คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความร่ำรวย-ยากจน ในทัศนะฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คงไม่มีใครเหมาะที่จะพูดเรื่องความยากจนเท่าผมล่ะครับ (ฮา)

ที่จริงเรื่องความจนมีคนพูดถึงเยอะโดยเฉพาะในทางเศรษฐศาสตร์ สังคม การเมือง

โดยเฉพาะช่วงนี้ยิ่งใกล้เลือกตั้ง (หวังว่าจะไม่เลื่อนอีก) นโยบายเกี่ยวกับความยากจนคงมีหลายๆ พรรคนำเสนอ อีกทั้งเพิ่งผ่านเทศกาล “ทีปาวลี” ของชาวฮินดู ซึ่งนอกจากจะเฉลิมฉลองแสงสว่างขับไล่ความมืดแล้ว เขายังบูชาพระลักษมีเทวีแห่งความร่ำรวย เพื่อให้เกิดความร่ำรวยมีโชคมีลาภในครอบครัวและธุรกิจด้วย

จึงได้โอกาสทบทวนเรื่องนี้ เพราะคนอินเดียคิดเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

 

ที่จริงจะว่าผมชำนาญความจนนี่ก็เป็นการพูดที่น่าหมั่นไส้ไปหน่อย ผมมีทรัพย์สินเงินทองพอใช้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมาย รถไม่มี บ้านไม่มี อยู่ห้องเช่าเล็กๆ

เลยกล้าออกตัวว่าพอคุ้นเคยกับความจนบ้าง

พระลักษมีเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ ความงามและความมีโชค พระองค์เป็นเทวีของชาวอารยัน และปรากฏในพระเวทมาตั้งแต่สมัยฤคเวท ดังปรากฏบทสวดที่สำคัญ ชื่อ “ศรีสูกตะ” ซึ่งพราหมณ์มักสวดท่องเมื่อทำพิธีเกี่ยวกับพระองค์จวบจนปัจจุบัน

พระองค์ถูกรวมกับเทวี “ศรี” ซึ่งหมายถึงสิริมงคล และถูกทำให้กลายเป็นชายาของพระวิษณุในภายหลัง หากจะเทียบพระองค์กับเทพของฝรั่ง ก็เทียบได้กับวีนัสหรืออะโฟรไดต์นั่นเอง

ในบทสวดหลายบทกล่าวว่า พระลักษมีมิได้มีปางเดียว ทว่าปรากฏในหลายปาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละปางแสดงถึงความปรารถนา “ความร่ำรวย” ด้านใด

 

ปางแรกคือ “มหาลักษมี” หรืออาทิลักษมี สะท้อนความมีโชคและร่ำรวยโดยทั่วไป

ปางที่สอง “ธนลักษมี” ความรวยเงินทอง

“ธัญญลักษมี” – ความรวยธัญญาหารพืชผล

“คชลักษมี” – ความร่ำรวยสมบูรณ์พูนสุขและอาจตีความว่า มากมีปศุสัตว์หรือบริวาร

“สันตานลักษมี” รวยบุตรหลานสืบสันดาน

“วีรลักษมี” รวยความกล้ามีวีรภาพ

“ชยลักษมี” หรือ “วิชยลักษมี” รวยความมียศศักดิ์มีชัยชนะ

และ “วิทยาลักษมี” ร่ำรวยความรู้

นอกจากนี้ ในบางตำรายังมีการกล่าวถึงปางอื่นๆ ที่อาจแตกต่างกันบ้าง เช่น ไอศวรยะลักษมี เสาภาคยลักษมี ราชยลักษมี หรือวรลักษมี คือความรวยในทางทรัพย์ ยศศักดิ์ ความรวยโชค หรือรวยพรอีกด้วย

หากเราพิเคราะห์ลึกๆ ในยุคโบราณ พระลักษมีคือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงมาสู่การเป็น “สัญลักษณ์” ของความร่ำรวยที่มีลักษณะทั้งทาง “นามธรรม” และ “รูปธรรม”

