นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ภาวะอาณานิคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คําอธิบายหนึ่งที่ผมได้ยินมาตั้งแต่ยังเรียนปริญญาตรีก็คือ เหตุที่ความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติในเมืองไทยมีน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ก็เพราะเรานับถือพุทธ ทำให้คนจีนสามารถแต่งงานกับคนพื้นเมือง หรือกลับกันได้โดยไม่มีอะไรติดขัด ผิดจากในมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งนับถืออิสลาม ทำให้การแต่งงานข้ามศาสนาเป็นไปได้ยาก

หากศาสนามีความสำคัญถึงเพียงนั้น ผู้พูดเรื่องนี้ก็ไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดจึงมีคนจีนจำนวนมากในยูนนาน ที่นับถือศาสนาอิสลามมาหลายศตวรรษแล้ว หรือว่าที่จริง ทั้งคนชั้นกลางชาวฟิลิปปินส์ซึ่งนับถือคาทอลิก, ชาวอินโดนีเซีย และคนชั้นกลางค่อนไปทางสูงของมาเลเซีย จึงล้วนมีเชื้อสายจีน และนับถือศาสนาอิสลาม แม้ว่าในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ของคนเชื้อสายจีนในปัจจุบันยังยึดอัตลักษณ์จีนให้แตกต่างจากมุสลิมพื้นเมืองอย่างพอเห็นได้

นอกจากนี้ ผู้พูดยังไม่ขยายความด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่ไม่ตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติในเมืองไทยนั้น หมายเฉพาะจีนกับไทยเท่านั้น ไม่รวมมลายูกับไทย, กะเหรี่ยงกับไทย, หรือในบางครั้งเวียดนามกับไทย และที่ว่าไม่ตึงเครียดนี้ ก็เพียงแต่ไม่ตึงเครียดอย่างออกหน้าเท่านั้น จะบอกว่าไม่มีการเบียดขับอัตลักษณ์จีนในเมืองไทยเลยตลอดมาก็คงไม่ได้ บางครั้งก็มีอย่างแรงๆ ด้วย ถึงแม้ว่าเป็นการกระทำของรัฐ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน (ชั้นกลาง) อย่างกว้างขวางพอสมควร

 

ผมคิดว่า จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ในสังคมต่างๆ ของอุษาคเนย์ได้ดีกว่า หากมองเรื่องนี้ว่าเป็นมรดกของระบอบอาณานิคม ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนกันนักในแต่ละสังคม ดังกรณีพม่าซึ่งเป็นสังคมพุทธเถรวาทลังกาวงศ์เหมือนไทย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ โดยเฉพาะคนเชื้อสายอินเดีย และมุสลิมกับคนพม่า ไม่ราบรื่นเท่าไทย เรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับศาสนา แต่เกี่ยวกับนโยบายอาณานิคมของอังกฤษในพม่า ซึ่งแตกต่างจากนโยบายอาณานิคมของอังกฤษในมาเลเซีย จึงให้ผลเป็นความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน

มนุษย์มีเหตุให้ต้องเดินทางข้ามไปสู่ดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดตนเองมาแต่โบราณแล้ว เพื่อการค้าบ้าง, ร่วมอยู่ในกองทัพของจักรพรรดิผู้รุกรานบ้าง, จาริกแสวงบุญบ้าง, ย้ายถิ่นที่อยู่ด้วยเหตุต่างๆ บ้าง ฉะนั้น การอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจึงไม่ใช่ประสบการณ์ใหม่ของสังคมเมืองในที่ใด ใครๆ ที่เป็นชาวเมือง แม้แต่เมืองในระยะเริ่มแรก ก็เคยอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้ามาแล้วทั้งนั้น

แต่ความแปลกหน้าไม่ทำให้เกิดความรังเกียจต่อกัน เขารับรู้ความแตกต่างระหว่างกันแน่ อย่างที่ Herodotus เล่าถึงความแปลกจนน่าอัศจรรย์ในประเพณีและวิถีชีวิตของคนนานาชนิดที่เขาได้พบเห็น แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเพราะเหตุที่ต่างจากกรีก จึงต้องด้อยกว่ากรีก

