วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จริยวัตรจักรพรรดิคนแรก กับ “หมวกหนึ่งใช้สามปี ผ้าห่มหนึ่งผืนใช้สองปี”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากราชวงศ์ใต้ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม เซียวเต้าเฉิงอยู่ในอำนาจได้เพียงสี่ปีก็เสียชีวิต ก่อนจะเสียชีวิตเขาได้สั่งเสียบุตรหลานของเขาว่า จงอย่าได้เอาเยี่ยงอย่างบุตรหลานของหลิวอี้ว์ที่มัวเมาอยู่ในการแย่งชิงอำนาจเป็นอันขาด

แต่คำสั่งเสียนี้ก็อยู่ในสำนึกเฉพาะแต่รุ่นบุตรของเขา โดยบุตรที่เป็นจักรพรรดิสืบต่อจากเขาก็คือ เซียวเจ๋อ (ค.ศ.440-493) ซึ่งได้สืบทอดและต่อยอดนโยบายของเขาต่อไปจนรัฐหนันฉีเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

และเป็นที่มาของคำเรียกขานยุคสมัยของเซียวเจ๋อว่า การเมืองสมัยหย่งหมิง (หย่งหมิงจือจื้อ, Reign of Yongming) ตามชื่อรัชศกของเขาเอง

เมื่อสิ้นยุคของเซียวเจ๋อแล้วก็มาถึงรุ่นหลานของเซียวเต้าเฉิง นับแต่รุ่นนี้เรื่อยมาคำสั่งเสียของเซียวเต้าเฉิงได้หมดความหมายลง

นั่นคือ นับแต่ ค.ศ.494 เป็นต้นมา หนันฉีได้ตกอยู่ในความมืดมนอนธการ อำนาจที่อยู่ในมือของเซียวหลวน (ค.ศ.452-498) ในฐานะจักรพรรดิ ที่แม้จะอยู่ในอำนาจเพียงห้าปี แต่ก็เป็นห้าปีที่ถูกใช้ไปกับการเข่นฆ่าพี่น้องและเครือญาติสกุลเซียวอย่างอำมหิต ถึงตอนนี้ราษฎรจึงเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าอีกครั้งหนึ่ง

การลุกขึ้นสู้ของราษฎรเกิดขึ้นในหลายพื้นที่แม้จะสิ้นยุคของเซียวหลวนไปแล้วก็ตาม

ตราบจน ค.ศ.501 ขุนศึกซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองยงโจวและอยู่ในสกุลเซียวคือ เซียวเอี่ยน ได้ยกทัพบุกเมืองเจี้ยนคังแล้วสำเร็จโทษจักรพรรดิคือ เซียวเป่าเจี้ว์ยน (ค.ศ.483-501) จากนั้นก็แต่งให้บุตรของเซียวหลวนคือ เซียวเป่าหญง (ค.ศ.488-502) เป็นจักรพรรดิ

แต่หนึ่งปีให้หลังจากนั้นก็ปลดเซียวเป่าหญงออกไปแล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิแทน พร้อมกันนั้นก็สถาปนาราชวงศ์ของตนขึ้นมาใหม่ นั่นคือ ราชวงศ์หนันเหลียง โดยราชวงศ์หนันฉีมีจักรพรรดิรวม 7 องค์ และมีอายุราชวงศ์ราว 23 ปี

 

ราชวงศ์เหลียง

ในบางที่จะเรียกราชวงศ์เหลียง (Liang Dynasty, ค.ศ.502-557) ว่า หนันเหลียง เพราะในกาลข้างหน้าจะมีอีกราชวงศ์หนึ่งที่มีชื่อเหมือนกันและถูกเรียกว่า เหลียงสมัยหลัง เพื่อระบุให้ชัดเจนว่าเป็นคนละราชวงศ์คนละสมัยกัน

แต่ด้วยเหตุที่ราชวงศ์นี้ตั้งโดยบุคคลในสกุลเซียวดังราชวงศ์หนันฉี ราชวงศ์หรือรัฐนี้จึงถูกเรียกว่า เซียวเหลียง ในบางที่

เหลียงที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้ถือเป็นราชวงศ์ที่มีความโดดเด่นในทางพุทธศาสนา จนอาจเรียกได้ว่าเป็นราชวงศ์แรกๆ ก็ว่าได้ ที่ได้สร้างปรากฏการณ์นี้นับแต่ที่ศาสนาพุทธเข้ามาในจีน

