ฐานที่มั่นต่อไปของไอเอส หลัง “โมซุล” ถูกยึดคืน

เมืองโมซุล ในประเทศอิรัก นอกเหนือจากจะเป็นฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม หรือไอเอส และเป็นเสมือนเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของไอเอสแล้ว

ยังเป็นเมืองที่ “อาบู บัคร์ อัล บักดาดี” ผู้นำกลุ่มไอเอส ยังเคยประกาศไว้เมื่อสองปีก่อนให้เมืองโมซุลเป็นหนึ่งในรัฐเคาะลีฟะฮ์ หรือเขตปกครองแบบหนึ่งในอาณาจักรมุสลิม ที่มีประมุขเป็น “เคาะลีฟะฮ์”

ฮัสซัน ฮัสซัน แห่งนิวยอร์กไทม์ส รายงานเรื่องนี้เอาไว้ว่า ตอนนี้ เมืองโมซุลกำลังถูกกดดันอย่างหนัก จากฝ่ายที่ต้องการกำจัดไอเอสออกจากอิรัก ทั้งจากกลุ่มกองกำลังพันธมิตรของอิรักและกองกำลังชาวเคิร์ด กำลังพยายามยึดคืนเมืองโมซุลจากกลุ่มไอเอสให้ได้

เป็นการรุกหนักที่ทำให้ไอเอสสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียเมืองโมซุลแห่งนี้ไป

และไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ไอเอสเอง ก็น่าจะมีแผนเตรียมพร้อมสำหรับการหาฐานที่มั่นแห่งใหม่แล้ว

เพราะในช่วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มไอเอสได้มีการเผยแพร่ข้อความบ่อยครั้ง ผ่านสื่อที่หลากหลาย เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่เรียกว่า “อินฮิยาซ”

หรือ การล่าถอยชั่วคราว ไปยัง “ทะเลทราย”

คําว่า “อินฮิยาซ” เริ่มปรากฏเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในการกล่าวครั้งล่สุดของ อาบู มูฮัมหมัด อัล อัดนานี โฆษกของกลุ่มไอเอสที่เพิ่งถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดสังหารไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยอัดนานี ได้อธิบายไว้ว่า การสูญเสียดินแดนไป ไม่ได้แปลว่า พ่ายแพ้ และนักรบจะต้องต่อสู้จนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุด แล้วหลังจากนั้น ให้ล่าถอยไปยังทะเลทราย เตรียมตัวเพื่อการกลับมาอีกครั้ง เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วช่วงปี ค.ศ.2007 และ 2013

หลังจากนั้น บรรดาเครือข่ายของไอเอส ก็เริ่มเผยแพร่สารดังกล่าวออกไป อย่างเช่น อัล นาบา จดหมายข่าวของกลุ่มไอเอส ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่อง อินฮิยาซ เมื่อเดือนสิงหาคม

โดยบอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งที่กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลามแห่งอิรัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาก่อนกลุ่มไอเอส ว่าสามารถอยู่รอดมาได้หลังจากถูกขับไล่ออกจากเมืองหลายเมืองในอิรัก หลังจากเมื่อปี 2007 กองทัพสหรัฐได้ปฏิบัติการรุกอย่างหนักร่วมกับชนเผ่าทั้งหลาย ที่รู้จักกันในชื่อของปฏิบัติการ “อเวเคนนิ่ง”

บทความดังกล่าว ระบุว่า ในขณะที่นักรบส่วนใหญ่เริ่มล่าถอย แต่ยังมีปฏิบัติการปลุกระดมให้มีการก่อการร้ายอีกนับสิบครั้ง

โดยบทความอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การรณรงค์ของนักรบญิฮาดตลอด 6 ปีต้องจบสิ้นลง และกลุ่มสุหนี่ในอิรักต้องแตกสลาย

แต่นั่นก็ทำให้ง่ายสำหรับกลุ่มไอเอสที่จะกลับเข้าควบคุมหัวใจสำคัญของชาวสุหนี่เมื่อได้กลับมาอิรักอีกครั้งเมื่อปี 2013

“ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า นักรบมูจาฮีดีนของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม สามารถขัดขวางเหล่าผู้ละทิ้งศาสนาไม่ให้ได้มีความสุขหรือความปลอดภัยได้แม้แต่วันเดียว” ข้อความในบทความระบุ

เหมือนกับการเตือนถึงลางร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอิรักสำหรับกลุ่มไอเอส

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคมกลุ่มไอเอสยังได้เผยแพร่วิดีโอ ที่ระบุว่าถ่ายทำไว้ที่จังหวัดวิลายัต อัล ฟูรัต หนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการประกาศให้เป็นรัฐเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งเป็นวิดีโอที่ไม่เหมือนกับวิดีโอที่ไอเอสเคยเผยแพร่ก่อนหน้านี้ที่มักจะแสดงให้เห็นเกี่ยวกับการสู้รบในเมือง แต่วิดีโอนี้แสดงให้เห็นการสู้รบใน “ทะเลทราย”

วิดีโอนี้ แสดงให้เห็นการสู้รบที่เกิดขึ้นใกล้กับเมือง “รัตบาห์” เมืองยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศอิรัก บนถนนที่เชื่อมต่อกรุงแบกแดดไปยังกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน

โดยในวิดีโอ เป็นภาพของนักรบไอเอสที่ปฏิบัติการโจมตีและยึดค่ายที่กองทัพอเมริกันและอิรักอ้างว่ายึดครองเอาไว้ได้

และสำนักข่าวอามัค ของไอเอส ยังได้มีการเผยแพร่บางช่วงบางตอนของวิดีโอดังกล่าว โดยมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษประกอบ

ก่อนที่ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา สำนักข่าวอามัค ยังได้เผยแพร่วิดีโอเดิมซ้ำอีก และยังเผยแพร่ภาพของทะเลทราย ที่จบลงด้วยภาพของการที่ร่างไร้วิญญาณของทหารอิรักถูกลากไปไว้บนถนน

ฮัสซันระบุว่า วิดีโอเหล่านี้ก็เหมือนกับคำกล่าวของอัดนานี และบทความเกี่ยวกับอินฮิยาซ ที่ต้องการบอกกับเหล่านักรบไอเอสให้เตรียมพร้อมสำหรับการสูญเสียดินแดน เพราะสำหรับไอเอสแล้ว “วิลายัต อัล ฟูรัต” ไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าเมืองโมซุลเลย สำหรับการอยู่รอดในระยะยาวแล้ว ทะเลทรายถือเป็นจุดที่สำคัญพอๆ กับเมืองต่างๆ

วิลายัต อัล ฟูรัต เป็นจังหวัดเพียงจังหวัดเดียวที่สามารถข้ามชายแดนระหว่างอิรักกับซีเรียได้ รวมไปถึงเป็นเส้นทางที่สามารถไปยังดินแดนหรือพื้นที่ห่างไกลออกไปที่จะสามารถใช้เป็นที่หลบภัยของสมาชิกอาวุโสของไอเอสได้

ขณะที่ทางการอิรักเองก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า กลุ่มไอเอสเตรียมที่จะล่าถอยไปอยู่ทะเลทรายแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง 2 คน ในจังหวัดซาลาห์ อัด ดิน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งไว้ว่า กลุ่มไอเอสได้เริ่มกลับไปยังดินแดนอันเป็นอิสระของตัวเอง

โดยเริ่มการเกณฑ์สมาชิกใหม่ และปฏิบัติการ “ตีแล้วหนี” และการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัย

เรื่องเหล่านี้ บรรดาผู้นำของไอเอสคงจะคุ้นเคยดี เพราะเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2007 ที่ทะเลทรายได้กลายเป็นฐานที่มั่นของเหล่านักรบที่ส่วนใหญ่เป็นนักรบต่างชาติ

ขณะที่สมาชิกส่วนหนึ่งยังคงฝังตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ เพื่อคอยทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางในการหาข้าวของต่างๆ ส่งให้แก่นักรบที่อยู่ในทะเลทราย ผ่านการขโมยและการขู่กรรโชกต่างๆ

ขณะเดียวกัน ก็คอยปฏิบัติการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทั้งพวกชนเผ่าต่างๆ และกองกำลังฝ่ายความมั่นคง ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจกันและทำให้เกิดความหวาดกลัว จนที่สุดแล้วก็ทำให้เกิดช่องว่างทำให้ไอเอสสามารถกลับสู่อิรักได้อีกครั้งในอีก 6 ปีต่อมา

แต่สถานการณ์ในอิรักตอนนี้ ดูเหมือนจะเอื้อให้กับไอเอสกลับมาอีกครั้งได้ง่ายกว่าครั้งก่อน เพราะทั้งการเมืองและสังคมในอิรักมีความเปราะบางมากกว่าเดิม

ดังนั้น หากไอเอสสูญเสียเมืองโมซุลไปจริง ก็คงง่ายต่อการกลับมายึดครองอีกครั้ง