ธเนศวร์ เจริญเมือง / มหาวิทยาลัยในตะวันตก : ทิศทางการพัฒนา

ผมมาถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เพียงวันเดียว

เพื่อนรักคนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ก็ชวนไปฟังปาฐกถาของอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2561 (เริ่มวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม)

อธิการบดีจะเสนอทิศทางของการจัดการศึกษา เพื่อให้อาจารย์ทุกคนและหัวหน้าบริหารทุกฝ่ายทุกหน่วยได้รับรู้เป็นเอกภาพและร่วมกันขับเคลื่อนทิศทางดังกล่าวอย่างมีพลัง

โอกาสดีๆ อย่างนี้หาไม่ได้ง่ายเลย เพราะเป็นกิจการภายใน

ผมรีบตอบรับคำชวนนั้นทันที

 

มหาวิทยาลัยแมรี่ วอชิงตัน (University of Mary Washington – UMW) หรือที่เรียกกันในหมู่คนอเมริกันแถบนั้นว่า “แมรี่วอช” (Mary Wash) ตั้งอยู่ที่เมืองเฟรเดอริกสเบิร์ก (Fredericksburg) รัฐเวอร์จิเนีย อยู่ห่างจากเมืองหลวงของประเทศนี้ราว 100 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาขับรถ 1 ชั่วโมงครึ่ง

เป็นสถาบันอุดมศึกษาขนาดเล็ก มีนักศึกษา 4 พันกว่าคน

เท่ากับว่ามีนักศึกษาปริญญาตรีชั้นละ 1 พันคน ที่เหลือ 300-400 คนก็คือนักศึกษาระดับปริญญาโท

เทียบไม่ได้เลยกับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ซึ่งมีนักศึกษาถึง 4-6 หมื่นคน (ชั้นปีละ 8 พันคนถึง 1 หมื่นกว่าคน)

แมรี่วอช เป็นสถาบันที่ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2451 (ค.ศ.1908) สภาประชาชนของรัฐเวอร์จิเนียกำหนดให้เป็น “โรงเรียนสตรีของรัฐแบบการศึกษาทั่วไปและอุตสาหกรรม”

ต่อจากนั้นก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนได้เป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ.2548 หรือ 11 ปีก่อน

ในอเมริกา เขาไม่เรียกตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยว่าอธิการบดี (Rector) แบบอังกฤษ แต่เรียกว่า President หรือประธาน

ต่อไปนี้ผมก็จะเรียกว่าประธานมหาวิทยาลัย

 

ในการกล่าวปราศรัยของประธานมหาวิทยาลัยวันนั้น (17 สิงหาคม) ผมเห็น 2 สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือ

1. บรรยากาศของงาน

และ 2. ทิศทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยของผู้นำ

เรื่องแรก การปราศรัยครั้งนี้ช่างมีบรรยากาศของสังคมประชาธิปไตยที่น่าสนใจมาก

ทุกคนดูเท่าเทียมกัน ไม่มีระบบและลีลาเจ้าขุนมูลนาย

ไม่มีท่าทีประจบเอาใจผู้บริหารหรือยืนกุมมือ

ห้องประชุมไม่มีอะไรตกแต่งเป็นพิเศษ ที่ต้องใช้งบฯ เพิ่ม

ไม่มีพิธีรีตองให้เสียเวลา ทุกอย่างเรียบง่าย เป็นกันเอง

แต่ก็เป็นการเป็นงานมาก

ในห้องประชุมซึ่งจุคนได้ราว 600 ที่นั่ง บนเวทีและด้านหน้าเวทีไม่เห็นเจ้าหน้าที่คนใดมาคอยดูแลเอาใจใส่อะไร เหมือนควบคุมความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย

ไม่มีคณะผู้บริหาร เช่น รองประธาน ผอ. คณบดีและรองมายืนรอต้อนรับ

ไม่มีป้าย ไม่มีโพเดียม มีเพียงไมโครโฟนวางบนโต๊ะหน้าเวที

ใกล้จะถึง 10 โมง คณาจารย์และหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ทยอยกันเดินเข้าไปหาที่นั่ง

ทุกคนแต่งตัวตามสบาย ไม่มีใครสวมชุดหรู หรือใส่สูท

ไม่มีอะไรเกี่ยวกับศาสนาหรือการเมือง ประเภทโต๊ะหมู่บูชา รูปปั้นศาสดา หรือรูปถ่ายของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีโปสเตอร์หรือธงใดๆ