เราจะเห็นลักษณะเชิงสัญลักษณ์ของพระองค์ได้ในทางโบราณคดี และในปัจจุบันคือคำกล่าวต่างๆ ของอินเดีย เป็นต้นว่า หากผู้ใดเป็นที่โปรดของพระสรัสวตี พระลักษมีมักไม่โปรดผู้นั้น ซึ่งมีความหมายว่า คนรักความรู้ (พระสรัสวตี) มักไม่ค่อยมีเงินทอง (พระลักษมี) เพราะใช้เวลาไปกับความรู้

ใครต่อใครในอินเดียจึงมุ่งหวังให้พระลักษมีมาประทับใกล้ๆ แม้แต่ศาสนาไชนะก็ยังมี ปัทมาวตี “ยักษิณี” ซึ่งน่าจะแปลงมาจากพระลักษมีนี่เอง หรือในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็รับเอาพระลักษมีไปเป็นเทพธรรมบาลพระองค์หนึ่งด้วย

เพื่อช่วยให้ศาสนิกไม่ขาดแคลน จะได้ปฏิบัติธรรมโดยสะดวก

 

ความจนก็คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับพระลักษมีทั้งแปดปางนั่นแหละครับ แต่ดูเหมือนคนอินเดียจะนิยามความจนไว้เป็นความรู้อีกชุดหนึ่ง

ความยากจน สันสกฤตใช้คำว่า “ทริทระ” (ทริทฺร) อันมิได้มีแต่ความยากจนทางทรัพย์สินแต่ฝ่ายเดียว ในคติอินเดียความจนมีถึงแปดอย่าง เรียกว่า “อัษฏทริทระ” ได้แก่

ธนทริทระ – จนเงินทอง, อายุรทริทระ – จนอายุ อายุสั้น สุขภาพไม่ดี, วิทยาทริทระ – จนความรู้, กีรติทริทระ – จนเกียรติยศ, วาคทริทระ – จนถ้อยคำ พูดจาไม่ไพเราะน่าเชื่อถือ, คุณทริทระ – จนคุณงามความดี, กามทริทระ – จนความสุขทางโลกย์, ธรรมทริทระ – จนธรรม

ความจนก็เช่นเดียวกับความรวยครับ ไม่ใช่จนเงินอย่างเดียว แต่ในชีวิตคนเราอาจจนได้ถึงแปดอย่าง ซึ่งมีทั้งความจนในทางนามธรรม เช่น จนคุณงามความดี หรือแม้แต่จนวาจา จนความรู้ก็ใช่

ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของคนฮินดู คือพ้นจากความยากจนทั้งแปดอย่างนี้ แต่หากแม้ไม่อาจพ้นจากความยากจนได้ทั้งหมด ก็ขออย่าให้ยากจนไปเสียทุกอย่าง

 

เงินสำคัญแน่นอนครับ แต่ในทัศนะแบบฮินดู การมีเงินอย่างเดียวไม่นับว่าเป็นความรวยแท้ ถ้ารวยแท้ต้องไม่จนอีกเจ็ดอย่างด้วย และในทางกลับกัน แม้จะจนเงิน แต่หากไม่จนอีกเจ็ดอย่างก็ไม่ควรจะนับว่าจน แม้จะไม่ดีที่สุดก็ตาม

ผมไปอินเดียหลายครั้งพบว่า คนอินเดียนับถือเศรษฐีที่ชื่อ พิรลา (Baldeo Das Birla) มาก เพื่อนชาวอินเดียเล่าง่ายๆ ว่า ก็เพราะเขาไม่ได้เอาอย่างเดียว แต่เขาให้ด้วย เศรษฐีพิรลามีชื่อเรื่องการบริจาคสร้างเทวสถาน (เกือบทั่วทั้งอินเดีย) สถานศึกษา ฯลฯ และแม้แต่ในเมืองไทยก็ยังส่งเงินมาสร้างเทวสถานของชาวฮินดูในบ้านเราด้วย นับว่ารวยทั้งคดีโลกคดีธรรม

ตามหลักคำสอนฮินดู เป็นคนรวยต้องนึกถึงคนจนครับ นักบวชบางรูปเคยกล่าวว่า เราจะลืม “ทริทรนารายณะ” หรือพระนารายณ์ผู้ยากจนอันสถิตอยู่ในคนยากไร้ทั้งหลายมิได้ เพราะพระแม่ลักษมีก็ยังต้องการดูแลสวามีของพระนาง พระองค์ต้องการจะอยู่เคียงข้างกัน ความรวยจึงมิได้มีไว้เพื่อตนเองอย่างเดียว แต่มีเพื่อช่วยเหลือคนด้วย