แต่ปรากฏการณ์นี้จะดีหรือจะเหมาะสมหรือไม่ประการใด ย่อมเป็นประเด็นที่งานศึกษานี้จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

 

เซียวเอี่ยน (ค.ศ.464-549) ผู้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์เหลียงนี้เป็นผู้มีความรู้ในทางศิลปศาสตร์สูง ทั้งยังเป็นขุนศึกที่มากความสามารถอีกด้วย โดยเมื่อครั้งที่เซียวหลวนแห่งราชวงศ์หนันฉีเป็นจักรพรรดินั้น ราชวงศ์เป่ยเว่ยแห่งราชวงศ์เหนือได้กรีธาทัพมาปิดล้อมเมืองเมืองหนึ่งของรัฐเหลียง

บรรดาขุนศึกของเหลียงไม่มีผู้อาสาศึกด้วยเกรงในแสนยานุภาพของศัตรู มีก็แต่เซียวเอี่ยนที่อาสาศึก โดยเขาได้นำทหารไปยังเมืองนั้นด้วยการเดินทางในยามวิกาล ครั้นถึงนอกเมืองนั้นแล้วก็สั่งให้ทหารปักธงทัพหลวงของเหลียงให้เต็มภูเขา

พอถึงเช้าทหารเหลียงที่ถูกล้อมอยู่ในเมืองได้เห็นธงก็เข้าใจว่าทัพหลวงมาช่วยแล้ว ทำให้มีแรงใจจนเกิดความฮึกเหิมขึ้นมาเป็นที่ยิ่ง และเปิดประตูเมืองเข้าสู้กับข้าศึกโดยไม่หวั่นเกรง ข้างทัพของเซียวเอี่ยนเห็นเช่นนั้นก็บุกเข้าช่วย ฝ่ายข้าศึกที่มิทันได้ตั้งตัวจึงเสียขบวนศึกและพ่ายแพ้ไปในที่สุด

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีผู้วิเคราะห์ว่า ที่เซียวเอี่ยนมีความสามารถในการศึกนั้น น่าจะมาจากความชอบในการเล่นหมากล้อมของเขาอยู่ด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่เป็นจักรพรรดิแล้วเขายังได้ใช้การจัดลำดับเสนามาตย์ที่มีอยู่เก้าชั้นนั้น มาจัดแบ่งระดับนักเล่นหมากล้อมให้มีเก้าขั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความดีความชอบที่ทำมาได้ส่งผลให้เซียวเอี่ยนมีตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยลำดับ จนนำเขาไปสู่การโค่นราชวงศ์หนันฉีในที่สุด

 

ในฐานะจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์เหลียง เซียวเอี่ยนสามารถปกครองบ้านเมืองได้ด้วยดี ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการสรุปบทเรียนจากหนันฉีที่เขาเคยรับใช้ โดยหลังจากตั้งตนเป็นจักรพรรดิแล้ว เซียวเอี่ยนได้สั่งให้ปล่อยนางในของราชวงศ์ก่อน และหญิงงามตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ให้กลับบ้านทั้งหมด

ส่วนราชกิจนั้นก็ออกตรวจเอกสารรายงานต่างๆ ทุกเช้าด้วยตนเอง ที่หน้าวังก็ให้ตั้งกล่องไว้สองกล่อง กล่องหนึ่งรับเรื่องร้องเรียนของเหล่าเสนามาตย์และบัณฑิตที่ไม่ได้รับความยุติธรรม อีกกล่องหนึ่งรับคำวิจารณ์และข้อแนะนำของราษฎร

ต่อปัญหาผู้อพยพที่สั่งสมมายาวนานนั้น เซียวเอี่ยนก็รณรงค์ให้ผู้อพยพกลับไปยังบ้านเกิด โดยจะทำการซ่อมแซมบ้านเรือนและฟื้นฟูที่นาหรือบุกเบิกที่ทำกินให้ใหม่ ครั้นพอถึงช่วงที่ต้องสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ เซียวเอี่ยนก็ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์เป็นหลัก

ส่วนผู้ที่รับราชการอยู่แล้วก็ให้สนับสนุนคนที่มีผลงานโดดเด่นและลงโทษคนโลภที่ฉ้อฉล

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ การใช้ชีวิตประจำวันอย่างสมถะของเซียวเอี่ยน เขาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ บริโภคแต่ผัก นอนบนเตียงเตียงเดียว จนบันทึกระบุว่า “หมวกหนึ่งใช้สามปี ผ้าห่มหนึ่งผืนใช้สองปี”