ในโลกตะวันออกก็เช่นเดียวกัน มีคนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ผสมปนเปกันในเขตเมืองมาแต่โบราณ และเช่นเดียวกับในโลกตะวันตก เราได้พบการผสมปนเปทางเชื้อชาติผ่านการแต่งงาน, ทางวัฒนธรรมผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กันในทางเศรษฐกิจและสังคม รายงานของชาวจีนที่เคยใช้ชีวิตในเมืองของอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นเมืองพระนครหรือกรุงศรีอยุธยา ต่างพูดถึงชาวจีนอพยพในเมืองเหล่านี้ และการผสมกลมกลืนโดยผ่านการสมรสกับหญิงพื้นเมืองเป็นปรกติ บางกรณีรายงานด้วยซ้ำว่า ผู้ชายอพยพชาวจีนเป็นที่นิยมของหญิงสาวชาวพื้นเมืองบางแห่ง

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในสังคมโบราณ ไม่เคยแข็งตัวจนกลายเป็นเหมือนเชื้อชาติในสมัยหลัง ซึ่งมีลักษณะจำเพาะที่ลบเลือนไม่ได้ สืบต่อทางสายเลือดอย่างไม่เสื่อมคลาย

 

น่าอัศจรรย์ที่ความคิดเรื่องความสูงต่ำของ “เชื้อชาติ” เริ่มขึ้นในอังกฤษตั้งแต่ก่อนที่ลัทธิล่าอาณานิคมจะเริ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะทัศนะของคนอังกฤษต่อพวกไอริชที่หัวดื้อกว่าเพื่อนบ้านอื่นๆ ของอังกฤษ กล่าวคือ ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจของอังกฤษ ไม่ว่าจะใช้กำลังปราบปรามอย่างไร ก็ก่อการกบฏขึ้นไม่หยุดหย่อน ตกมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 อังกฤษมองพวกไอริชเป็น “เชื้อชาติ” ที่ป่าเถื่อน ความคิดเรื่องความป่าเถื่อนนี่ก็เป็นของใหม่สำหรับอังกฤษ ซึ่งอังกฤษไม่เคยรู้สึกกับพวกสก๊อตหรือเวลส์ เป็นกลไกที่สร้างขึ้นจากความเกลียดชัง เพื่อสนับสนุนนโยบายป่าเถื่อนที่อังกฤษกระทำต่อไอริช

อังกฤษโอนย้ายทัศนะต่อชาวพื้นเมืองเช่นนี้ไปยัง (อาณา) นิคมแห่งแรกๆ ของอังกฤษคืออเมริกา จากชาวพื้นเมืองซึ่งถูกสร้างภาพความป่าเถื่อนให้ ไปจนถึงทาสผิวสี และในที่สุดก็นำมาสู่แนวคิดเรื่อง “เชื้อชาติ” หรือคุณสมบัติที่ส่งผ่านสายโลหิตและติดตัวมนุษย์ทุกคนไปตลอดอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

(Audrey Smedley, “Race and the Construction of Human Identity,” American Anthropologist, 100(3), 1999.)

 

ในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษใช้ “เชื้อชาติ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองและควบคุมอาณานิคม ในการสำรวจสำมะโนประชากรทั้งในอินเดีย, พม่า และสหพันธรัฐมลายู อังกฤษจะแบ่งประชากรในอาณานิคมออกตาม “เชื้อชาติ” ซึ่งในระยะแรกอังกฤษเองก็ไม่ได้มีความรู้ว่า ประชากรในอาณานิคมที่พูดภาษาต่างกันนี้ อยู่ใน “เชื้อชาติ” เดียวกันหรือคนละ “เชื้อชาติ” กันแน่ จึงมักแบ่งตามภาษาก่อน

