โตโยต้า ซี-เอชอาร์’ ประกาศศักดา ‘CAR OF THE YEAR 2018’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

‘โตโยต้า ซี-เอชอาร์’ ประกาศศักดา

‘CAR OF THE YEAR 2018’

 

ด้วยเพราะต้องเทพื้นที่ให้กับงานคาร์โชว์ใหญ่ส่งท้ายปี “มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2018” 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน ทำให้ผมต้องเว้นวรรคที่จะกล่าวถึง “รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2561” (THAILAND CAR OF THE YEAR 2018) ที่ประกาศผลไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ปีนี้รถที่ได้รางวัลนี้ไปคือ “โตโยต้า ซี-เอชอาร์” (TOYOYA C-HR)

ต้องบอกก่อนว่า นี่คือรางวัลที่แจกให้กับรถเพียง “คันเดียว” ที่วางจำหน่ายในปีนั้นๆ

จัดโดย “สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย”

การโหวตลงคะแนนถือว่าเป็นธรรมโดยคณะกรรมการที่ปีนี้มีถึง 54 คน เป็นผู้สื่อข่าว หรือนักทดสอบรถยนต์ตัวจริงเสียงจริงในเมืองไทย

เรียกว่าเป็นคณะกรรมการที่ผ่านการขับรถมาเกือบทุกรุ่นที่วางจำหน่ายในเมืองไทยนั่นแหละ

ก่อนที่จะคัดเลือกรถทั้งหมดเข้ารอบสุดท้าย 6 คัน

ประเมินให้คะแนน อาทิ การออกแบบ การควบคุม ความสะดวกสบาย สมรรถนะ ความปลอดภัย อุปกรณ์อำนวยความสะดวก นวัตกรรมเทคโนโลยี ราคา ความคุ้มค่า รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม

ก่อนที่ผลจะออกมาประกอบด้วย

โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ได้ 382 คะแนน

มาสด้า ซีเอ็กซ์-5 ได้ 307 คะแนน

ซูซูกิ สวิฟท์ ได้ 260 คะแนน

มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ได้ 141 คะแนน

เอ็มจี แซดเอส ได้ 136 คะแนน

และนิสสัน เทอร์ร่า ได้ 130 คะแนน

 

เรามาเจาะลึกรถยอดเยี่ยมประจำปีนี้กัน

โตโยต้า C-HR เป็นรถครอสโอเวอร์ ที่อวดโฉมครั้งแรกในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2017 ถือว่ายั่วน้ำลายคนไทยอยู่พอสมควร ด้วยรูปร่างหน้าตาออกแนวสปอร์ต ดูล้ำสมัยและปราดเปรียว

รุ่นนี้ถือเป็นครั้งแรกที่โตโยต้าใช้แพลตฟอร์มใหม่ล่าสุด “Toyota Global New Architecture – TNGA)” พัฒนาขึ้นโดยการออกแบบโครงสร้างตัวถังใหม่ให้แข็งแกร่ง (Body rigidity) และมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำลง (Low center of gravity) ลดการโคลงตัวของตัวถัง ทำให้สามารถเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ มีความโดดเด่นเรื่องประสิทธิภาพการเกาะถนน (STABILITY)

มีเครื่องยนต์ 2 บล๊อก คือ เบนซิน 1.8 ลิตร และไฮบริด

ด้านหน้าโฉบเฉี่ยวดีเหลือเกินด้วย “ไดมอนด์ ดีไซน์” ไฟหน้าโปรเจ็กเตอร์แบบ Full LED พร้อมระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ ไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED, ไฟเลี้ยวด้านหน้าแบบ LED Sequential ไฟท้ายรมดำแบบ Full LED กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว LED และไฟส่องสว่าง Welcome Lamp แบบ LED

มือจับเปิดประตูเบาะนั่งหลังอยู่ติดกับขอบกระจกบนดูกลืนไปกับตัวถัง มองผาดๆ คล้ายรถ 3 ประตู เสาอากาศแบบครีบฉลาม สปอยเลอร์หลัง ติดตั้งไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED

ล้ออัลลอย 5 ก้าน ขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/60

 

ภายในตกแต่งด้วยสีทูโทน พวงมาลัยหุ้มหนัง พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่น ควบคุมเครื่องเสียง สมาร์ตโฟน แป้นควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หัวเกียร์ขนาดใหญ่หุ้มหนัง และวัสดุมันวาว จับถนัดมือ

มาตรวัดขนาดใหญ่ทรงสปอร์ต ติดตั้งหน้าจอขนาด 4.2 นิ้ว แสดงผลข้อมูลการขับขี่ที่จำเป็น รวมถึงการทำงานของระบบไฮบริด ว่ากำลังชาร์จ ใช้พลังงานจากมอเตอร์ หรือจากเครื่องยนต์ เป็นหน้าจอสีทำให้อ่านง่ายสบายตา

เบาะนั่งหนังและวัสดุสังเคราะห์ขนาดใหญ่มาก นั่งนุ่มสบาย หน้าจอขนาด 7 นิ้ว รองรับความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ เชื่อมต่อผ่าน USB HDMI Micro SD Card หรือจะเป็นระบบบลูทูธ