ไม่มีกระเช้าดอกไม้วางบนโต๊ะไหน หรือกระถางดอกไม้วางตามจุดต่างๆ

ไม่มีพิธีกรสาวสวยหรือหนุ่มหล่อยืนถือไมค์รอเวลา

ดูท่าจะไม่มีใครรอยืนขึ้นกล่าวรายงาน ไม่มีอะไรดูพิเศษจากวันอื่นๆ

สรุป มหาวิทยาลัยไม่ต้องเพิ่มงบฯ อันใดหรือสั่งให้ใครทำงานพิเศษใดๆ

ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นบางสังคม รูปแบบของงานคงต้องอลังการเต็มที่ตามคำสั่งหรือการเอาใจ

 

10 โมงตรง ผู้คนยังคุยกันภายในห้องประชุม บุรุษหนึ่งที่นั่งแถวหน้าปะปนกับคนอื่นๆ ก็ลุกขึ้นเดินขึ้นไปบนเวที คว้าไมค์ ไม่มีเสียงปรบมือ ไม่มีใครลุกขึ้นยืน

นั่นคือประธานมหาวิทยาลัย ดร.ทรอย ดี. เพโน่ (Troy D. Paino) อายุ 55 ปี เขาหันกลับมาหาคนนั่ง แล้วทักทายว่า “อรุณสวัสดิ์ครับ”

เมื่อเสียงพูดคุยกันยังไม่หมดไปในหลายๆ ส่วน เขาก็กล่าวสวัสดีซ้ำอีกครั้ง

คราวนี้ เสียงเงียบลงทั้งห้อง

ผมหันไปมองรอบๆ ห้องประชุม มีคนบนเวทีเพียงคนเดียวที่ใส่สูท ผูกเน็กไท นอกนั้นแต่งตัวตามสบายแบบมาทำงานทุกๆ วันในหน้าร้อน

เห็นประธานถือไมค์ พูดพร้อมกับเดินไปมารอบห้อง

ก็เข้าใจได้ว่าท่านพยายามทำให้การปราศรัยครั้งนี้เป็นกันเอง ไม่ต้องเป็นทางการ จึงไม่ใช้โพเดียม

และเมื่อท่านพูดจบ 1 ชั่วโมง ทุกคนปรบมือยาวๆ แล้วก็แยกย้ายออกจากห้องประชุม

ประธานก็คุยกับคนนั้นคนนี้ที่เข้าไปหาอย่างเป็นกันเอง

ไม่มีใครยืนกุมกางเกง หรือทำท่านอบน้อมเข้าไป

ไม่มีรองหรือ ผอ. หรือคณบดีคนไหนยืนล้อมห่างๆ ราวกับแสดงความเป็นลูกน้องหรือพวกเดียวกัน ประเภทไปไหนต้องไปเป็นกลุ่ม มีหัวหน้า มีลูกน้องคอยเดินตาม

ดร.เพโน่เข้ามาบริหารที่นี่เข้าสู่ปีที่ 3 หลังจากเป็นประธานมหาวิทยาลัยทรูแมน สเตต ที่เมืองเคิร์กสวิลล์ รัฐมิสซูรีมาเป็นเวลา 6 ปี ข่าวว่าเหนื่อยมาก ผลักดันงานอย่างหนัก เลยมีคนชวนมาสร้าง UMW

 

เรื่องที่สอง หัวข้อหลักของการพูดวันนี้คือ ทิศทางการศึกษาของ UMW

ดร.เพโน่กล่าวว่า งานมหาวิทยาลัยเป็นงานที่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ทำกันเป็นปกติ เหมือนงานทั่วๆ ไป แต่สำหรับเยาวชนคนหนึ่งและครอบครัวของเขา ช่วงเวลา 4 ปีนั้นสำคัญต่อชีวิตอนาคตของคนคนนั้นและครอบครัวนั้นอย่างมาก

ภารกิจของงานการศึกษาจึงยิ่งใหญ่เพราะนี่เป็นงานสร้างคน สร้างครอบครัว และงานสร้างประเทศในระยะยาว

เขาเตือนว่าอย่าลืม UMW เป็นสถาบันที่มีจุดมุ่งหมาย 6 ข้อ เรียกว่า Aspire to achieve ASPIRE นั่นคือ

