“ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” กับรางวัลประกวดบทกวีครั้งที่ 1 ตอนจบ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ฟังความในใจของเขาและเธอ

ฟ้าก็ยังกว้างใหญ่อยู่ในฟ้า

เมฆก็มีชีวาในเมฆขาว

ลมฝูงหนึ่งเย็นวูบไร้รูปราว

ชีวิตสั้นและยาว อยู่ในชีวิต…

เหมือนป่าที่เข้มเขียวอยู่ในป่า

ฝนหลั่งมาแหล่งน้ำเป็นกรรมสิทธิ์

ดินไม่เคยไปสู่ฟ้าได้สักนิด

ไฟยังติดโชนรู้อยู่ในไฟ…

ค่ำแล้วนกกลับหลังสู่รังนก

ดาวไม่ตกใจแสงไฟไสว

พระจันทร์ไม่เคยอยู่ในหัวแหวนใคร

ตะวันไม่เคยกลับตอนเที่ยงวัน…

โลกก็ยังกว้างใหญ่อยู่ในโลก

ทุกข์โศกไม่เบียดเบียนความสุขสันต์

ต่างดำเนินทางไปทางใครทางมัน

เพราะต่างกันต่างมีที่ของตน…

ถ้า “พวกคุณ” ถอดเครื่องแบบภายนอกออก

ลอกคราบเกียรติยศลดอกุศล

วางอาวุธชั่วร้ายหลากหลายกล

ไม่ปล้นเสรีภาพ กันและกัน

หาก “พวกเขา” เลิกหลงระเริงอำนาจ

อาจหาญปลดปล่อยความกระสัน

ทุกผู้หญิงผู้ชายทั้งนั้น

เห็นค่าสันติธรรมทำจริงใจ…

แม้ “พวกเรา” เสียสละแล้ว

แนวรบก็จบสิ้นสุดยุคสมัย

เสมอภาคเรา เสมอกันไป

สมานกลับเป็นใจเดียวกัน….

แผ่นดินนี้มีวีรกรรมทำไว้มาก

ธุลีแห่งความลำบากบุกบั่น

ทับถมอยู่แล้วทุกทุกชั้น

สูงพอให้ “พวกท่าน” มีที่ยืน…

ใครจะกวาดหิมะก็กวาดเถิด

อย่าเตลิดมายุ่งน้ำค้างคนอื่น

หากจะจุดโคมไว้ส่องทางกลางคืน

“ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์”

นี่คือบทกวีที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ประพันธ์โดย “วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์” โดยเขาเล่าประวัติความเป็นมาบนเส้นทางกวีว่า

“ผมเริ่มอ่านกลอน กวี มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น พอขึ้นมัธยมปลายก็มีโอกาสได้แต่งกลอนประกวด เมื่อรู้ว่าตัวเองชื่นชอบกลอนกวีก็เสาะแสวงหาครูบาอาจารย์ เช่น เดินทางไปงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์เพื่อพบนักเขียน ก็เกิดแรงบันดาลใจ เกิดแรงบันดาลฝัน จนกระทั่งอายุ 24 ปี ได้ส่งประกวดรวมเล่มบทกวีชื่อ “ประโลมศักราชสมัย” รางวัล YoungThai Artist Award 2010 จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี และได้รับรางวัลดีเด่น ปี 2555 ส่งรวมบทกวีรางวัลซีไรต์ ชื่อ “จินตคตินิพนธ์” ปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2558 ผมได้รับโอกาสจากอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ให้เป็นบรรณาธิการสารป๋วย ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนจัดขึ้นในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และได้เข้ามาสู่วงการหนังสือแต่งกวีเรื่อยมาจนปัจจุบัน”

