การศึกษา / ปฏิบัติการเพิ่มค่าปรับ 2.5 ล้าน ดัดหลัง ‘น.ศ.แพทย์’ เบี้ยวใช้ทุน??

การศึกษา

ปฏิบัติการเพิ่มค่าปรับ 2.5 ล้าน

ดัดหลัง ‘น.ศ.แพทย์’ เบี้ยวใช้ทุน??

 

ในที่สุด คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่มีนายเจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ และอนุมัติให้กำหนดค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญา เป็นเงิน 2.5 ล้านบาท

โดยได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ “เพิ่ม” ค่าปรับแล้ว

เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ประเด็นการเพิ่ม “ค่าปรับ” นักศึกษาแพทย์ที่ “เบี้ยว” ชดใช้ทุนในพื้นที่ห่างไกล หรือถิ่นทุรกันดาร ภายหลังเรียนจบ จากเดิมที่จ่ายเบี้ยปรับเพียง 4 แสนบาท ถูกนำขึ้นมาพูดคุยกันหลายครั้งหลายครา แต่เมื่อมีเสียงคัดค้านจากผู้ปกครองและนักศึกษาแพทย์ เรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไป

กระทั่งช่วงกลางปีที่ผ่านมา การเพิ่มค่าปรับผู้เบี้ยวใช้ทุนนักศึกษาแพทย์ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ในที่ประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยปี 2561-2562 ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สธ.

ซึ่งที่ประชุมในครั้งนั้นมีมติให้ผลิตแพทย์เพิ่มปีละ 3,000 คน ระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2570 ตามที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) เสนอ โดยใช้งบประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ฉะนั้น เมื่อรัฐต้องลงทุนมหาศาลในการผลิตแพทย์ โดยค่าใช้จ่ายต่อหัวอยู่ที่ 4.7 ล้านบาท แต่นักศึกษาแพทย์กลับเบี้ยวชดใช้ทุน ยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าปรับเพียง 4 แสนบาท เพื่อแลกกับการไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน จึงมีผู้เสนอให้เพิ่มค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านบาท

ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างท่วมท้น และเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องเพิ่มค่าปรับผู้เบี้ยวชดใช้ทุน

เพราะอัตรา 4 แสนบาทที่จ่ายอยู่เดิม ได้ใช้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว!!

 

ทั้งนี้ สธ.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 เพื่อขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทย์ จาก 4 แสนบาท เป็น 2.5 ล้านบาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป

โดย สธ.จะประสานสถาบันการผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น สธ.ได้ส่งร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตรวจพิจารณา

ซึ่งนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน พิจารณาว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 ที่กำหนดค่าปรับชดใช้ทุนผู้ผิดสัญญาเป็นเงิน 4 แสนบาท ถูกกำหนดไว้นานมาก จึงไม่เหมาะสม

โดยได้แจ้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ให้ทบทวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญาใหม่ ให้พิจารณาถึงค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ไม่เข้ารับราชการ หรือทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ว่ามีมากน้อยเท่าใด

สป.สธ.จึงได้ถอนร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ออกจากการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำกลับมาปรับปรุงใหม่

ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ฯ ที่มีปลัด สธ.เป็นประธาน จึงได้เห็นชอบให้เพิ่มค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญาเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท

โดยคิดจากอัตราเงินเฟ้อ และค่าปรับคิดจากการลงทุนโครงการ CPIRD/โครงการปกติ ปีละ 3 แสนบาทต่อคนต่อปี จำนวน 6 ปี เท่ากับ 1,800,000 บาท

และงบฯ ลงทุนที่สนับสนุนให้กับคณะแพทยศาสตร์อีก 700,000 บาท!!

 

หลังชัดเจนว่าจะเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่เบี้ยวชดใช้ทุนเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ขานรับกับเรื่องนี้แทบจะในทันที

อย่าง นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า เคยเสนอให้เพิ่มค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านบาท โดยคิดจากต้นทุนการผลิตแพทย์ต่อคนอยู่ที่ 4.7 ล้านบาท แต่จากการพูดคุยกับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าสูงเกินไป แม้จะคิดจากงบฯ ที่แท้จริง จึงปรับลดเหลือ 2.5 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ได้แพงเกินไป

