เกษียร เตชะพีระ l วาทกรรมความเป็นไทย : ความเป็นไทยแบบรัฐนิยมทหาร

เกษียร เตชะพีระ

วาทกรรมความเป็นไทย : 6) ความเป็นไทยแบบรัฐนิยมทหาร

ท่ามกลางการประกาศตัดขาดและถอยห่างจากรัฐบาลคณะราษฎรของสถาบันหลักแห่งความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม กติกาของเกมการเมืองวัฒนธรรมแห่งความเป็นไทยก็เริ่มพลิกผันอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลที่ “ไม่ไทย” ชุดถัดมาพลิกกระดานด้วยการนิยาม “ความเป็นไทย” เสียใหม่ อันส่งผลให้ตนกลับกลายเป็น “ไทย” อีกครั้ง (แถมคราวนี้เป็นไทยแบบสุดๆ ไทยเสียยิ่งกว่าที่เคยเป็นไทยมาก่อนด้วย)

แน่นอน ผู้พลิกกติกาความเป็นไทยใหม่ ย่อมมิใช่ใครอื่น ได้แก่รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนชื่อชาติจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในปี พ.ศ.2482 นั้นก็บุกลุยกรุยทางให้ระบอบรัฐนิยมทหารเข้าแทนที่ระบอบรัฐธรรมนูญอันอ่อนเยาว์ในทางปฏิบัติด้วย

ยกตัวอย่าง ลองพลิกดู “วีรธรรมของชาติไทย 14 ประการ” และ “คติ 6 ประการของคนไทย” ที่สำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลท่านจอมพลประกาศใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ก็จะพบว่ามันประกอบด้วย :-

1) ไทยรักชาติยิ่งกว่าชีวิต

2) ไทยเป็นนักรบชั้นเยี่ยม

3) ไทยเป็นชาติขยันในการกสิกรรม อุตสาหกรรม

4) ไทยเป็นชาติชอบอยู่ดีกินดี

5) ไทยเป็นชาติชอบแต่งตัวดี

6) ไทยเป็นชาติปากกับใจตรงกัน

7) ไทยเป็นชาติรักความสงบ

8) ไทยเป็นชาติบูชาพุทธศาสนายิ่งชีวิต

9) ไทยเป็นชาติยกย่องเด็ก หญิง และผู้ชรา

10) ไทยเป็นชาติว่าตามกันและตามผู้นำ

11) ไทยเป็นชาติเพาะปลูกอาหารไว้กินเอง

12) ไทยเป็นชาติดีต่อมิตรที่ดีและร้ายที่สุดต่อศัตรู

13) ไทยเป็นชาติซื่อสัตย์และกตัญญู

14) ไทยเป็นชาติสะสมมรดกไว้ให้แก่ลูกหลาน

ส่วนคติ 6 ประการของคนไทยได้แก่ :-

1) ตัวตายดีกว่าชาติตาย

2) ตัวตายดีกว่าชื่อตาย

3) ประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว ชาติคือเครือญาติในครัวเรือน

4) ว่าอะไรว่าตามกัน

5) ความสำเร็จอยู่ที่ทำจริงเป็นล่ำเป็นสัน

6) ช่วยกันนิยมพูด ฉัน ท่าน จ้ะ ไม่ เป็นคำสุภาพดี

ปรากฏว่ารัฐบาลสั่งกำชับให้หนังสือพิมพ์รายวันฉบับต่างๆ ตีพิมพ์คติเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน นัยว่าเพื่อให้ประชาชนชาวไทยรู้จักตนและชาติของตนซาบซึ้งยิ่งขึ้น

เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจมาก เท่ากับตั้งสมมุติฐานว่าคนไทยไม่รู้จักตัวเองและชาติของตัวดีพอ ดังนั้น จึงต้องให้รัฐมาบอกกล่าวพร่ำสอนนิยามแทนให้จนปากเปียกปากแฉะทุกวี่ทุกวันว่าตัวคือใคร และชาติของตัวคืออะไร เหมือนรัฐบาลกำลังบอกกล่าวกับประชาชนว่า :-

“นี่แน่ะมหาชน อยากรู้ไหมว่าตัวท่านเองคือใครและชาติของท่านเองคืออะไร? ฉัน…อะแฮ่ม…ในนามของรัฐจะบอกให้จ้ะ!”