ต่อคำถามที่ว่าบทกวีที่ชื่นชอบนั้นมีใครเป็น “ธงนำ” ช่วยสร้างแรงบันดาลใจบ้าง

“กวีที่ผมนับถือและศรัทธาเสมอมาคือ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ผมนับว่าท่านเป็นเลิศ เป็นมหากวีแห่งยุคสมัย ซึ่งในรอบร้อยหรือพันปีไปเบื้องหน้าคงจะหาได้ยากยิ่ง ด้วยความเป็นอิสระของภาษา สำนวน วิธีการเขียนและจินตนาการอันบรรเจิดเพริศพริ้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญอยู่มิรู้หาย บทกวีของท่านอังคารสามารถปลุกพลังงานในตัวผมได้เสมอเมื่อรู้สึกว่าล้าแรงไฟฝันลงไป กระทั่งทุกวันนี้ผมถือว่าการแต่งกวีของผมนั้นเสมอเป็นอาจาริยบูชาต่อท่านอังคาร คือเมื่อรู้สึกเกียจคร้านก็จะคิดถึงท่าน มีท่านเป็นพลังธาตุแห่งความศรัทธา”

เกี่ยวกับงานกวีที่ส่งมา เขียนเมื่อไหร่ ทำไมเขียนอย่างนี้

“กวีที่ส่งประกวดนี้ ผมได้นำบทกวีที่เคยแต่งสั้นๆ ซึ่งแต่งเก็บเอาไว้ต่างกรรมต่างวาระกัน และได้นำมาต่อกันจากกวี 3 ชิ้น จริงๆ เป็นกวีที่แต่งต่างอารมณ์กัน และนำมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ก็บังเอิญว่าอ่านแล้วมันลงตัวในความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ได้แต่งขึ้นมาใหม่ แต่พอนำมาต่อกัน ก็เหมือนเป็นผลงานชิ้นใหม่ โดยได้ส่งในวันสุดท้ายก่อนจะหมดเขตรับผลงาน”

ตั้งใจสื่ออะไรในบทกวีชิ้นนี้

“สังเกตได้จากในบทแรกๆ จะกล่าวถึงสัจธรรมชาติและหรืออิสระเสรีภาพรวมถึงหน้าที่ของสรรพสิ่งที่ต่างไม่เบียดเบียนกัน มีที่อยู่ของตน ในช่วงกลางของเนื้อหาจะโยงไปถึงเรื่องตัวบุคคล โดยผมได้แสดง “สัญญะ” ผ่านการใช้คำ เช่น “พวกคุณ” “พวกเขา” “พวกเรา” ซึ่งผมสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม นั่นคือการแบ่งพรรคพวก แบ่งฝักฝ่ายของกลุ่มคน มิพักที่ปัญหาเหล่านั้นจะแทรกซึมเข้ามาสู่เหล่าศิลปิน นักเขียน หรือแม้แต่กวีผู้ที่ควรจะเป็นอิสระอยู่เหนืออำนาจการเมืองทั้งปวง และท้ายสุด ผมใช้คำว่า “ผม” ในวรรคสุดท้ายตอนจบของกวี เพื่อจะสื่อให้เห็นว่าศิลปินหรือกวีนั้นมีคุณวิเศษในแง่ของสุนทรีย์ มองอะไรก็งดงาม ผมจึงบอกว่า “ถนอมความมืดไว้หน่อยผมจะยืนชมจันทร์” ซึ่งเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของกวีที่คนอื่นๆ อาจมองข้าม หรืออาจจะแสวงหาความสุขอื่นในเรื่องของยศถาหรืออำนาจอะไรเหล่านั้น สรุปได้ว่าผมพูดถึงในแง่ของความจริง ความดี และความงาม อย่างซื่อๆ มิได้แฝงนัยยะทางการเมืองอะไรทั้งนั้น”