ติดตั้งระบบนำทางเนวิเกเตอร์ และ T-Connect Telematics เชื่อมต่อผู้ขับขี่กับรถยนต์ด้วยสมาร์ตโฟน หรือแอปเปิ้ล วอตช์ ตรวจสอบค้นหาพิกัดรถ ในกรณีถูกโจรกรรม ขอแผนที่จุดหมายปลายทางกับโอปะเรเตอร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และยังเป็นตัวกระจายสัญญาไวไฟให้กับผู้ใช้ในรถยนต์อีกด้วย

ภาพรวมถือว่าออกแบบได้สปอร์ตไม่ต่างจากภายนอก

แต่มีข้อเสียงตรงที่นั่งหลังอาจดูอึดอัดไปสักนิด เนื่องจากเบาะหน้าขนาดใหญ่ รวมไปถึงกระจกหน้าต่างที่เล็กไปนิด

แต่ถ้าเป็นเบาะคู่หน้าถือว่าสบายทีเดียว และกระจกหน้าก็บานใหญ่ให้ทัศนวิสัยที่ดี มองได้กว้างไกล

 

อย่างที่บอกไปตอนแรกที่ขุมพลังมี 2 บล๊อกทั้งเบนซินและไฮบริด โดยรุ่นไฮบริด เป็นเจเนอเรชั่นล่าสุด ที่ติดตั้งอยู่ในโตโยต้า พรีอุส รุ่นที่ 4 พัฒนาให้มีขนาดเล็กลง เก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น

ส่วนความปลอดภัยและสะดวกสบายแน่นคัน การันตีจากรางวัล 5 ดาวทดสอบตามมาตรฐานของ Euro NCAP

ถุงลมติดตั้งมาเพียบทั้งคู่หน้า ถุงลมนิรภัยหัวเข่า (เฉพาะผู้ขับขี่) ม่านถุงลมนิรภัยด้านข้าง ถุงลมนิรภัยด้านข้าง รองรับระดับหน้าอก/กระดูกเชิงกราน (Side Chest Airbag/ Pelvis Airbag) เฉพาะผู้โดยสารตอนหน้า

ระบบตัดการทำงานถุงลมนิรภัยเมื่อไม่มีผู้โดยสาร (เฉพาะผู้โดยสารตอนหน้า)

ระบบเบรกอัตโนมัติ ป้องกันการชนวัตถุและคนเดินถนน (Pre-Collision System with Pedestrian Detection) หนึ่งในชุดเทคโนโลยีความปลอดภัย Toyota Safety Sense

ระบบควบคุมความเร็ว (Speed Assistance) ระบบรักษาช่องทางจราจร (Lane Assist System) ระบบเตือนมุมอับสายตา (Blind Spot Monitor) ระบบเตือนรถเคลื่อนผ่านขณะถอยหลัง (RCTA)

ระบบควบคุมการทรงตัวและป้องกันล้อหมุนฟรี VSC/TRC, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC และอื่นๆ อีกเพียบ

 

หลังจาก “โตโยต้า ซี-เอชอาร์” เปิดตัวได้สักพัก ผมเองมีโอกาสทดสอบขับ คันจริงต้องบอกว่าจริงจริง ไรจริง

เครื่องยนต์ให้กำลังเหลือเฟือ ออกตัวได้ไม่อายใคร ความเร็วกลาง-ปลาย มาค่อนข้างเร็ว ระดับ 160-170 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาสั้นๆ แบบไม่ต้องลุ้น แต่หากต้องการไปมากกว่านั้นอาจต้องรอสักหน่อย

ที่น่าทึ่งคือ ช่วงล่างนุ่มนวลเกินความคาดหมาย โดยระบบรองรับด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สัน สตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังอิสระแบบปีกนกคู่ พร้อมเหล็กกันโคลง

ผ่านหลุมบ่อ คอสะพาน หรือถนนลูกรังไม่ได้กระเด้งกระดอนจนเกินเหตุ

แต่ท่ามกลางความนุ่มนวลก็ยังมีความนิ่ง ทั้งยามกระชากเปลี่ยนเลนหรือเข้าโค้ง แทบไม่ต้องลุ้นแม้จะเป็นรถทรงสูงก็ตาม

พวงมาลัยไฟฟ้า ปรับมาได้ดีไม่หนักเกินไป ควบคุมได้แม่นยำ

เรื่องความประหยัดน้ำมัน ต้องบอกว่าในรุ่นไฮบริด ได้ระดับ 20 กิโลเมตร/ลิตรสบายๆ แม้จะไม่ได้ขับแบบระมัดระวังก็ตาม แต่นี่เป็นตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองตามข้อมูลรถที่บอกนะครับ แต่จริงๆ แล้วคิดว่าไม่เพี้ยนไปสักเท่าไหร่

“โตโยต้า ซี-เอชอาร์” ถือว่าเป็นรถที่ขับสนุก ขับสบาย และอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ก็จัดมาให้แบบครบๆ

ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดจึงชนะใจคณะกรรมการ จนคว้ารางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปีของ “สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย” มาได้

“โตโยต้า ซี-เอชอาร์” มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย

ราคา 979,000-1,159,000 บาท