การแบ่งเช่นนี้เป็นผลให้ประชาชนในอาณานิคมเริ่มยึดถือการแบ่งของทางการอาณานิคมมาเป็นอัตลักษณ์ของตน เช่น ระหว่างกะเหรี่ยงและคะยาในพม่า กลายเป็นคนสองเชื้อชาติ แต่ระหว่างโปและสะกอมกลับรู้สึกว่าเป็นเชื้อชาติเดียวกัน จิงป่อทั้งหมดซึ่งแตกต่างกันมาก ถูกรวมไว้ด้วยกันในนามของคะฉิ่น (ในสมัยอังกฤษใช้คำว่าจิงป่อ) ความเป็นมลายูไม่ใช่สำนึกที่เด่นชัดเท่ากับความเป็นคนยะโฮร์, คนปัตตานี, คนไทรบุรี ฯลฯ แต่เพราะอังกฤษนำเอาคนจีนเข้ามามาก ทำให้กลุ่ม “มลายู” ที่อังกฤษจัดขึ้น เกิดสำนึกความเป็น “มลายู” ร่วมกัน

ไม่แต่เพียงการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นเท่านั้น นโยบายของรัฐบาลอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษ จะไม่สนับสนุนให้กลุ่มที่ถือว่าแตกต่างกันเหล่านี้กลืนเข้าหากันเลย เจ้าอาณานิคมมักสร้างเงื่อนไขหลายอย่าง ที่ทำให้การกลืนกันระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ในอาณานิคมเกิดขึ้นได้ยาก นับตั้งแต่ทางกายภาพ ก็มีละแวกหรือนิคมของคนต่างชาติพันธุ์เช่นจีน อยู่แยกออกไปต่างหากจากคนพื้นเมือง พวกวิลันดาและเสปนทำอย่างนี้กับจีนในบัตตาเวียและมะนิลามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว ในทางเศรษฐกิจ ก็เหมือนจะแยกคนต่างชาติพันธุ์ไว้ในกิจกรรมต่างประเภทกันอย่างค่อนข้างเด็ดขาด แขกและจีนอาจอยู่ในวงการค้าเหมือนกัน แต่ค้ากันคนละตลาด คือแขกค้าในมหาสมุทรอินเดีย จีนค้าในทะเลจีน ตกมาถึงศตวรรษที่ 19-20 ต่างคนต่างมีโรงเรียนของตนเอง, โรงหนังของตนเอง, ศาสนสถานของตนเอง, พิธีกรรมและเทศกาลของตนเอง

อย่างที่ J. S. Furnivall พูดถึงพม่าภายใต้อังกฤษว่าเป็น “พหุสังคม” ซึ่งหมายถึงมีหลายต่อหลายสังคมตั้งอยู่ในทำเลเดียวกัน โดยไม่มีอะไรเกี่ยวกันเลย

อันนี้นับเป็นนโยบายที่แตกต่างจากผู้ปกครองพื้นเมืองเดิม ซึ่งมักจะผนวกเอาคนต่างชาติพันธุ์เข้าไปในระบบการปกครองและเศรษฐกิจ/สังคมอันหนึ่งอันเดียวกัน พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่เคยคิดว่า เพราะเป็นมอญใหม่เพิ่งอพยพเข้ามา จึงไม่ต้องส่งส่วยแรงงานหรือสินค้าให้หลวง มอญใหม่หรือเก่าหรือคนไทย ต่างก็ต้องเป็นไพร่เหมือนกัน เพียงแต่อาจส่งส่วยต่างชนิดกันเท่านั้น

 

ในพม่า ชาวมุสลิมได้อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งที่เข้ามาเอง และที่พม่าไปกวาดต้อนมาจากยะไข่ คนเหล่านี้ตั้งรกรากอยู่ในพม่า และกลายเป็นข้าแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินพม่าสืบมา และเช่นเดียวกับเมืองไทย บางคนไต่เต้าขึ้นไปเป็นขุนนางในราชสำนักด้วย

ในมะละกาสมัยที่ยังไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส หนังสือประวัติมลายู (Sedjara Melayu) เล่าว่ามีละแวกที่อยู่ของคนต่างชาติต่างภาษามากมาย เช่น มอญ, ไทย, จาม, คุชราตี, ทมิฬ, ฯลฯ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงอาหรับและพ่อค้าจากตะวันออกกลางอื่นๆ คนเหล่านี้เข้าไปมีบทบาทด้านอื่นๆ อีกมาก ไม่แต่ด้านการค้าเพียงอย่างเดียว ชี้ให้เห็นว่าสุลต่านแห่งมะละกาปกครองประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และปล่อยให้คนเหล่านี้กลืนกันไปกลืนกันมาไปตามธรรมชาติ