เซียวเอี่ยนจึงนับเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนที่ปฏิบัติตนเช่นนี้

 

จากการปกครองและปฏิบัติตนเช่นนี้เองบ้านเมืองจึงดำรงอยู่ด้วยความสงบสุข แต่ภาวะนี้กลับดำรงอยู่ด้วยเวลาที่แน่นอน มิได้จีรังตลอดยุคสมัยของเขา

ด้วยเวลาที่ผ่านไปปีแล้วปีเล่า จะด้วยวัยหรือสภาพแวดล้อมก็ตามที เซียวเอี่ยนกลับเป็นบุคคลที่ขี้ระแวงและไม่ใส่ใจราชกิจบางด้านที่ควรเป็น เขาระแวงเสนามาตย์ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาก่อนที่จะสร้างเหลียงให้เป็นราชวงศ์ได้สำเร็จ จนไม่ยอมสนับสนุนเสนามาตย์เหล่านี้ให้ได้ดีในตำแหน่ง

ด้วยเกรงว่า หากเสนามาตย์เหล่านี้มีอำนาจราชศักดิ์มากขึ้นแล้วอาจมาโค่นล้มราชวงศ์ของเขาก็ได้

ส่วนที่ไม่ใส่ในราชกิจก็คือ เขาปล่อยให้วงศานุวงศ์ของตนใช้อำนาจในทางที่มิชอบจนเป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้คน เขาไม่เพียงไม่ลงโทษบุคคลเหล่านี้เท่านั้น หากยังส่งเสริมให้ได้ดิบได้ดีอีกด้วย ดังกรณีหนึ่งที่อื้อฉาวไม่น้อยก็คือ เมื่อน้องชายของเขากระทำผิด แทนที่เขาจะลงโทษ แต่ยังเลื่อนยศศักดิ์ของน้องชายให้สูงขึ้น

จนน้องผู้นี้ย่ามใจถึงกับก่อกบฏและหมายจะสำเร็จชีวิตของเขาให้ได้ ครั้นพอการกบฏล้มเหลว เขากลับไม่ลงโทษน้องผู้นี้ แต่ก็ยังนับเป็นโชคของเขาที่น้องผู้นี้หวาดเกรงว่าตนจะถูกลงโทษจนล้มป่วยเสียชีวิตในที่สุด

 

นอกจากปัญหาจากที่กล่าวมาแล้ว เซียวเอี่ยนยังเป็นผู้ที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธอีกด้วย ลำพังหากปฏิบัติตนเยี่ยงพุทธมามกะทั่วไปย่อมไม่มีปัญหาอันใด แต่สิ่งที่เซียวเอี่ยนปฏิบัติหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

กล่าวคือ ตลอดสมัยของเซียวเอี่ยนนั้น เขาได้ออกบวชถึงสี่ครั้งด้วยกัน แต่ละครั้งแม้จะห่างกันหลายปี แต่สิ่งที่ต้องแลกให้เซียวเอี่ยนกลับมาบริหารบ้านเมืองดังเดิมทุกครั้งกลับคือการทำบุญให้วัด และการทำบุญนี้ก็คือ การบริจาคเงินที่สูงนับร้อยล้านในแต่ละครั้ง

บริจาคแต่ละครั้งเท่ากับได้ “ไถ่ตัว” เขาให้สึกจากการเป็นภิกษุแล้วกลับมาเป็นจักรพรรดิต่อ

แต่ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า การออกบวชของเซียวเอี่ยนนี้เป็นไปด้วยความศรัทธาจริงๆ ถึงแม้เหตุผลส่วนหนึ่งจะเป็นไปเพื่อหนีปัญหาที่วงศานุวงศ์ก่อไว้ก็ตาม ทั้งนี้อาจเห็นได้จากการบวชครั้งที่สองที่เขาจัดให้มีการชุมนุมพุทธบริษัทจากทั่วทุกสารทิศ 50,000 รายเพื่อมาฟังเขาเทศนา บรรยายธรรม และปฏิบัติธรรม เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ความศรัทธาในศาสนาพุทธของเซียวเอี่ยนก็มีประเด็นให้ชวนสงสัยเช่นกันว่า แท้จริงแล้วเขาเข้าถึงศาสนธรรมจริงหรือไม่ ด้วยมีบันทึกที่อ้างถึงช่วงหนึ่งของการบวชของเขาว่า เซียวเอี่ยนได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับภิกษุนามว่า ผูถีต๋าม๋อ

บทสนทนานี้จักสะท้อนประเด็นคำถามดังกล่าวได้พอสมควร