เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : สะบายดีหลวงพระบาง

ไหว้พระธาตุพูสีมณีมาศ

ไหว้พระธาตุเชียงทองแคมของข่วง

ไหว้น้ำมุกด์สุกใสหยาดใยยวง

ไหว้พระบางบำบวงหลวงพระบาง ฯ

ไปเที่ยวหลวงพระบางเมืองลาวระหว่าง 3-5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานที่หลักๆ ไปตามกลอนแต่ละวรรคด้านบนนั้นคือ พระธาตุพูสี วัดเชียงทอง น้ำตกตาดกวางสี และวิหารพระบาง บริเวณพระราชวังหน้าพูสีนั้น

ที่จริงคำพูสีตรงกับคำไทยคือภูศรี หมายถึงภูอันเป็นสิริมงคลซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองหลวงพระบาง เหมือนจะเป็น “ใจบ้านใจเมือง” นั่นเลย

ส่วนน้ำตกตาดกวางสีนั้นลาวเรียก “กวางซี” หมายถึง “กวางหนุ่ม” เป็นงั้นไป หลงเข้าใจว่าคำเดียวกับ “กวางศรี” คือกวางมงคลเหมือน “ภูศรี” โดยแท้มานมนาน

มาหลวงพระบางหลายครั้ง ตั้งแต่เขียนแผ่นดินลาวปี พ.ศ.2547 สิบสี่ปีโน่นแล้ว ก่อนหน้านั้นก็เคยไปครั้งก่อนไทย-ลาวจะเปิดสัมพันธ์เป็นทางการ

ครั้งนั้น อาจารย์ ดร.โคทม อารียา เป็นหัวหน้าโครงการพาคณะศิลปินไทย มีวงคาราวานและชุดนาฏศิลป์ไทยไปร่วมเบิกโรงกันมาแล้ว

จากวันนั้นจนวันนี้ หลวงพระบางเหมือนจะไม่เปลี่ยนเลย โดยเฉพาะทางกายภาพคือ วัดวาอาราม อาคารบ้านเรือน ถนนหนทาง รวมถึงวิถีชีวิตสงบเงียบเรียบง่าย งดงามสมถะ

ที่เปลี่ยนไปคือ หลวงพระบางกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวไปทั้งเมืองโดยไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัว คือความเป็นหลวงพระบางอันทรงเสน่ห์ที่เคยมีมานั้นเลย

โดยเฉพาะความสะอาดสะอ้านของเมืองที่ดูจะโดดเด่นสะดุดตากว่าเดิมๆ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมท่องเที่ยวเชิงสุนทรีย์ ซึ่งดูจะผสานกลมกลืนกับวิถีชาวบ้านชาวเมืองอย่างได้ดุลยภาพ

มีตลาดเช้าชาวบ้านและตลาดกลางคืนให้ชาวต่างถิ่น มีร้านกาแฟริมทาง และร้านกาแฟอย่างยุโรป

น่าสนใจคือ ยังไม่มีร้านคาราโอเกะ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีห้างสรรพสินค้า ซึ่งอันนี้น่าจะไม่ถูกใจวัยโจ๋แน่ เพราะ…ประเทศกูมีไง

ไหง มรึงไม่มรีได้ไงฟะ

เสน่ห์หลวงพระบางเริ่มด้วย ตักบาตรเช้า ที่พระภิกษุและสามเณรจะเดินแถวมาแต่ราวตีห้าครึ่ง ถึงราวหกโมงเช้ากว่าๆ ก็เลิกแล้ว ใครตื่นสายก็จะเสีย “บุญตา” ช่วงนี้ไปเลย

ต่างกับพม่าที่จะพบพระ-เณรโดยเฉพาะสามเณรีและแม่ชีที่เราจะพบเห็นท่านเดินบิณฑบาตได้แทบทั้งวัน

วัดในหลวงพระบางนั้นมีมาก บางสายถนนนั้นกำแพงวัดแทบจะต่อกันเลยก็มี แต่ละวัดนั้นเล่าก็งามระยับจับตา ดูพระอุโบสถวัดเชียงทองเป็นหลัก

๐ เมืองมาศมยุรมาศแก้ว ประคำโขง

บุษบกบราลีโยง อดีตย้ำ

ช่อฟ้าเจิดจรรโลง ใจโลก

ลดหลั่นสามชั้นค้ำ ประคับฟ้าประคองดิน ฯ

(จากเขียนแผ่นดินลาว)

เสน่ห์วัดคือความกะทัดรัดของสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ที่ได้สัดได้ส่วนลงตัว ติดฟ้าติดดินว่างั้นเถิด คือ ชายคาโบสถ์ทอดระชดแทบจะจรดดิน แต่ช่อฟ้า บราลี (เครื่องประดับสันหลังคาโบสถ์) ก็พวยพุ่งชี้ฟ้าท้าหาวอยู่ปานกัน ประหนึ่งจะ “ประคับฟ้าประคองดิน” กระนั้นแล

เพื่อนร่วมขบวนเล่าว่า เคยถามพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในหลวงพระบางว่า ระบอบคอมมิวนิสต์กับระบอบพุทธในลาวนั้นไม่ขัดกันหรือ ท่านตอบได้ดีนักคือ

“เฮาบ่เฮ็ดหื้อขัดกัน”

แปลว่า “เราไม่ทำให้ขัดกัน” นั่นเอง

ว่าที่จริงแล้วคำ “สังฆะ” แปลว่า “หมู่” หรือส่วนรวม ซึ่งตรงกับแนวความหมายว่า “สังคม” เช่นกัน โดยหลักก็คือ ถือ “ส่วนรวม” เป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อหลักไม่ขัดวิธีการก็เป็นสิ่งที่เลี่ยง “บ่ให้ขัดกัน” ได้ไม่ยาก