มีความในใจอะไรที่อยากแย้มพราย

ที่ผมส่งกวีมาร่วม เพราะชื่อ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว” ผมมีภาพความทรงจำอันอบอุ่นต่ออ้ายถนอมในช่วงเวลาที่ผมยังเป็นเด็กหนุ่ม เคยอ่านกวีเคล้าคลอกีตาร์จากอ้ายถนอม ทั้งบทกวีของอ้ายถนอมก็ยังเป็นผลงานที่ชี้ชวนให้ผมเห็นถึงถ้อยคำ ภาษา ความนุ่มนวล เรียบง่าย ทว่าลุ่มลึก แบบ “เป็นอย่างที่เธอเป็น” ทำให้ได้รู้จักกับอ้ายถนอมที่มีชีวิตแบบ “สามัญอันเรียบง่าย” พอมีรางวัลนี้ขึ้นมาผมตั้งใจส่งงานมาร่วมโดยมิได้หวังรางวัลไว้เลย แต่เมื่อได้รับการตัดสินให้ได้รางวัลนี้ก็รู้สึกเป็นเกียรติและอบอุ่นหัวใจอยู่มาก

“ถึงแม้จะเป็นรางวัลเกิดใหม่ เป็นรางวัลที่เริ่มจากก้าวเล็กๆ แต่ผมหวังว่ารางวัลกวีในชื่อของถนอม ไชยวงษ์แก้ว นี้ จะมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี และสำคัญที่สุดคือ จะต้องช่วยกันอุดหนุนรางวัลนี้ ให้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ควรจะมีดวงตาเห็นคุณค่าของเหล่าศิลปินกวี ทั้งต้องช่วยกัน “ถนอม” ทั้งชื่อรางวัลและตัวผู้เป็นเจ้าของรางวัล ถึงแม้จะถึงแก่กาละไปแล้ว ก็ควรจะยกย่องเชิดชู เพราะอ้ายถนอมนั้นเป็นคนในตำนานคนหนึ่งในวงการกวี ควรป่าวประกาศให้อนุชน กวีรุ่นใหม่ได้รู้จักถึงคุณวิเศษอย่างไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะผมมีความภาคภูมิใจในฐานะเป็นคนร่วมภูมิภาคเป็นคนเหนือเหมือนกันจึงนับถืออย่างยิ่ง”

 

“มิได้อุทธรณ์”

ฟ้าเอย ฟ้าไกลของใครบ้าง

เธอเลือกนักเดินทางอยู่บ้างไหม

เมฆครามงามสม…สมบัติใคร

หรือต้องมีตั๋วใดได้สัญจร

แผ่นดินเอย มีเจ้าของครองหรือเปล่า

หรือเธอเลือกบางเท้าให้ก้าวก่อน

ตีนแดงเดินได้ทุกดงดอน

ตีนแตกแยกล่อนรอก่อน…รอ

ตะวันเอย เธอก็เอียงกระเท่เร่

หักเหแสงส่องบางห้องหอ

ฉาบฉายเพียงไม้งามที่งามพอ

หญ้าหยาบมิทาบทอให้เทียมทัด

อากาศเอย เป็นของฉันเพียงชั้นล่าง

เขาแบ่งสรรที่ทางต่างปฏิบัติ

โอโซน แบ่งโซนอย่างแจ่มชัด

ทุกตารางเขารังวัดไว้ให้แล้ว

ไร้ฐานะศักดินามาฝั่งนี้

ไม่มีสี เส้น สายไปท้ายแถว

ลูกตามีหลานยายมาอย่าล้ำแนว

เป็นกรวดทรายอย่าเกลือกแก้วให้กลืนกลาย

ไร้สัญชาติมิอาจดำรงทะนงศักดิ์

อัตลักษณ์ถูกเบียดขับระส่ำระสาย

เพศวิถีไม่ชัดเจนจงเจียมอาย

แดนตายคือชายขอบของจักรวาล

ไร้ทักษะฝีมืออย่าถือสิทธิ์

ไร้ปัญญาอย่าคิดจะเหิมหาญ

จงรอรัฐจัดสรรปันทาน

นโยบายอลังการนานนานครั้ง

ทรัพยากรใดใดของใครหรือ

ศูนย์กลางยึดถือและจัดตั้ง

คำว่า “รัฐ” อันศักดิ์สิทธิ์เป็นฉากบัง

ผลักใครใครไว้ข้างหลังให้คั่งแค้น

ฉันถูกซัดมาสุดขอบแล้วตรงนี้

นอกพื้นที่สิทธิ์สงวนเขาหวงแหน

ถูกเหวี่ยงหวือกีดออกนอกแก่นแกน

เขาปักปันเขตแดนความเป็นคน

มิเป็นไรถ้าฟ้าจะกีดกั้น

มิเป็นไรถ้าตะวันมิยักสน

มิว่าดอกถ้าแผ่นดินรับสินบน

และอากาศยังแบ่งชนให้เชยชิด

มิได้อุทธรณ์วอนขอขยับขั้น

มิได้ขอแบ่งปันอภิสิทธิ์

มิฟูมฟายตะกายเกลือกมิเลือกทิศ

เพียงสักนิดเรียกขานตน “คน” เหมือนกัน

ชิ้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประพันธ์โดย “ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์”

มารู้จักกับสาวสวยจากรั้วอักษร เธอเป็นใครมาจากไหน

ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2529 ปัจจุบันอายุ 32 ปี เดิมเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี เกิดและเติบโตที่นี่

จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลเพชรบุรี และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาไทย

ปัจจุบันย้ายภูมิลำเนาตามสามีมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

สนใจทั้งงานวิชาการและการแต่งบทประพันธ์ร้อยกรอง โดยเฉพาะกลอน

ผลงานล่าสุดที่ได้รับรางวัล คือบทกวีชื่อ “แล้วเธอล่ะ…เป็นใครในเมืองนี้” ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดวรรณกรรม “รางวัลพานแว่นฟ้า” ประจำปี 2561

เมื่อถามว่ากวีที่ชื่นชอบในดวงใจจริงๆ มีใครบ้าง เธอตอบว่า

“เป็นคนหลายใจ กวีในดวงใจจึงมีหลายคน ถ้าจะต้องเอ่ยนามกันอย่างจริงจัง คงต้องยกมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงพุทธศักราชนี้ เชื่อว่า…เราต่างก็ถูกหล่อหลอมจากใครต่อใคร จนมาเป็นเราๆ ท่านๆ ที่เขียนที่อ่านกันอยู่ตอนนี้ ฉะนั้น กวี นักคิด นักเขียนทุกคน ทั้งไทย ทั้งต่างชาติ ที่เคยได้อ่าน ล้วนอยู่ในดวงใจทั้งสิ้น แต่ถ้าให้ตอบแบบไม่หลายใจก็ขออนุญาตยกให้ครูศิวกานท์ ปทุมสูติ”

ให้ช่วยขยายความเกี่ยวกับงานที่ส่งมานั้น เขียนเมื่อไหร่ ทำไมถึงเขียนเรื่องนี้

“โจทย์ครั้งนี้คือ “ปัญหาสังคมและการเมือง” ซึ่งกว้างมาก แทบจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ เพราะการเมืองแทรกซึมชีวิตเราไปทุกเรื่อง สำหรับผลงานเรื่อง “มิได้อุทธรณ์” นั้น ตั้งใจจะพูดแทนสภาวะ “ความเป็นอื่น” (the otherness) ที่ถูกเบียดขับออกจากศูนย์กลาง ถูกกีดกัดออกจากกระแสหลัก ประเด็นความเป็นอื่นที่ปรากฏในผลงานชิ้นนี้มีหลายเรื่อง อาทิ สัญชาติ เพศสภาพ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ถามว่าทำไมถึงเขียนเรื่องนี้ ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า มันรายล้อมตัวเราอยู่ และจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

บางทีเราก็พลั้งเผลอผลักไสพวกเขาให้ไปอยู่ “ชายขอบของจักรวาล”