วิเคราะห์ : “ทะเลเหนือ” เส้นทางเรือใหม่ ผลจากสภาวะน้ำแข็งละลาย หรือ กลายเป็นชนวนแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างประเทศ!?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 145

เส้นทางเรือ “ทะเลเหนือ” บริเวณขั้วโลกเหนือที่มีอากาศหนาวเย็นสุดๆ กำลังจะกลายเป็นเส้นทางใหม่ของกองเรือพาณิชย์นานาชาติ

คนยุคก่อนๆ ไม่มีทางนึกออกว่าจะเดินเรือผ่านเส้นทางนี้ที่มีแผ่นน้ำแข็งหนาปกคลุมไปทั่วตลอดทั้งปีได้อย่างไร

แต่เส้นทางเดินเรือเส้นใหม่นี้มีความเป็นไปได้แล้ว เนื่องเพราะสภาวะภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมอย่างรวดเร็วจนกระทั่งเรือขนาดใหญ่แล่นได้สะดวก

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า บริษัทเมอส์ก ไลน์ (Maersk Line) ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือยักษ์ใหญ่แห่งเดนมาร์ก ส่งเรือชื่อ “เวนต้า เมอส์ก” (Venta Maersk) เป็นเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ได้ถึง 3,600 ตู้ ขนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ออกจากเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ไปยังเมืองเบรเมอร์เฮฟเว่น ประเทศเยอรมนี

ระหว่างทาง เวนต้า เมอส์ก แวะเมืองท่าวลาดิวอสต๊อกของรัสเซีย เพื่อโหลดตู้คอนเทนเนอร์บรรจุอาหารทะเลแช่แข็ง

เรือลำดังกล่าวออกจากท่าเรือวลาดิวอสต๊อก เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา แล่นผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ช่องแคบแบริ่ง เชื่อมระหว่างรัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา กับประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย รวมทั้งรัสเซีย ซึ่งอยู่ในวงแหวนอาร์กติก (Artic Circle) เพื่อทะลุเข้ามายังมหาสมุทรแอตแลนติก (ดูในกราฟิก)

คาดว่าจะเข้าเทียบท่าเมืองเบรเมอร์เฮฟเว่น ในวันที่ 22 กันยายนนี้

ถ้าทุกอย่างราบรื่น “เวนต้า เมอส์ก” จะเป็นเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ลำแรกของโลกที่แล่นข้ามขั้วโลกเหนือ ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าวงการพาณิชย์นาวี

 

ทุกวันนี้เรือขนส่งสินค้าแล่นระหว่างเกาหลีใต้กับเยอรมนีต้องผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก เข้าช่องแคบมะละกา เพื่อตรงไปยังมหาสมุทรอินเดีย แล้วอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ประเทศแอฟริกาใต้ ขึ้นไปยังมหาสมุทรแอตแลนติก

กว่าจะถึงเป้าหมายต้องใช้เวลาเฉลี่ย 46 วัน

หรืออีกเส้นทาง ไม่ต้องแล่นอ้อมผ่านแหลมกู้ดโฮป แต่เมื่อถึงมหาสมุทรอินเดียตัดตรงเข้าคลองสุเอซ เชื่อมระหว่างทะเลแดง ประเทศอียิปต์กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็ทะลุถึงเยอรมนี ใช้เวลาเดินทางสั้นลงเหลือ 34 วัน

สำหรับเส้นทางทะเลเหนือใช้แล่นเรือในเวลาเพียง 23 วันเท่านั้น ประหยัดทั้งค่าน้ำมัน ค่าแรงกัปตัน พนักงานเดินเรือ ต้นทุนค่าขนส่ง

และยังปลอดจากการปล้นสะดมของกองโจรสลัดซึ่งมีชุกชุมมากโดยเฉพาะช่องแคบมะละกาและบริเวณมหาสมุทรอินเดีย

ก่อนหน้านี้ บริษัทเดินเรือของรัฐบาลรัสเซีย ใช้เรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวชื่อ “คริสทอฟ เดอ มาร์เจอรี่” เป็นเรือที่ออกแบบให้ตัดน้ำแข็งได้ในตัว ลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากประเทศนอร์เวย์ไปยังเกาหลีใต้ ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 19 วัน

