คนไทยรอคอยเลือกตั้ง จริงหรือเปล่า ?

หรือจะทวน “กระแสประชาชน”

ยิ่งนับวันประชาชนคนไทยยิ่งรับรู้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ อันเนื่องจากการทำมาหากินฝืดเคืองกันทั่วหน้าจะดีขึ้น เพราะเงื่อนไขทางเศรษฐกิจจะคลี่คลายไปในทางที่เป็นโอกาสมากขึ้น เมื่อประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย หรือหลังเลือกตั้ง

ข่าวคราวเรื่องนานาชาติซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศสำหรับโลกยุคนี้ มีความจำเป็นต้องควบคุมการทำมาค้าขายกับประเทศเผด็จการ เป็นเรื่องที่รับรู้กันในรายละเอียดว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐบาลชวนให้เชื่อกันมากขึ้น

เพราะไม่ว่าใครล้วนปรารถนาชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น แม้การเลือกตั้งทื่เกิดขึ้นจะเต็มไปด้วยการสร้างเงื่อนไขที่เจตนาให้มีการสืบทอดอำนาจ

เกือบทุกคนก็รอคอย

รอคอยการเลือกตั้งที่จะนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ด้วยหวังในเงื่อนไขการค้าการลงทุนที่ดีกว่า จะทำให้ชีวิตและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อาจจะเป็นเพราะความหวังดังกล่าวนี้ เมื่อ “นิด้าโพล” ทำการสำรวจเรื่อง “ความเข้าใจของคนไทยต่อการเลือกตั้งแบบใหม่ 2562” เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

คำตอบจึงน่าสนใจยิ่ง

แม้ว่าคำตอบส่วนใหญ่จะสะท้อนมาในทางไม่มีความรู้ในกติกาการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่ คือ ร้อยละ 77.80 ไม่ทราบว่าต้องกาบัตรลงคะแนนคนละกี่ใบ

ร้อยละ 82.79 ไม่ทราบว่าหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร “ส.ส.แบบแบ่งเขต” ของแต่ละพรรคในต่างเขตเลือกตั้ง จะมีหมายเลขเดียวกันหมด หรือต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข

ร้อยละ 73.51 ไม่ทราบเกี่ยวกับช่วงเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่าเป็นเวลาใด

แต่เมื่อถามถึงความตั้งใจที่จะไปลงคะแนนในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น มากมายถึงร้อยละ 95.80 ตอบว่าไปแน่นอน ที่ตอบว่าไม่ไปแน่นอนนั้นมีแค่ร้อยละ 2.22 ขณะที่ร้อยละ 1.98 ไม่ตอบ หรือตอบว่าไม่แน่ใจ

ความน่าสนใจอยู่ที่ แม้ “ไม่รู้” ว่ากติกาการเลือกตั้งเที่ยวนี้มีเจตนาเขียนขึ้นเพื่อทำลดบทบาทของ “พรรคการเมือง” และ “นักการเมืองที่มีจากการเลือกตั้ง”

วางอุปสรรคไว้มากมาย เริ่มจากความยากลำบากในการเขียนนโยบายไม่ให้ขัดกับ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” การหาเสียงเหลืออีกไม่กี่เดือนจะเลือกตั้งยังไม่ปลดล็อกให้ และจำกัดวิธีการ ช่องทางมากมายเพื่อไม่ให้สื่อถึงประชาชนได้สะดวกเหมือนเมื่อก่อน ตั้งแต่การตั้งป้าย ติดโปสเตอร์ จนถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การหาผู้สนับสนุน และการจำกัดงบประมาณ

ในส่วนประชาชนเอง การออกแบบการกาบัตรให้ง่ายต่อความสับสน ต้องอาศัยการทำความเข้าใจมากมายเพื่อลงคะแนนให้ได้อย่างที่ตั้งใจ

ผลการเลือกตั้งที่มีความซับซ้อนในการคำนวณคะแนน

เชื่อกันว่ามีเจตนาให้ผลการเลือกตั้งกลายเป็นเบี้ยหัวแตก คะแนนกระจัดกระจายไปแต่ละพรรค ไม่มีทางที่พรรดใดพรรคหนึ่งจะได้คะแนนพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีพลังต่อรองสูง

และนั่นเป็นโอกาสให้ “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” หรือ “ผู้มีอำนาจที่คิดจะสืบทอด” อาศัย “วุฒิสมาชิก” ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และมีอำนาจเต็ม ซึ่งจะกลายเป็นพรรคใหญ่ที่สุด ส่งให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” จัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายๆ

แต่เจตนาเช่นนี้ ถึงที่สุดแล้วน่าจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

ในคำถามของ “นิด้าโพล” ที่ว่า “ถ้าจะเลือกผู้สมัคร เลือกพรรค เลือกว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคสนับสนุน หรือเลือกนโยบายพรรค”

คำตอบคือร้อยละ 47.00 เลือกนโยบายพรรค, ร้อยละ 19.62 ยังไม่ติดสินใจ, ร้อยละ 14.15 เลือกพรรค, ร้อยละ 13.91 เลือกผู้สมัคร และร้อยละ 5.30 เท่านั้นที่เลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคสนับสนุน

จากคำตอบนี้หากจินตนาการไปถึงวิธีการสร้างพรรคที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

คงนึกออกว่า พรรคไหนสร้างชื่อด้วยนโยบายและผลงาน ขายความเป็นพรรคที่คำตอบส่วนใหญ่บอกว่าจะเลือก

แล้วพรรคไหนที่สร้างพรรคด้วยการ “ดูดผู้สมัคร” และชูจุดขายที่ตัวบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ความน่าสนใจอยู่ที่ ประชาชนที่ตอบว่าจะมาลงคะแนนเลือกตั้งที่สะท้อนว่าตื่นตัวมาก เพราะจะมากันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

และทิศทางของความตื่นตัวเป็นการเลือกนโยบายกับเลือกพรรค

น่าสนใจมากว่า หากที่สุดแล้ว อาศัยความพลิกแพลงของกติกาที่เจตนาเขียนไว้จัดตั้งรัฐบาลฝืนกับความตื่นตัวของประชาชนแสดงออกมาในผลการเลือกตั้ง

จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง