ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : แผลเก่าเดือนตุลาสู่ความเป็นไทยที่ไม่เป็นธรรม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนหลายกลุ่มร่วมโหนจนปัจจุบัน

และทั้งที่ คสช.ได้อำนาจด้วยวิธีเดียวกับสามทรราชที่ประชาชนขับไล่ในปี 2516 คุณประยุทธ์กลับกล้าส่งตัวแทนไปรำลึกเหตุการณ์ด้วย ทั้งที่ห้ามนักศึกษาเดินขบวนวางพวงหรีดวีรชนในวันเดียวกัน

ถ้าถือว่าสิบสี่ตุลาคือการปฏิวัติของประชาชน ชัยชนะของการปฏิวัติก็สั้นจนน่าสงสัยว่าประชาชนชนะในความหมายไหน

แต่ถ้าถือว่าสิบสี่ตุลาคือการปฏิวัติด้านความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อสถาบันต่างๆ ในสังคม ผลสะเทือนของการปฏิวัติครั้งนั้นก็ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งและแผ่กิ่งก้านไปในหลายมิติของสังคม

ทัศนคติว่าสังคมไทยไม่เป็นธรรมคือหนึ่งในมรดกของการปฏิวัติความคิดหลัง 14 ตุลาคม

หลักฐานง่ายๆ คือหนังสือที่มีอิทธิพลต่อยุคสมัย ได้แก่ “โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทย” ซึ่ง “จิตร ภูมิศักดิ์” เปิดโปงสังคมไทยในอดีตว่าเอาเปรียบรัดเอาเปรียบชาวนาอย่างอยุติธรรม

หนึ่งปีกว่าๆ หลังการฆ่าหมู่นักศึกษาที่ธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เชิด ทรงศรี ทำหนังเรื่อง “แผลเก่า” ซึ่งถูกชื่นชมถึงวันนี้ว่าถ่ายทอดความเป็นไทยได้ดีที่สุด

ทั้งที่หากย้อนไปทบทวนให้ดี “แผลเก่า” ฉบับคุณเชิดสร้างภาพจำลองของชีวิตชนชั้นชาวนาจนในชุมชนหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่ปากกัดตีนถีบตลอดเวลา

ในโลกของชาวนาจนแห่งทุ่งบางกะปิที่คุณเชิดสร้างขึ้น วัด, วัง และประเพณีแบบรัตนโกสินทร์ไม่มีร่องรอยให้เห็นแม้แต่นิดเดียว

ความเป็นไทยคือวิถีพื้นบ้านของชนชั้นชาวนารายย่อยในชุมชนหมู่บ้านเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง หรือพูดอีกอย่างคือ “บ้านนอก” เป็นที่สถิตของความเป็นไทยกว่ารัตนโกสินทร์ชั้นใน

ภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่คุณเชิดสร้างขึ้น สังคมไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง, เหยียดเพศ, คนรวยเป็นใหญ่ ฯลฯ จนกล่าวได้ว่าคุณเชิดทำหนังเรื่องความรักของชาวนาจนที่ฉากหลังเป็นความอยุติธรรมในสังคม

ถึงที่สุดแล้ว “แผลเก่า” ฉบับคุณเชิดเสนอภาพสังคมไทยในอดีตที่ไม่โรแมนติกซึ่งทำให้เห็นความเป็นไทยที่ไม่เป็นธรรมสามเรื่อง

หนึ่งคือ โครงสร้างสังคมที่ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นเสรีชนไม่ได้

สองคือ ผู้ชายเป็นใหญ่จนผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศตลอดเวลา

และสามคือ การแย่งชิงทรัพยากรที่ชนชั้นสูงกระทำต่อสามัญชน

นวนิยายเรื่อง “แผลเก่า” มีโครงเรื่องพูดถึงหนุ่ม-สาวซึ่งรักไม่สมหวังเพราะถูกกีดกันจากครอบครัวที่ขัดแย้งกัน

แต่คุณเชิดสร้างหนังโดยแตะประเด็นนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับการควบคุมลูกในแต่ละครอบครัวตั้งแต่ต้นจนจบ

“แผลเก่า” ฉบับ 2520 จึงเป็นเรื่องของอำนาจและการดิ้นรนของเสรีชนสู่ชีวิตที่มีอิสรภาพเหนือตัวเอง

“แผลเก่า” นำเสนอภาพครอบครัวในฐานะ “แอก” ซึ่งคนรุ่นพ่อลิขิตชีวิตคนรุ่นหลัง ความรักที่เกิดจากการตัดสินใจโดยเสรีถูกกดใต้ความไม่ลงรอยของพ่อซึ่งทั้งคู่ไม่เกี่ยวข้อง ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งขวัญกับเรียมเกี้ยว, อ่อย, พลอดรัก, ร่วมเพศ ฯลฯ จึงได้แก่ท้องทุ่งและลำคลองซึ่งออกไปจากพันธนาการของระบบครอบครัว

“แผลเก่า” ฉบับคุณเชิดทำให้ “ศาลเจ้าพ่อไทร” เป็นทั้ง Romantic Space และ Erotic Space ที่ขวัญไซ้เรียมจนแทบบดกัน จากนั้นการสาบานรักและการพิสูจน์รักก็เกิดหน้าที่บูชาผีเจ้าพ่อโดยตลอด

ความรักและกามรสจากการเลือกของหนุ่ม-สาวจึงดำรงอยู่แต่ในพื้นที่พิเศษซึ่งกฎเกณฑ์ครอบครัวไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ขวัญกับเรียมดิ้นรนที่จะลิขิตชีวิตตัวเองโดยหนีออกจากระเบียบสังคม ครอบครัวกลับเป็นหน่วยที่ไล่ล่าเสรีชนคู่นี้กลับสู่แอกจากอดีตมากที่สุด

พ่อกำนันแยกเรียมจากขวัญโดยขนพวกไปตามจากศาลเจ้าพ่อ, ยกให้เป็นเมียจิ๊กโก๋บ้านนอก, จับล่ามโซ่กลางบ้าน และที่สุดก็ขายเป็นทาสเพื่อให้พ้นขวัญอย่างสิ้นเชิง

คุณเชิดสร้าง “แผลเก่า” โดยไม่บันยะบันยังที่จะขยี้ให้ผู้ชมเห็นพันธนาการจากอดีตที่กีดขวางเสรีชนคนรุ่นหลังตลอดเวลา

และภายใต้พันธนาการนั้น ผู้หญิงถูกกดขี่ให้มีสภาพเยี่ยงทาสยิ่งกว่าผู้ชาย

ความรุนแรงที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิงเป็นหนึ่งในสภาพสังคมไทยที่ปรากฏใน “แผลเก่า” ตลอดเวลา ฉากที่สะเทือนใจที่สุดในหนังเกิดเมื่อแม่เรียมขวางไม่ให้ผัวล่ามโซ่ลูก จากนั้นแม่ก็ถูกเตะ, ตบหัว, เอาหวายฟาด, ถีบ, กระทืบ ฯลฯ ตั้งแต่ลานบ้านจนหมดสติเพียงเพราะการปกป้องลูกไม่ให้ถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์เท่านั้นเอง

ถ้าการที่ผัวซ้อมเมียปางตายเพื่อจับลูกล่ามโซ่ไปขายเป็นทาสยังแสดงความรุนแรงทางเพศไม่มากพอ หนังบอกต่อไปด้วยแม่เรียมแต่งงานเพราะต้องการไปจากสถานะชาวนาจนเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นคือ หนังให้แม่ตรอมใจตายเพราะมิอาจปกป้องลูกจากความเป็นทาส

ซ้ำแม่ยังตายในสภาพเหมือนผัวทิ้งให้ตายคาเตียง

แม้หนังจะเสนอว่าเรียมที่เป็นนางทาสของเศรษฐินีกรุงเทพฯ มีชีวิตสุขสบาย แต่เนื้อในของความสบายเกิดจากนายทาสเห็นหน้าเรียมเหมือนลูกที่ตายไปจนจับแต่งตัวและให้กินอยู่แบบมีระดับ

ลูกชาวนาที่เป็นทาสทางกายจึงถูกเปลี่ยนตัวตนให้เป็นคนอื่นไปด้วย

และจากนั้นความเป็นมนุษย์ของเธอก็สูญสิ้นอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรียมกลับบ้านไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยหนักพร้อม “ลูกพระยาหมื่นไร่” ซึ่งเป็น “นักเรียนนอก” ที่นายทาสแนะนำจนติดพันเรียม หนังแสดงให้เห็นว่าเรียมอับอายกิริยาของพี่น้องที่ “บ้านนอก” อย่างที่สุด และนั่นเท่ากับเรียมผู้ถูกบังคับให้เป็นทาสได้ชาชินกับความเป็นทาสถึงจุดที่รังเกียจตัวตนก่อนเป็นทาสของตัวเอง

เส้นทางชีวิตของเรียมแบบนี้ชวนให้เห็นภาพการกดขี่ผู้หญิงในสังคมไทย

แต่สิ่งที่คุณเชิดทำกับเรียมต่อไปคือการทำให้เรียมเป็นผู้หญิงที่ “ตาสว่าง” ขั้นลิขิตชีวิตเองในบั้นปลาย

แผลเก่าฉบับคุณเชิดจบด้วยการฆ่าตัวตายของเรียม แต่องค์ประกอบทุกอย่างแสดงให้เห็นว่าเรียมตั้งใจตายเพื่อออกไปจากพันธนาการของครอบครัวและระบบทาสทั้งหมด เรียมกระโดดน้ำตามขวัญซึ่งลอยตามสายน้ำจนจมหายไปแล้ว จากนั้นเธอหยิบมีดจากมือที่ไร้ชีวิตของขวัญมาแทงหัวใจตัวเองจนตายตามกัน

คุณเชิดถ่ายทำฉากนี้โดยแสดงให้เห็นว่าเรียมโดดน้ำตามร่างขวัญโดยทิ้งพ่อกับลูกเศรษฐีไว้เบื้องหลังทั้งหมด

เธอไม่ได้ทำเพื่ออยู่ร่วมกับขวัญซึ่งตอนนั้นตายไปแล้ว

การฆ่าตัวเองคือสัญลักษณ์ของการเลือกที่จะลิขิตชีวิตแทนที่จะกลับไปเป็นทาส

ผู้หญิงใน “แผลเก่า” จึงเป็นเหยื่อ ซึ่งที่สุดแล้วไม่ยอมเป็นเหยื่อตลอดไป

หนึ่งในมรดกทางความคิดของขบวนการต่อสู้เดือนตุลาคมคือมนุษย์เกิดมาเพื่อเป็นเสรีชน

“แผลเก่า” ของคุณเชิดเป็นหนังซึ่งข้ามจากงานพาณิชย์สู่งานวัฒนธรรมที่ใช้เรื่องเล่าประเภทรักไม่สมหวังถ่ายทอดการวิพากษ์สังคมเท่าที่ทำได้ในยุคสมัยที่ประชาชนถูกฆ่าหลังปี 2519 ไม่ว่าคุณเชิดจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

ความยิ่งใหญ่ของคุณเชิดจะปรากฏมากขึ้นเมื่อเทียบกับ “แผลเก่า” ฉบับ ม.ล.พันธุ์เทวนพ ปี 2557 เพราะขณะที่คุณเชิดเปลี่ยนความเป็นไทยให้เป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวนาพื้นบ้านจนใช้หนังเล่าว่าสังคมไทยในอดีตไม่เป็นธรรม “แผลเก่า” ฉบับหม่อมหลวงกลับฟูมฟายว่าชาวนาในอดีตแสนสุขเพราะเป็นไพร่ในสังคมแสนดี

พูดในเชิงเปรียบเปรยแล้ว “แผลเก่า” ฉบับคุณเชิดสะท้อนความคิดใหม่ในสังคมไทยหลังการลุกฮือของประชาชนซึ่งทำให้คนมองโลกเปลี่ยนไปหมด ส่วน “แผลเก่า” ฉบับหม่อมหลวงเอาความคิดเก่าที่ถูกปลุกขึ้นใหม่ในทศวรรษ 2550 ไปมองอดีตจนสร้างโลกที่ใกล้เคียงกับการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเว่อร์เกินความจริง

คุณูปการของวีรกรรมเดือนตุลาคมทั้ง 2516 และ 2519 ไม่ได้อยู่ที่การลุกขึ้นสู้เผด็จการแล้วชนะหรือพ่ายแพ้ แต่มรดกที่ผู้เสียสละในสองเหตุการณ์ทิ้งไว้คือมนุษย์เกิดมาเพื่อมีเสรีภาพ

ประเทศนี้มีเรื่องไม่ถูกต้องอีกเยอะ และการเปลี่ยนประเทศต้องเริ่มโดยตระหนักว่าไพร่ฟ้าในสังคมนี้ไม่ได้หน้าใสตลอดเวลา