เพราะมีคนจน คนรวยจึงได้ทำกุศล คนรวยจึงไม่อาจดูถูกคนจนได้ เพราะไม่มีเขาเราจะเอากุศลจากไหน การช่วยเหลือคนจนจึงต้องให้ด้วยความเคารพ

มิใช่ให้ด้วยท่าทีที่เหนือกว่า

 

ดังนั้น แนวคิดของฮินดูออกจะกลับไปกลับมาไม่น้อย คือสำหรับคฤหัสถ์แล้ว ความรวย (ในทุกด้าน) สมควรเป็นเป้าหมายของชีวิตดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

แต่ในขณะเดียวกันก็ยกย่องความยากจนไว้มากด้วย ซึ่งอาจหมายถึง ความยากจนที่ “เลือกเอง” นะครับ มิใช่ความยากจนที่รัฐหรือคนอื่นสร้างให้ (กระนั้นความจนเหล่านี้ก็ควรได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ หรือตีความในแง่มุมต่างๆ เพื่อจะเกิดการช่วยเหลือด้วยความเคารพ)

ในทัศนะฮินดู ความยากจน (ที่เลือกเอง) เป็นความสง่างามของนักบวชและครูอาจารย์ มีสุภาษิตอินเดียกล่าวว่า “ความจนคือสภาพแห่งการขอ มิใช่การมีทรัพย์น้อย เพราะพระศิวะแม้มีสมบัติเป็นโคแก่ๆ ตัวเดียว ก็ยังนับว่าเป็นปรเมศวร”

สำหรับนักบวชและคุรุอาจารย์ทั้งหลาย การไม่ครอบครองมากเท่าไหร่ก็ยิ่งรวยเท่านั้น แต่ความไม่พอสักที หรือความรู้สึกขาดพร่องอยู่เสมอ (สภาพแห่งการขอ) คือความจนที่แท้จริง

นักบวชประเภทสละโลกในทุกศาสนาของอินเดีย จึงมีบทบัญญัติให้ครอบครองน้อยที่สุด ดังวิถีชีวิตพระตามอุดมคติดั้งเดิม

 

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ มิใช่จะชวนเชิญให้ละทิ้งการแสวงหาความร่ำรวยแล้วเชิดชูความจนนะครับ เพราะผมเองก็ยังอยากรวยอยู่เสมอ เพียงแต่อยากแสดงให้เห็นบางแง่มุมเวลาพูดถึงความรวยและความจนในทัศนะแบบฮินดูว่ามันมีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย

อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เคยเล่าให้ผมฟังว่า ในอินเดีย สมัยที่ท่านยังเรียนหนังสืออยู่ ศาสตราจารย์ทั้งหลายในมหาวิทยาลัย แม้จะมีรถยนต์ส่วนตัว แต่มักจอดไว้ที่บ้าน หิ้วอาหารปิ่นโตที่ภรรยาทำให้ แล้วก็ปั่นจักรยานไปสอน

ท่านเล่าติดตลกว่า หากเอารถยนต์ไปกลัวคนจะเสียความเคารพและสงสัยได้ว่า เป็นแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยทำไมจึงร่ำรวยนัก แสดงว่ามีนอกในอะไรหรือเปล่า

อาจารย์ในอินเดียจึงแสดงออกว่าไม่ร่ำรวย (แม้จะรวยจริงหรือไม่ก็ตาม) เพราะเป็นคติยกย่องความยากจนในบางสถานะของบุคคล

ผมไม่รู้ว่าคตินี้ยังถือกันในปัจจุบันรึป่าว แต่แถวๆ นี้มีอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งที่แสดงออกว่าไม่ร่ำรวยและไม่รวยจริงๆ ด้วย

แม้จะพยายามปลอบใจตนเองว่า เอาน่า อย่างน้อยก็น่าจะพ้นความยากจนทั้งแปดด้วยตนเองได้บางข้อกระมัง

แล้วคิดต่อไปว่า ต้องไปเลือกตั้งเพื่อส่งเสริมนโยบายพรรค ที่จะช่วยเราทุกคนให้พ้นความยากจนที่เราอาจไม่ได้เลือกเองเสียที