บทวิเคราะห์ : คดี “เอเชีย บีบี” ความศรัทธาอันน่าสะพรึง

“เอเชีย บีบี” หญิงคนงานชาวคริสต์วัย 47 ปีในฟาร์มแห่งหนึ่งของปากีสถานต้องมีชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล หลังจากการทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนคนงานหญิงชาวมุสลิม กลายเป็นการที่เธอต้องถูกศาลตัดสินให้ต้องรับโทษ “ประหารชีวิต” ในข้อหาดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัด ตามกฎหมาย “บลาสเฟมี” หรือกฎหมายหมิ่นศาสนาอิสลามของประเทศปากีสถาน เมื่อปี 2010

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นจากเพื่อนคนงานชาวมุสลิมปฏิเสธที่จะดื่มน้ำจาก “ถังน้ำที่บีบีสัมผัส” ด้วยเหตุผลที่ว่า บีบีไม่ใช่มุสลิม

และเมื่อบีบีปฏิเสธแรงงานชาวมุสลิมที่ร้องขอให้เปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลาม ส่งผลลุกลามกลายเป็นม็อบคนงานชาวมุสลิมกล่าวหาบีบีว่าดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัด

เวลานั้น บีบีระบุว่าคดีดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของผู้หญิงที่ไม่ชอบเธอ ฟ้องร้องเธอเพียงเพื่อ “แก้แค้น” เท่านั้น

 

หลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 8 ปี บีบี คุณแม่ลูก 4 จากรัฐปัญจาบได้รับ “ความยุติธรรม” ที่เรียกร้องมายาวนาน เมื่อศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว “กลับคำตัดสิน” และสั่งให้ปล่อยตัวบีบีให้เป็นอิสระ

ทว่านั่นกลับกลายเป็นการสะกิดเตือนให้โลกได้เห็นความน่าสะพรึงกลัวจากแรงศรัทธาผิดๆ ที่มีต่อศาสนาอิสลามในประเทศปากีสถาน และเป็นภาพสะท้อนความแตกแยกร้าวลึกระหว่าง “กลุ่มผู้มีแนวคิดเสรีนิยม” และ “กลุ่มมุสลิมสุดโต่ง” ให้กระจ่างชัดอีกครั้ง

หลังคำตัดสินดังกล่าว กลุ่มมุสลิมสุดโต่งโดยเฉพาะพรรคเตห์รีก-อี-ลาบาอิก ออกแถลงการณ์ขู่ฆ่าผู้พิพากษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวบีบี

ขณะที่บรรดาชาวมุสลิมสุดโต่งหลายพันคนรวมตัวกันประท้วงคำตัดสิน ก่อเหตุปิดถนน เผายางรถยนต์และเรียกร้องให้ประหารชีวิตบีบีเพื่อชดใช้ความผิดเสีย

จากคุกจำกัดอิสรภาพ เวลานี้กลายเป็นเซฟเฮาส์อันแข็งแกร่งให้กับบีบี ที่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย เช่นเดียวกับ “ไซฟูล มาลุค” ทนายความของบีบี ที่ต้องลี้ภัยไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ตามความต้องการของสหประชาชาติและสหภาพยุโรป

“ผมไม่ได้รู้สึกดีเลยที่อยู่ที่นี่โดยไม่มีบีบี แต่ทุกๆ คนบอกผมว่าผมเป็นเป้าใหญ่ที่สุดในเวลานี้ และตอนนี้โลกทั้งโลกกำลังดูแลบีบีอยู่” มาลุคให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

ด้านอาชิก มาซีห์ สามีของบีบี ก็รับรู้ถึงอันตรายที่อาจเข้ามาถึงตัว จึงเรียกร้องให้นานาชาติยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยให้กับครอบครัว

 

สําหรับกฎหมาย “บลาสเฟมี” นั้น ร่างขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 พัฒนาจากยุคที่อังกฤษปกครองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่ยิ่งมีความเป็นกฎหมายอิสลามมากยิ่งขึ้น มีโทษตั้งแต่ปรับ จำคุก 1 ปี เรื่อยไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิตหรือรุนแรงที่สุดคือ “การดูหมิ่นศาสดา” ที่มีโทษสูงสุดคือ “ประหารชีวิต”

นับตั้งแต่ปี 1987 มีชาวมุสลิม 633 คน ชาวมุสลิมนิกายอามาห์ดียะห์ 494 คน ชาวคริสต์ 187 คน และชาวฮินดู 21 คนถูกกล่าวหาภายใต้กฎหมาย “บลาสเฟมี” ของปากีสถาน

และหากนับตั้งแต่ปี 1990 มีผู้ถูกกล่าวหา 62 รายที่ถูกฆาตกรรมก่อนที่การไต่สวนจะสิ้นสุดลง

 

คดีของบีบี ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดความแตกแยกรุนแรงในสังคมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นศาสนาอิสลาม เมื่อปี 2011 “ซัลมาน ทาเซียร์” ผู้ว่าการรัฐปัญจาบ ผู้ที่แสดงความสนับสนุนบีบี และวิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย “บลาสเฟมี” ถูก “มุมทาซ คาดรี” บอดี้การ์ดของตัวเองยิงเสียชีวิต

แม้ “คาดรี” จะถูกตัดสินประหารชีวิตหลังจากเข้ามอบตัวกับตำรวจ ทว่าก็ได้รับการยกย่องจากลุ่มมุสลิมสุดโต่งราวกับ “ฮีโร่” และมีการตั้งศาลให้ชาวมุสลิมมาสักการะใกล้กับกรุงอิสลามาบัดด้วย

เวลานี้กลุ่มองค์กรชาวคริสต์ได้ยื่นเสนอความช่วยเหลือครอบครัวบีบีอย่างเต็มที่ ขณะที่ครอบครัวของบีบีเองก็ได้มีโอกาสเข้าพบกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสที่นครรัฐวาติกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย

เรื่องราวของเอเชีย บีบี และอีกหลายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย “บลาสเฟมี” ในปากีสถานนั้นจะเรียกได้ว่าความศรัทธาอันน่าสะพรึงกลัวก็ไม่ผิดนัก

เวลานี้นอกจากหวังให้เอเชีย บีบี ได้รับอิสรภาพและลี้ภัยอย่างปลอดภัยแล้ว หวังว่าคดีดังกล่าวจะกระตุ้นเตือนสังคมปากีสถานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นไม่มากก็น้อย