เรื่องประหลาดใจในเดือนตุลาคม (October Surprise) : FBI กับอีเมลอื้อฉาวของคลินตัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อนในขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน เริ่มดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เธอได้ใช้ อีเมล [email protected] และ server ส่วนตัวของเธอที่บ้านพักในนิวยอร์ก เพื่อรับ-ส่งจดหมายทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติงานให้รัฐบาลสหรัฐฯนั้นจะต้องใช้อีเมลที่เป็นทางการ (state.gov) ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และต้องส่งอีเมลทั้งหมดให้รัฐบาลกลางตรวจสอบและเก็บเป็นหลักฐานไว้

FBI ได้ทำการสืบสวนประเด็นนี้ไปแล้วและเมื่อเดือนกรกฎาคม ในปีนี้เอง FBI มีข้อสรุปว่าจะไม่ให้อัยการยื่นฟ้อง ทำให้นางฮิลลารี คลินตัน รอดพ้นจากการดำเนินคดีกรณีใช้อีเมลส่วนตัวในการรับ-ส่งข้อความ    แต่กลับปรากฎว่าเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ นายเจมส์ โคมีย์  ผู้อำนวยการ FBI ได้ทำหนังสือถึงสภาคองเกรส ว่าจะให้มีการตรวจสอบกรณีนี้อีกครั้งเนื่องจากมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการใช้อีเมลส่วนตัวของนางฮิลลารี คลินตัน ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ

การที่ FBI นำเรื่องนี้กลับขึ้นมาสืบสวนอีกครั้งย่อมส่งผลกระทบต่อการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายของนางฮิลลารี ซึ่งจะเห็นได้จากโพลต่างๆที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่านางฮิลลารี คลินตัน จะเป็นฝ่ายนำนายโดนัลด์ ทรัมป์อยู่

อย่างไรก็ตามข่าวการรื้อฟื้นเรื่องอีเมลอื้อฉาวโดย FBI ครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพียงอีกเพียงแค่ 11 วัน อาจจะถือได้ว่าเป็น เหตุการณ์ที่เรียกว่า “เรื่องประหลาดใจในเดือนตุลาคม” (October Surprise) แต่เหตุการณ์นี้จะทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกผันได้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ

แต่ก่อนอื่นคงต้องขออธิบายศัพท์การเมืองอเมริกันคำนี้เสียก่อน คำว่า “October Surprise” นั้น หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯโดยที่ข่าว หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ตั้งใจให้เกิดหรือเกิดขึ้นมาเองซึ่งจะมีอิทธิพลต่อผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดี  เช่น เรื่องอื้อฉาวทางเพศ ภัยธรรมชาติ สงคราม เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมา October Surprise ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น

ในปี ค.ศ.1980 ในช่วงการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง นายโรนัลด์ เรแกน กับ จิมมี่ คาร์เตอร์ เกิดเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็น October Surprise คือ ในช่วงปลายสมัยประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และมีเหตุการณ์ที่ชาวอิหร่านบุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน พร้อมกับการจับตัวนักการทูตสหรัฐฯเป็นตัวประกัน โดยที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ถึงแม้ว่าจะส่งหน่วยคอมมานโดเข้าไปชิงตัวประกันออกมา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ช่วงก่อนวันที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อิหร่านได้ออกมาประกาศว่าจะยังไม่ปล่อยตัวประกันจนกว่าหลังจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปแล้วเหตุการณ์นี้สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อประชาชนที่จะไปลงคะแนนให้ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ จึงส่งผลให้ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งแก่นายโรนัลด์ เรแกนไป

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็น October Surprise คือ เมื่อช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปี ค.ศ. 2012 ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เกิดเหตุพายุเฮอร์เคน แซนดี้ พัดถล่มบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนตุลาคม ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากขึ้นที่นิวยอร์ค และนิวเจอร์ซี่ ทำให้การรณรงค์หาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายของทั้งสองพรรคต้องหยุดชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันนี่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แสดงบทบาทในการเข้ามาจัดการกับปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วนนี้ ทำให้ได้คะแนนเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นมาก่อนมีการจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

สำหรับในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 นี้ กรณีที่ FBI รื้อฟื้นเรื่องอีเมลอื้อฉาวของนางฮิลลารี คลินตันขึ้นมากอีกครั้ง สามารถพิจารณาได้ว่าอาจจะเป็นประเด็นที่ไม่น่าจะกระทบต่อ นางฮิลลารี คลินตันมากนักถึงกับจะทำให้คนเปลี่ยนใจทุ่มเทคะแนนเสียงให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างมหาศาล

เพราะต้องอย่าลืมด้วยว่าในเวลานี้อีกไม่ถึงอาทิตย์ก่อนที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดี มีประชาชนแห่กันไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนล่วงหน้าแล้วประมาณมากกว่า 20 ล้านคน และจำนวนคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปเลือกใครในวันเลือกตั้งก็น่าจะเหลือน้อยลงแล้วเช่นกัน ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะสนับสนุนใคร

สำหรับคนที่สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน เหตุการณ์นี้ ยิ่งพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าคงเป็นความพยายามที่จะทำลายความเชื่อมั่นของนางฮิลลารี คลินตัน แน่นอนว่าคงไม่หันไปหานายโดนัลด์ ทรัมป์

ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนผู้ที่สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์และจงรักภักดีต่อพรรคริพลับลิกัน เหตุการณ์นี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่นางฮิลลารี คลินตัน ทำลงไปเป็นสิ่งที่ร้ายแรง และไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นแบบนั้นมาก่อนมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกด้วยซ้ำ สำหรับคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกฝ่ายไหนเหตุการณ์นี้อาจทำให้ตัดสินใจว่าจะ No Vote หรือหันไปลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครอิสระแทนก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก่อนและหลังการดีเบตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ เราจะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่ามักจะมีเรื่องน่าแปลกใจ ตื่นเต้น หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดถูกเปิดนำมาเปิดเผยอยู่ประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโปง sex tape ของ  นายโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์พาสตรีที่อ้างว่าถูกประธานาธิบดีบิล  คลินตัน ข่มขืนและลวนลามมาแถลงข่าวก่อนการดีเบต

เพราะฉะนั้นการมีข่าวว่า FBI จะรื้อฟื้นเรื่องอีเมลอื้อฉาวของนางฮิลลารี คลินตันมาสอบสวนใหม่น่าจะเป็นแค่ประเด็นน่าตื่นเต้นแต่คงไม่มีน้ำหนักมากถึงกับจะเปลี่ยนแปลงผลของการเลือกตั้ง หรือทำให้ประชาชนเปลี่ยนใจอย่างรวดเร็วไปเลือกอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอนอีกเช่นกัน

เวลาที่เหลืออยู่จากนี้อีกเพียงไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือมีเรื่องน่า Surprise อีกหรือไม่ คงต้องคอยลุ้นและจับตาดูกันต่อไป