นงนุช สิงหเดชะ : “ทีวีสิงคโปร์” กับการเสนอข่าว “การสวรรคต” ของรัชกาลที่ 9

ภายหลังจากมีประกาศจากสำนักพระราชวังเมื่อค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักดีด้วยพระนามสั้นๆ ว่า ในหลวง หรือรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตแล้วนั้น แน่นอนว่าคนทั้งประเทศน้ำตานองแผ่นดินด้วยความโศกเศร้าอย่างลึกล้ำ พร้อมกับรู้สึกใจหาย คล้ายแผ่นดินว่างเปล่า

ความรู้สึกต่อมาของคนจำนวนมากในวินาทีที่ได้ทราบข่าวดังกล่าว คืออยากกลับบ้านไปเปิดทีวีเพื่อดูปฏิกิริยาของเพื่อนร่วมชาติในทุกจุดของประเทศ แม้จะคาดหมายได้อยู่แล้วว่าความทุกข์โศกจะต้องท่วมท้น แต่หลายคนที่ไม่ได้ไปรวมตัวกันตามจุดสำคัญ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ก็อยากจะดูข่าวความเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านโทรทัศน์

แต่ด้วยข้อจำกัดที่รัฐบาลกำหนดให้ทีวีทุกช่องงดการทำข่าวสถานการณ์สดในวันแรก และวันต่อมาหลังประกาศสวรรคต และให้เผยแพร่เพียงพระราชกรณียกิจเพื่อถวายความอาลัย จึงทำให้คนไทยไม่มีโอกาสดูข่าวที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบันในวินาทีสำคัญ

ดังนั้น ช่องทางที่เหลืออยู่ นอกเหนือจากการติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย (ซึ่งคงไม่จุใจเท่าได้ดูจากทีวี ที่มีผู้สื่อข่าวมืออาชีพรายงาน)

แล้วอีกช่องทางคือดูจากทีวีต่างประเทศ

 

แม้ทีวีต่างประเทศช่องหลักๆ จะรายงานเหตุการณ์ใหญ่ของไทยในครั้งนี้เหมือนกัน แต่หากจะนับว่ามีความพิเศษก็คือ Channel NewsAsia ของสิงคโปร์

พิเศษในแง่ที่ว่า 1.ผู้ประกาศข่าวในห้องส่งและนักข่าวภาคสนามแต่งกายด้วยชุดสีดำหรือสีทึบต่อเนื่องหลายวัน 2.ให้น้ำหนักและเวลาในการเสนอข่าวด้วยความถี่ค่อนข้างสูงและเกาะติดต่อเนื่องหลายวันมากกว่าที่อื่น

ถ้าไม่นับว่ารายงานเป็นภาษาอังกฤษแล้วเผลอๆ นึกว่ากำลังดูทีวีไทยอยู่

ทั้งผู้ประกาศข่าวในห้องส่งและนักข่าวภาคสนามของทีวีสิงคโปร์แห่งนี้แต่งชุดสีดำไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 วัน เท่าที่ติดตามดูอยู่ 3-4 วัน ก็ยังเห็นพวกเขาแต่งชุดสีดำหรือไม่ก็สีทึบ หลีกเลี่ยงสีจัดจ้าน

อันที่จริงผู้ประกาศข่าวในห้องส่งอาจไม่จำเป็นต้องใส่ชุดดำ เพราะไม่ได้ออกไปรายงานข่าวในพื้นที่โดยตรง แต่พวกเขากลับใส่

นอกจากนี้ ยังใช้รูปแบบมาตรฐานการรายงานข่าวมรณกรรมของบุคคลสำคัญระดับโลก กล่าวคือ ในช่วงเสนอข่าวการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของไทย ทีวีแห่งนี้ขึ้นภาพในหลวงของเราพร้อมระยะการดำรงพระชนม์ชีพ (1927-2016) เป็นแถบไว้มุมด้านบนของทีวี ใช้ภาพพื้นหลังตามแบบที่โทรทัศน์ไทยใช้คือเป็นพื้นดำลายไทย

ในประเทศไทย นอกเหนือจากมีนักข่าว (คนไทย) ประจำอยู่ในยามปกติเพียง 1 คนแล้ว ดูเหมือนพวกเขาจะส่งนักข่าวจากสิงคโปร์มาเพิ่มเติมอีก 2 คน เพื่อรายงานเหตุการณ์สดทั้งในกรุงเทพฯ และหัวหินซึ่งเป็นที่ตั้งพระราชวังไกลกังวล รวมทั้งเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการหลวง

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังให้นักข่าวที่ประจำอยู่อเมริกา (ฝรั่ง) อย่างน้อย 2 คน รายงานข่าวการสวรรคตเช่นกัน โดยนักข่าวคนหนึ่งรายงานจากบริเวณสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก ซึ่ง นายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น นำสมาชิกยูเอ็นยืนสงบนิ่งไว้อาลัยพร้อมกล่าวสดุดี

ส่วนอีกคนหนึ่งไปที่ชุมชนคนไทยในแคลิฟอร์เนีย สัมภาษณ์ความรู้สึกของคนไทยที่นั่น เรียกได้ว่าในยามที่คนไทยไม่สามารถดูข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันในวันนั้นได้จากทีวีไทยเพราะข้อจำกัดดังกล่าว การดูทีวีช่องนี้ก็ช่วยทดแทนความอยากรู้อยากเห็นสถานการณ์ในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

 

ที่สิงคโปร์เอง ทีวีช่องนี้จัดให้นักข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของคนไทยในสิงคโปร์ทุกระยะทุกวัน จุดรายงานหลักอยู่ที่สถานทูตไทยประจำสิงคโปร์ รวมทั้งแหล่งที่คนไทยอยู่ มีการสัมภาษณ์ความรู้สึกคนไทย ตลอดจนสัมภาษณ์บุคคลสำคัญและนักวิชาการในสิงคโปร์เกี่ยวกับในหลวงของเรา

บรรดานายจ้างสิงคโปร์ ยังเข้าใจความรู้สึกของคนงานไทย ถึงกับจัดรถรับส่งให้แรงงานไทยเดินทางมาถวายความอาลัยที่สถานทูตไทยในสิงคโปร์อีกด้วย

ในแง่ของความถี่และการให้น้ำหนักกับการรายงานข่าว ทีวีช่องนี้นำเสนอทุกช่วงข่าว โดยไม่เพียงรายงานเหตุการณ์สด แต่จะมีรายงานพิเศษสั้นๆ ที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับความผูกพันของคนไทยที่มีต่อในหลวงต่อท้ายข่าวเสมอ

อีกทั้งยังทำรายงานขนาดยาวหลายตอนเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจนำเสนอแยกต่างหาก มีการประชาสัมพันธ์เป็นช่วงๆ ว่าวัน เวลาไหนจะออกอากาศเรื่องนี้

 

หากจะให้อนุมาน การที่ทีวีสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ไทยค่อนข้างมาก น่าจะเป็นเพราะสิงคโปร์เข้าใจความรู้สึกที่คนไทยรักและเทิดทูนรัชกาลที่ 9 แบบเดียวกับที่คนสิงคโปร์โศกเศร้าในตอนที่ นายลี กวน ยิว ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของประเทศ (เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีคนแรกและผู้ก่อตั้งประเทศ) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2558

ความรู้สึกสูญเสียของคนสิงคโปร์ยังสดใหม่อยู่

เมื่อเห็นคนไทยอาลัยพระเจ้าอยู่หัว คนนับแสนนับล้านออกมาบนท้องถนนร้องไห้อาลัย คนสิงคโปร์จึงเข้าใจ ไม่สงสัยหรือทำหน้ามึนงงเหมือนสื่อฝรั่งบางแห่ง

ในอีกทางหนึ่งการเสนอข่าวของทีวีสิงคโปร์ในครั้งนี้ก็อาจสะท้อนถึงท่าทีอันระมัดระวังและเฉลียวฉลาดของรัฐบาลสิงคโปร์ในอันที่จะรักษาความสัมพันธ์กับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง

เข้าใจความอ่อนไหวบางประการของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่แตะในประเด็นที่จะกระทบความรู้สึกของประชาชนเจ้าของประเทศ

ไม่เพียงไม่แตะต้องในประเด็นอ่อนไหว แต่ยังเคารพและให้ความสำคัญในยามที่คนไทยอยู่ในอารมณ์ทุกข์โศกครั้งใหญ่ที่สุด

อาจเป็นเพราะสิงคโปร์คือชาติเอเชีย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นชาติที่เจริญทันสมัยแถวหน้าของโลก แต่ก็มีรากเหง้าของตัวเองผ่านคำสอนของขงจื๊อซึ่งเป็นคำสอนที่ นายลี กวน ยิว ยึดถือมาตลอดการปกครองประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี 31 ปี และยังอยู่ดูแลประเทศต่อมาอีกกว่า 20 ปีในฐานะรัฐมนตรีพี่เลี้ยงที่คอยชี้แนะแนวทางให้กับรัฐบาลในชุดต่อๆ มา