หากเปรียบเทียบนิยาม “ความเป็นไทยแบบรัฐนิยมทหาร” ของรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง 20 ข้อข้างต้นกับ “ความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม” แต่เดิม และ “ความเป็นไทยแบบระบอบรัฐธรรมนูญ” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองดูแล้วก็จะพบว่ามีข้อแตกต่างสำคัญเห็นได้ชัดด้วยกันสองประการ

คือ

หนึ่ง พระมหากษัตริย์เลือนหายไปจากความเป็นไทย

ใน “วีรธรรมของชาติไทย 14 ประการ” และ “คติ 6 ประการของคนไทย” ซึ่งรัฐบาลท่านจอมพลประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2487 ไม่มีสักข้อเดียวที่จะเอ่ยถึงบทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ (ขอให้ลองนึกเทียบดูกับบทบาทใจกลางของสถาบันกษัตริย์ในคติ “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” สมัยในหลวงรัชกาลที่ 6)

ในบรรดาเนื้อเพลงต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับไม่ว่าจะโดยทางพฤตินัยหรือนิตินัยให้มีฐานะเป็น “เพลงชาติ” สมัยนั้น เช่น เพลงชาติมหาชัย ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (2475), เพลงชาติแบบสากลที่แต่งเนื้อโดยขุนวิจิตรมาตรา และนายฉันท์ ขำวิไล (2475 และ 2477), เพลงวันชาติแต่งโดยนายมนตรี ตราโมท (2482) และเพลงชาติไทยในปัจจุบันแต่งเนื้อโดยพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (2482) ก็ล้วนมีอาการเฉกเช่นกัน

กระทั่งคำว่า “เอกราช” ก็มีการบัญญัติคำใหม่ว่า “เอกราษฎร์” ขึ้นมาเทียบเคียงหรือแม้แต่เข้าแทนที่ในบางกรณี ดังปรากฏในเนื้อเพลงชาติทางการของขุนวิจิตรมาตรา วรรครองในบทแรกของท่อนสองของเพลงนี้เปลี่ยนแปลงจาก

“เอกราช คือกระดูกที่เราบูชา” (พ.ศ.2475)

มาเป็น “เอกราษฎร์ คือเจดีย์ที่เราบูชา” (พ.ศ.2477)

ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนกลับไปเป็น “เอกราช คือเจดีย์ที่เราบูชา” อีกครั้ง และเลิกใช้ไปในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.2482

และวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งได้รับการพรรณนาจากเพลงคณะราษฎรของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (2475) ว่าเป็นวันที่… :-

“คณะราษฎรฉลาดเริ่มเฉลิมโลก…ปลดแอกอับทับอาตม์ชาติไทยแท้…เหมือนดังธรรมชำนะพาล เสมือนคณะราษฎร์รอนอำนาจ…จงรู้สึกว่าเพื่อชาติศาสน์วิสัย (ไม่มีพระมหากษัตริย์ต่อท้าย)…”

ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นวันชาติ ในปี พ.ศ.2481 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

คำอธิบายที่เป็นระบบและคมชัดที่สุดเกี่ยวกับอาการ “เลือนหายไป” นี้ออกมาจากปากของท่านจอมพลเอง ครั้งแรก ในคำปราศรัยเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นวาระแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2477

พันเอกหลวงพิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) ได้เริ่มผลัดเปลี่ยนและตีตัวผละห่างออกจากนิยามความเป็นไทยที่เคยมีมาในอดีตทั้งแบบราชาชาตินิยมและแบบลัทธิรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร แทนที่จะยึดถือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” อันเป็น 3 สถาบันหลักของความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม, หรือยึดถือ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นสถาบันใหม่ใจกลางของความเป็นไทยแบบลัทธิรัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง, หลวงพิบูลฯ กลับเสนอด้วยน้ำเสียงแปร่งใหม่แบบรัฐนิยมทหารว่า :-

สยามมีสถาบันพื้นฐาน 4 สถาบัน ได้แก่ สถาบันกษัตริย์ สภา รัฐบาล และกองทัพ ทว่าขณะที่พระมหากษัตริย์อาจเสด็จสวรรคตได้, รัฐบาลอาจปรับเปลี่ยนได้ และสภาอาจถูกยุบได้ด้วยเหตุผลต่างๆ นานานั้น มีแต่กองทัพเท่านั้นที่ยั่งยืนสถาพร ฉะนั้น หากกองทัพ (ซึ่งตอนนั้นมีกำลังพลราว 30,000 นาย) หาไม่แล้ว สยามก็จะถูกลบหายไปจากโลก

(อ้างใน Judith A. Stowe, Siam becomes Thailand : A Story of Intrigue, 1991, p.84)

ต่อมาในปี พ.ศ.2485 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวอีกว่า :-

“ผมอยากให้ปรับปรุงศาสนากันเสียที แต่อย่างที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอมา ก็เป็นอยู่อย่างเดิม คือกลัวพระ ถ้ามัวเกรงใจกันอยู่ก็ไปไม่รอด ญี่ปุ่นเคยมาพูดในเรื่องการปรับปรุงนี้ เท่าที่เป็นอยู่พระของเราไม่แอ๊กทีฟเสียเลย เป็นอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในกรมการศาสนา พระไม่ได้ทำประโยชน์ให้เพียงพอ ที่เห็นอยู่ก็ผ้าเหลืองกับเทศน์ซึ่งจะมีประโยชน์สำหรับคนที่จะสิ้นใจ จำนวนพระเวลานี้มีตั้ง 2-3 แสน แต่มิได้ทำประโยชน์ให้เป็นล่ำเป็นสัน ในแง่การเมืองก็ปรากฏว่าเป็นกำลังจะทำการเผยแผ่ศาสนาและอาจตั้งทูตเข้ามา เราก็จะพูดไม่ออกเพราะอิตาลีหนุนอยู่ และคนของเราก็หัวอ่อน ศาสนาพุทธก็จะค่อยๆ หมดไป