1. Accountability คือความรับผิดชอบในการทำงาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

2. Scholarship คือความเป็นวิชาการ แสวงหาความรู้และความจริงด้วยสติปัญญา

3. Personal and Institutional Integrity หมายถึงการมีคุณธรรมทั้งบุคคล, หน่วยงานและสถาบัน

4. Inclusive Excellence คือมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ ด้านทั้งของส่วนตัวและองค์กร

5. Respect for Civility and Equality คือเคารพสิทธิเสรีภาพ-ความเสมอภาคของบุคคล-สังคม

และ 6. Engagement คือทุกๆ คนเข้าร่วมในกิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยและสาธารณะ และช่วยกันปรับปรุงส่วนรวมคนละไม้คนละมือ

ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าคมก็คือ ดร.เพโน่เสนอว่าขอให้ทุกๆ คนในสถาบันแห่งนี้ได้ช่วยกันสร้างมหาวิทยาลัย ก็คือ สละเวลาสักนิด ถ้าพบกับผู้ปกครองและนักเรียนที่มาเยี่ยมเยือนโรงเรียน หรือเขาเดือดร้อน เข้ามาขอข้อมูล ขอได้ให้ความเอาใจใส่

ช่วยตอบคำถามเขาให้มากๆ เพราะเขาเป็นแขกของเรา

เขาไม่รู้จักสถานที่ต่างๆ ให้เขารู้สึกว่าเจ้าของบ้านอบอุ่น และมีใจเอื้อเฟื้อ ถามอะไรก็มีคนเต็มใจช่วยดูแล

ทั้งนี้เพราะครอบครัวอเมริกันให้ความสำคัญกับการพาลูกหลานไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อนตัดสินใจสมัครเข้าเรียนอย่างมาก

เพราะแต่ละสถาบันเขามีความเป็นอิสระในการรับนักศึกษาเข้าเรียน โดยไม่มีการสอบเรียงลำดับคะแนนเป็นคณะๆ แบบบ้านเรามานานแล้ว

ประธานมหาวิทยาลัยพูดสั้นๆ เพียงเท่านี้ แต่ผมคิดว่าความหมายยาวไกล เพราะเขาคงเห็นแล้วว่าผู้ปกครองและนักเรียนจะตัดสินใจเรียนที่ไหน

เหตุผลหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เจ้าของบ้านต้อนรับผู้มาเยือนอย่างไร

และข้อมูลหลายๆ อย่างที่ได้ฟังจากคนในพื้นที่ ที่ไม่มีในหนังสือแนะนำและชวนคนเข้าเรียน

 

ในประเด็นสำคัญที่สุดของการพูดวันนี้คือ ปรัชญาของการศึกษา

ดร.เพโน่ตั้งข้อสังเกตว่า 60 กว่าปีที่ผ่านมา โลกของเราหันไปให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีและวิชาชีพมากขึ้นเป็นลำดับ

เริ่มตั้งแต่ความสำเร็จด้านอวกาศของสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ.2500 (ที่ทำให้สหรัฐต้องไล่กวด)

คำปราศรัยของประธานาธิบดีเรแกนในปี พ.ศ.2526 ที่ว่าการศึกษาในสหรัฐเข้าสู่ภาวะวิกฤต

รายงานในปี พ.ศ.2550 คะแนนการสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนสหรัฐตามหลังนักเรียนในประเทศอื่นๆ มาก

ติดตามด้วยสุนทรพจน์ประจำปีของประธานาธิบดีโอบามาในปี พ.ศ.2556 ที่ว่า รัฐควรให้ทุนสนับสนุนแก่สถาบันการศึกษาที่สนับสนุนโครงการ STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) และส่งผลให้เกิดการออกกฎหมายสนับสนุนโครงการดังกล่าวในปีต่อมา ฯลฯ

นั่นคือทิศทางของประเทศที่เด่นชัดมากขึ้นในห้วงกึ่งศตวรรษเศษที่ผ่านมา เป็นทิศทางของสายเทคโนโลยีและวิชาชีพ (Technological and Vocational Trends)

และทิศทางดังกล่าวทำให้ผู้คนมองโลกและสังคมสมัยใหม่ด้วยเลนส์ดังกล่าวมากขึ้นๆ หันไปให้ความสำคัญมากขึ้นๆ

ดร.เพโน่ออกความเห็นทันทีว่า แต่นี่ไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเทคโนโลยีและทักษะในวิชาชีพนั้นมีข้อจำกัดอย่างน้อย 3 ข้อคือ

1. มีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ต้องเรียนรู้ไล่ตามให้ทันอยู่แล้วตามธรรมชาติ