“คริสทอฟ เดอ มาร์เจอรี่” ฝ่าแผ่นน้ำแข็งที่มีความหนาสูงสุดถึง 2.1 เมตรในทะเลเหนือใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

 

รัสเซียสนับสนุนเส้นทางเรือใหม่นี้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะมองว่านี่คือเส้นทางพาณิชย์นาวีใหม่จะมีความสำคัญที่สุดของโลก

รัฐบาลหมีขาวส่งเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ถึง 4 ลำ เตรียมกรุยทางแหวกแผ่นน้ำแข็งให้เรือเวนต้าแล่นข้ามขั้วโลกเหนือได้สะดวก แถมยังมีเครื่องบินตรวจการณ์ชี้พิกัดก้อนน้ำแข็งที่ลอยฟ่องอยู่ในทะเลเหนือ

ฝ่ายจีนให้ความสำคัญกับเส้นทางเรือทะเลเหนือไม่น้อยหน้ารัสเซีย เพราะเห็นว่าเป็นเส้นทางที่ช่วยลดต้นทุน ย่นเวลาการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังยุโรปและฝั่งตะวันออกของสหรัฐอย่างมาก

ทางการจีนได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่า จีนเป็นรัฐที่อยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือ (Near-Arctic State) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่มีพื้นที่ใดของจีนอยู่ติดขั้วโลกเหนือเลย แถมยังคิดไกลถึงขั้นจะให้ขั้วโลกเหนือเป็นเส้นทางสายไหม (Polar Silk Road) เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม

ในแผนยุทธศาสตร์ยังระบุให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลจีนในเส้นทางเรือทะเลเหนือว่า “ผลจากภาวะโลกร้อนทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายมากขึ้น นั่นหมายถึงขั้วโลกเหนือจะเป็นจุดดึงดูดทางด้านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ”

ไม่เพียงวางยุทธศาสตร์เท่านั้น รัฐบาลจีนยังส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมของกลุ่มสมาชิกประเทศในอาร์กติกเซอร์เคิล ได้แก่สหรัฐ รัสเซีย แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์และสวีเดน

เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลจีนส่งทีมงานนักวิทยาศาสตร์ลงเรือสำรวจชื่อ “มังกรหิมะ” (Snow Dragon) เพื่อสำรวจแหล่งน้ำมัน ก๊าซ แร่ธาตุ และประมงบริเวณขั้วโลกเหนือ

นอกจากนั้นบริษัทคอสโคของจีนเตรียมแผนส่งเรือบรรทุกสินค้าผ่านเส้นทางทะเลเหนือ ขนเครื่องเทอร์ไบน์สำหรับใช้ติดตั้งกับกังหันลมขนาดใหญ่ไปยังลูกค้าในยุโรป

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ถ้าปรากฏการณ์โลกร้อน เพิ่มระดับความรุนแรง น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือละลายมากขึ้น จะยิ่งเปิดทะเลเหนือให้กว้างขึ้น

 

นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่านำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศขั้วโลกเหนือมาวิเคราะห์ พบว่าช่วงฤดูร้อนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แผ่นน้ำแข็งละลายลงไป 13.4 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้เป็นปีแรกที่ก้อนน้ำแข็งหนาแค่ 2-3 ฟุต ต่างกับบางปี ก้อนน้ำแข็งที่ลอยเท้งเต้งกลางทะเลเหนือหนา 14 ฟุต

“วอลต์ ไมเออร์” นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็ง รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ทำแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์พบว่าช่วงฤดูร้อนระหว่างปี 2593-2613 จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของขั้วโลกเหนืออย่างมาก อาจจะไม่มีแผ่นน้ำแข็งเลยก็ได้

โมเดลทางวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ผลในปี 2573 ออกมาว่า ในเดือนกันยายน “ทะเลเหนือ” จะเหมือนทะเลอื่นๆ ที่มีน้ำทะเลเป็นสีคราม หรือบลูโอเชี่ยน น้ำแข็งละลายมากเท่าไหร่ ทะเลเหนือก็ยิ่งเปิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรมต่อเรือและการเดินเรือพาณิชย์นาวี

แต่ในขณะเดียวกัน “ทะเลเหนือ” อาจเป็นชนวนการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างประเทศมหาอำนาจนำไปสู่ความขัดแย้งของโลกอีกครั้ง