“สำหรับญี่ปุ่น แม้ศาสนาของเขาจะเลอะเทอะ แต่ญี่ปุ่นก็มีเครื่องยึดมั่นอยู่ คือพระเจ้าแผ่นดินของเขา เขาถือว่ามาจากพระอาทิตย์ ยึดมั่นยอมเป็นยอมตายทีเดียว ของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดแน่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็ก เห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ จะยกอย่างไรก็ไม่ไหว ทุกๆ อย่างลอยหมด เวลาบ้านเมืองคับขันจะเอาหลักอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กำเริบเสิบสาน แต่คิดว่าพอมีตัวตนอยู่บ้าง เมื่อเปลี่ยนก็เอาใหม่ไป

“เรื่องศาสนานี้ต้องเคาน์เตอร์แอ๊กแต๊กกับศาสนาอื่น เรายึดพุทธศาสนาเป็นหลักอยู่แล้วในเอเชีย และต้องพยายามดึงให้ตาม อย่างพวกแขกฮินดูก็อาจดึงมาได้ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเบ่งเรื่องศาสนาให้ยิ่งขึ้น ถ้าทำอย่างเวลานี้ก็ไปไม่ได้ เสียงที่พระเคยเทศน์อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น คนฟังก็ต้องนั่งหลับ ดูเหมือนนายมั่น-นายคงจะทำประโยชน์ได้ดีกว่า ตามที่ศึกษาธิการเสนอปรับปรุงมาก็อย่างเดิม ไม่ได้ประโยชน์ ผมว่าเราต้องนึกถึงชาติโดยส่วนรวม ฟันลงไปทีเดียว เราทำเพื่อความหวังดีต่อชาติ ไม่ใช่เพื่อทำลาย” (พ.ศ.2485)

เป็นอันว่าแก่นแกนแห่งนิยามความเป็นไทยได้ค่อยๆ ขยับเคลื่อนย้ายจาก :-

[พระมหากษัตริย์] ตามความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยม

->[รัฐธรรมนูญ] ตามความเป็นไทยแบบลัทธิรัฐธรรมนูญ

->[ชาติ -> กองทัพ -> ผู้นำ] ตามความเป็นไทยแบบรัฐนิยมทหารในที่สุด

พร้อมกันนั้นก็ปรากฏวัฒนธรรมการเมืองแบบ “ผู้ตาม” ที่ดีของ “ผู้นำ” แห่งลัทธิรัฐนิยมทหารขึ้นด้วย ดังที่รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เขียนเล่าไว้ในฐานะพยานผู้ประสบเหตุการณ์ด้วยตนเองคนหนึ่งว่า :-

“ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการหลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังคงจำกันได้ว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นำละครมาแสดง และในบางฉากท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบำฝูงไก่ (หลวงพิบูลฯ เกิดปีระกา) ระบำฝูงนั้นแสดงว่าคนมีบุญได้มาจุติเกิดในปีระกาซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการแสดงเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯผู้มีบุญแล้ว ได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชรานั้นก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯ ได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้าแสดงอาการขวยเขิน แล้วได้หันไปประนมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ

“ข้าพเจ้าเห็นว่าขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทัศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อยๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่าจตุสดมภ์ที่คอยยกยอปอปั้น ก็ทำให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไปได้”

(ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม, 2516)

แนวโน้มการเมืองวัฒนธรรมแบบรัฐนิยมทหารนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในความเป็นไทยข้อสอง

กล่าวคือ :-

“สิทธิ์อิสรเสรี” ของราษฎรเลือนหายไปจากความเป็นไทย (เลือนหายไปจริงๆ จากเนื้อเพลงชาติฉบับ 2477 มาถึง 2482) และชาติไทยกลายเป็นชาติเชื่องๆ ว่านอนสอนง่าย ตามวีรธรรมข้อ 10 และคติข้อ 4 ที่สรุปได้ว่า “ไทยเป็นชาติว่าอะไรว่าตามกันและตามผู้นำ” เพราะมีแต่ต้อง “เชื่อผู้นำ (เท่านั้น) ชาติ (จึง) พ้นภัย”

แปลว่า การปกครองโดย “ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร” ก็ดี, การไม่เคารพสิทธิเสรีภาพในการเมืองและในบุคคลของราษฎร ก็ดี ฯลฯ ซึ่งเคยถูกตีความกล่าวหาว่าเป็นการกระทำอัน “ไม่ไทย” นั้น

แทบจะเพียงชั่วข้ามคืนได้กลายเป็นการกระทำอัน “ไทย” อย่างยิ่งไปเสียแล้ว