ดังนั้น หากประเทศเหล่านี้ไม่ตกเป็นอาณานิคม ก็คงเป็นสังคมที่มีความตึงเครียดระหว่างคนต่างเชื้อชาติไม่สู้มากนักเหมือนเมืองไทย

 

แม้ว่าไทยไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ตกอยู่ใต้ผลกระทบของ “ภาวะอาณานิคม” เสียเลย แท้จริงแล้ว ผลกระทบที่ตกแก่เราแทบไม่ต่างอะไรจากประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ

ว่าเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ ผมได้กล่าวแล้วว่า ที่จริงในเมืองไทยก็ไม่ได้ราบรื่นไปในคนทุกชาติพันธุ์ หรือในทุกสมัย โดยเฉพาะนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมในเรื่องนี้ก็เริ่มมีผลต่อนโยบายของรัฐบาลไทยมากขึ้น จีนที่ไม่ยอมถูกกลืน กลายเป็นศัตรูและยิวแห่งบุรพทิศในแนวคิดชาตินิยมแบบ ร.6 ทัศนคติเช่นนี้สืบต่อมากับชาตินิยมของผู้นำสายทหารอีกนาน

นับว่าโชคร้ายด้วย ที่อิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมเริ่มส่งผลแก่ไทย ในขณะที่ความเป็นรัฐชาติของเรากำลังขยายตัวตามความเป็นจริง เช่น การคมนาคมสื่อสารขยายมากขึ้น การศึกษาลงไปถึงคนระดับล่างห่างไกลมากขึ้น ตลาดขยายไปดึงเอาการแลกเปลี่ยนเข้ามาเชื่อมโยงกับตลาดใหญ่ ฯลฯ ทำให้รัฐต้องเผชิญกับคนต่างชาติพันธุ์อย่างใกล้ชิด ทัศนคติแบบอาณานิคมกลับครอบงำวิธีคิดของรัฐและคนมีการศึกษา เช่น มองชาวเขาเป็นคนป่าเถื่อน มองคนมลายูเป็นพวกที่ไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ

อันที่จริง ทุกชาติในอุษาคเนย์ปัจจุบัน ล้วนมีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ทั้งสิ้น และผมคิดว่าลัทธิล่าอาณานิคมมีส่วนทำให้เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยในทุกประเทศ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การแบ่งแยกพลเมืองเป็นหลายชาติพันธุ์ และให้สิทธิไม่เท่ากันในทางปฏิบัตินั้น เป็นมรดกของลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งทุกประเทศของอุษาคเนย์ล้วนถูกกระทบเหมือนๆ กัน

เพราะเราไม่เคยเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ ทำให้เราไม่ค่อยมองสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เชื่อมโยงกับประสบการณ์การเป็นอาณานิคม แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะเป็น “เอกราช” หรือไม่ ประสบการณ์ของความเป็นอาณานิคมมีผลต่อไทยอย่างมาก นับตั้งแต่นโยบายของรัฐ ไปจนถึงกระบวนการเข้าสู่ความทันสมัยในทุกด้าน ล้วนมีส่วนถูกกำหนดจากภาวะอาณานิคมหรือหลังอาณานิคมทั้งสิ้น

การรับวัฒนธรรมตะวันตกของไทยในช่วงหลัง จึงไม่ใช่การที่ตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขาย แล้วไทยได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรม เหมือนสมัยอยุธยา แต่เป็นความสัมพันธ์ติดต่อภายใต้ภาวะอาณานิคมและหลังอาณานิคมโดยแท้ วัฒนธรรมตะวันตกที่เรารับเข้ามา ไม่ได้ถูกกำหนดจากฝรั่งล้วนๆ ไม่ได้ถูกกำหนดจากผู้ปกครองไทยล้วนๆ แต่ถูกกำหนดจากเงื่อนไขของเศรษฐกิจแบบอาณานิคม, การเมืองแบบอาณานิคม, สังคมแบบอาณานิคม มากกว่าอื่นใดทั้งสิ้น

แม้แต่การกำหนดของฝรั่งหรือผู้ปกครองไทย ก็คิดจากเงื่อนไขของอาณานิคมและหลังอาณานิคมเหมือนกัน