“การใช้ทุน ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ทั้งหมด 2.5 ล้านบาท แต่ใช้เฉพาะเวลาใช้ทุนที่เหลือ เช่น แพทย์ต้องทำงานใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี แต่ทำงานใช้ทุนแล้ว 2 ปี เหลือเวลาที่ต้องใช้ทุนอีก 1 ปี หากหนีทุนก็จะต้องจ่าย 1 ใน 3 ของจำนวนเงินทั้งหมด หรือประมาณ 8.3 แสนบาท” นพ.อุดมกล่าว

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า การเพิ่มค่าปรับเป็น 2.5 ล้านบาท เป็นมาตรการที่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ไม่ใช่มาตรการที่ดีที่สุดที่จะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์ในเขตชนบท

ขณะเดียวกัน จะต้องทำพร้อมกับมาตรการอื่นๆ เช่น สร้างขวัญกำลังใจ เพิ่มค่าตอบแทน และค่าเบี้ยกันดาร ให้กับแพทย์ที่เสียสละไปอยู่ในพื้นที่ขาดแคลน หรือสร้างระบบความก้าวหน้าในชีวิต มีระบบสนับสนุนเพื่อไม่ให้การทำงานหนักและเหนื่อยจนเกินไป ซึ่งสำคัญและยั่งยืนในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท

ขณะที่ นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนที่สนับสนุนให้เพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญา 2.5 ล้านบาท เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทำงานกับภาครัฐนานขึ้น บอกว่าแนวคิดนี้เป็นข้อเสนอแนะจาก กสพท ที่มีคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การปรับเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพัฒนา และดึงแพทย์ให้อยู่ในระบบมากขึ้น แต่จะต้องปรับปรุงหลายเรื่องไปพร้อมกัน เช่น สวัสดิการ และการปรับชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนนางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการขึ้นค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่หนีทุน คิดว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เพราะค่าปรับ 4 แสนบาท ถูกเกินไป

ส่วนอัตราค่าปรับใหม่ 2.5 ล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าไม่มากเกินไปนัก โดยนักศึกษาจะได้ตัดสินใจวางแผนอนาคตล่วงหน้า ขณะที่ประเทศจะได้ไม่เสียโอกาส

 

ปิดท้ายที่ความเห็นต่าง นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัด ศธ. ที่มองว่า การเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ที่ไม่ทำงานใช้ทุนเป็นเงิน 2.5 ล้านบาทนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ช่วยให้แพทย์จบใหม่ทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลต่างๆ ได้นานขึ้น ขณะเดียวกัน หากแพทย์เลือกเสียค่าปรับ ก็อาจออกไปเป็นแพทย์เชิงพาณิชย์มากขึ้น เพราะอาจจำเป็นต้องหารายได้ เพื่อให้ได้เงินที่เสียไปกลับคืนมา

“อย่างไรก็ตาม ภาพรวมไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหานี้ทั้งหมด เพราะการไม่ใช้ทุนอาจมีหลายปัจจัย จึงอาจจะต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาส่วนอื่นๆ ประกอบ หรือหากจะขึ้นค่าปรับ ก็ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่ขึ้น 10 เท่าเช่นนี้”

นพ.กำจรกล่าว

 

นอกจากนี้ มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปทาง “ทวิตเตอร์มติชน” ในเรื่องนี้ ปรากฏว่า ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ 71% เห็นด้วย และ 20% ไม่เห็นด้วย

ขณะที่ความคิดเห็นใน “เฟซบุ๊กมติชน” เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เห็นด้วย 56% และไม่เห็นด้วย 44%

ซึ่งความเห็นบางส่วนมองว่า “การเพิ่มค่าปรับเป็น 2.5 ล้านบาท น้อยเกินไป ตอนเข้าเรียนเพราะอยากช่วยผู้ป่วย ไม่ใช่หาเงิน”

“การให้ทุนเรียนแพทย์แล้วไม่ทำงานใช้ทุน ก็ไม่ต่างจากคนกู้เงินแล้วไม่ยอมใช้หนี้”

“ควรขึ้นค่าปรับมานานแล้ว โดยปรับตามเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายที่ใช้ผลิตหมอต่อ 1 คน แต่การทำงานแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหมอลาออกในระยะยาว ถ้ายังไม่แก้ที่ระบบ…ก็สมองไหลอยู่ดี”

ฯลฯ

  คงต้องติดตามว่า เมื่อเพิ่มค่าปรับเป็น 2.5 ล้านบาทแล้ว จะแก้ปัญหานักศึกษาแพทย์ “เบี้ยว” ใช้ทุน…ได้หรือไม่??