2. ความรู้ในสาขาดังกล่าวไม่อาจลดปัญหาสำคัญของสังคมลงไปคือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

และ 3. ไม่อาจอธิบายให้ผู้คนได้เข้าใจปัญหาทรัพยากร และการตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในสังคมที่มีผลต่อชีวิตและการดำรงอยู่ของสังคมได้

การศึกษาที่ถูกต้องสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งหมดคือการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (ที่รวมกันเรียกว่า Liberal Arts Education) ต่างหาก

 

ดร.เพโน่ถามว่า “หากเราไม่เรียนการเมือง เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลตัดสินใจอย่างไร ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่ และนโยบายและการตัดสินนั้นมีผลอย่างไรต่อสังคม”

“หากเราไม่ศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เราจะเข้าใจความเป็นมาของปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อปัจจุบันอย่างไร ปัญหาเหล่านั้นเปลี่ยนไปมากี่ครั้ง และสังคม-วัฒนธรรมและผู้คนได้รับผลแบบไหน”

“หากเราไม่ศึกษาเศรษฐศาสตร์และภูมิศาสตร์ เราจะรู้ได้อย่างไรเกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆ ที่เรามี และกายภาพแต่ละด้านที่กำหนดสังคมและระบบการผลิต” ทำไมสินค้ามีราคาลดลง ทำไมฝนฟ้าจึงรุนแรงมากขึ้น

และ “หากเราไม่ศึกษาภาษาและวัฒนธรรม เราจะเข้าใจวิธีการใช้คำพูดที่บิดไปมาได้ไหม” ฯลฯ

และในภาพรวม หากไม่ศึกษา LAE – มนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คนเราจะเข้าใจปัญหา ลักษณะ ที่มา และผลกระทบของปัญหาต่างๆ ในสังคมที่กล่าวมาได้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร

 

ดร.เพโน่ย้ำว่า ภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาคือผลิตคนมีความรู้เข้าใจปัญหาต่างๆ ของสังคมหลายๆ ด้าน แล้วออกไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เขามองเห็นและไปสร้างอนาคตของพวกเขา

ประธานมหาวิทยาลัยยังได้อ้างถึงอุดมการณ์ในคำประกาศอิสรภาพของประเทศ ว่านั่นคือสิทธิของประชาชนขั้นพื้นฐาน ท่านเห็นว่าแน่นอน คนจบมหาวิทยาลัยต้องออกไปหางานทำ ต้องมีความรู้ในด้านเทคโนโลยีและวิชาชีพ แต่จะต้องมีความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย

เพราะหากไม่รู้ บัณฑิตก็จะไม่สามารถเข้าใจปัญหารอบตัว และไม่อาจผลักดันให้สังคมเปลี่ยนได้

นี่คือสาระสำคัญของประธานมหาวิทยาลัยที่ต้องการบอกให้ทุกๆ คนผลักดันทุกๆ วิชาและการศึกษาโดยรวมไปสู่จุดนั้น นั่นคือใช้สติปัญญาความรู้ไปแก้ไขปัญหาสังคมและสร้างสังคมใหม่

 

ผมคิดว่านี่เป็นข้อเสนอที่เข้มข้นมาก

ถามเพื่อนและอาจารย์คนอื่นๆ รอบๆ ว่านี่เป็นทัศนะส่วนใหญ่หรือไม่ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ

พวกเขาตอบว่ายังถกเถียงกันอยู่ แต่คนคิดแบบนี้ก็มีเยอะ เพียงแต่คนนี้พูดชัดเจนมากๆ ว่า การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์-วิทยาศาสตร์คือเป้าหมายสำคัญของบัณฑิต

มิน่า เขาจึงเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยด้านมนุษยศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (A Liberal Arts University)

สถาบันนี้จึงไม่มีคณะที่เน้นหนักด้านวิชาชีพ เช่น แพทย์ หรือสถาปนิก วิศวกร หรือบัญชี หรือเกษตร แต่ ดร.เพโน่ก็ย้ำในตอนจบว่า เราสร้างศูนย์การหางานและพัฒนาวิชาชีพก็เพื่อให้บัณฑิตเตรียมออกหางานให้ได้

เป็นการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้และการใช้สติปัญญาจากการเรียนมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือวิชาชีพ แต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องมนุษย์และสังคมต้องมาก่อน

นี่คือการโต้กันของ 2 มุมมองการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีมานานครึ่งทศวรรษ

และยังจะเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันต่อๆ ไป