นี่จึงเป็นเสน่ห์หนึ่งของหลวงพระบางที่มีวิถีพุทธโดดเด่นดำรงอยู่ได้ในทุกยุคสมัย

เราเองเคยคุยกับเจ้าแขวง ครั้งแรกที่มาหลวงพระบางกับคณะของอาจารย์ ดร.โคทม อารียา ประทับใจกับอีกเสน่ห์ของหลวงพระบาง คือ “เสียงเหน่อ”

จริงนะเอ้า สำเนียงหลวงพระบางกับสำเนียงพนมทวนเมืองกาญจน์บ้านเรานั้นแทบเป็นบ้านเดียวกันได้เลย

“ยูไน่นะ ถั่มไม่พู้ดเหมื่อนกั้น”

“ยูเหมื่องก้าน บ๊านถ่วนครั่บ”

ประมาณนี้แหละ เลยคุยกันถูกคอ ม่วนหลาย

ครั้งเขียนแผ่นดินลาว ได้รู้จากปราชญ์ท่านหูมพันลัดตะนาวง เป็นภูมิภาษาอีกอย่างคือ เรื่องสระไม้ม้วนในไทยนั้นมีที่มาจากการ “ม้วน” ขึ้นนาสิกในลาวหลวงพระบางนี่เอง

ยี่สิบม้วนของเราที่ท่องจำกันคือ “ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ…ฯ” นั้น ทุกคำสระไอไม้ม้วน ชาวหลวงพระบางเขาออกเสียงขึ้นนาสิกทั้งหมด จะออกเสียงเป็น “อา-อือ” เช่น ผู้ใหญ่ ก็จะเป็น “ผู้หญ่า-อื่อ” เชียงใหม่ จะเป็นเชียงหม่าอื่อ ให้เป็นห้า-อื้อ

ทางเหนือเราจึงใช้คำว่า “หื้อ” แปลว่าให้ ซึ่งที่จริงมาจากคำ ห้า-อื้อ นี่เอง เพียงแต่คำ “ห้า” กร่อนไปเหลือเพียง “หื้อ” เท่านั้น ซ้ำเขียนเป็น “ฮื่อ” อีก จึงดูเป็นคนละศัพท์ไป แท้ก็คำเดียวกัน

นี่ยืนยันรากศัพท์ภาษาไทยว่ามีที่มาจากรากเดียวกัน โดยเฉพาะจากสายไทดำทางเดียนเบียนฟูเวียดนามตอนเหนือโน่น ซึ่งยังพูดคำไทย ใช้คำไทย และวิถีชีวิตแบบไทย ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่ “แบบไทย” อย่างที่เราเอาตัวเป็นหลัก หากโดยประวัติศาสตร์รากไทยจากจีนตอนใต้นั้นลากรากยาวมาได้ถึงเดียนเบียนฟู ถึงหลวงพระบาง มาถึงเมืองสุโขทัย เมืองกาญจน์นี้ได้เลย

เรื่องนี้ต้องถามคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ แล้ว

อย่างคำในศิลาจารึกสุโขทัยที่ว่า “แม่กูชื่อทางเสือง” นั้น มีคนชื่อเสืองที่เดียนเบียนฟูเขาบอก เสืองแปลว่า “น้ำค้าง” นี่ยืนยันเส้นทางสายภาษาได้เลย ดังอีกหลายวรรคในศิลาจารึก เช่น “ไทยชาวอูชาวของ” และ… “พ้นฝั่งของเมืองชะวาเป็นที่แล้ว”

ของคือโขง น้ำอูน้ำของสบกันที่หลวงพระบางนี้ กระทั่งเมืองชะวานี้เองก็เป็นชื่อเดิมของหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าคำชะวามาจากคำ “เจ้าฟ้า” คือ เซ่าฟาเป็นเซ่าวา เป็นเซวา และซะวา จึงเป็นชะวา สันนิษฐานนี้เหมือนจะมาจากความเห็นส่วนตัวของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ นะ

เคยล่องน้ำอูจากเมืองขวา แขวงพงสาลีมาหลวงพระบางครั้งเขียนแผ่นดินลาว ที่เมืองขวานั้นมีชาวไทดำจากเดียนเบียนฟูมานั่งขายของในตลาดสดเต็มไปหมด ได้ความว่าห่างกันแค่สามสิบกว่ากิโลเมตรเอง

เดียนเบียนฟูนั้น จำเพาะคำ “เดียน” ก็คือคำเดียวกับ “เทียน” ภาษาจีนแปลว่าฟ้า ซึ่งที่สุดเรามากลายเป็นคำ “แถน” คือ เทวดาเจ้าฟ้า แล้วมาเป็น “ขุนแผน” นี่ก็น่าจะเกลื่อนกลายมาจาก “ขุนแถน” อีก

อันนี้สันนิษฐานเองน่ะ

สมแล้วที่หลวงพระบางจะได้รับยกย่องเป็น “เมืองมรดกโลก” คือ ยกทั้งเมืองเป็นมรดก มิใช่เฉพาะที่เฉพาะทางทั่วไป ซึ่งเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบางมีไม่กี่เมืองในโลก จึงน่าศึกษา น่าจับตา และน่าเรียนรู้ว่าอะไรดีที่มีอยู่ในหลวงพระบาง และมันต่างกับอะไร

ที่กูมี