กรองกระแส / รวมศูนย์ พลังดูด บ่อนเซาะ ‘ประชาธิปัตย์’ สร้างพลังการเมือง

กรองกระแส

 

รวมศูนย์ พลังดูด

บ่อนเซาะ ‘ประชาธิปัตย์’

สร้างพลังการเมือง

ม่มีอะไรที่จะสะท้อนถึงยุทธวิธี “แยกกันเดิน รวมกันตี” อันสนองต่อยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจได้ดีเท่ากับบทบาทและการเคลื่อนไหวของ “พลังดูด”
1 อย่างที่เห็นผ่านกรณีของนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข และพวก
ขณะเดียวกัน 1 อย่างที่เห็นผ่านกรณีของนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และกรณีของนายสกลธี ภัททิยกุล
ถามว่าทั้งหมดนี้เป็นการตระเตรียมเพื่ออะไร
คำตอบก็คือ เป็นการตระเตรียมเพื่อสะสมกำลังในทางการเมืองเพื่อสร้างความพร้อมก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
เป้าหมายแรก พุ่งเป้าไปยังพรรคเพื่อไทย
เป้าหมายหลัง พุ่งเป้าไปยังพรรคประชาธิปัตย์
เพราะว่าในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่มีโอกาสจะเป็นพรรคใหญ่ เป็นพรรคการเมืองที่มีฐานการสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวางและใหญ่โต
ทางหนึ่ง จึงต้องดึงเข้าเป็นพวก ขณะเดียวกันหากดึงเข้าเป็นพวกไม่ได้ก็จำเป็นต้องบ่อนเชาะ บดขยี้และทำลาย

ทำไมจึงพุ่งเป้า
ไปประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์แม้ว่าจะมีความพยายามชูธงผืนที่ต่อต้านพรรคเพื่อไทยผ่านการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้งอก่องอขิง
ในเบื้องต้นมีความพยายามจะเข้าไปแย่งชิงการนำ
เห็นได้จากการหวนกลับไปเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของบรรดาแกนนำ กปปส. และจะอาศัยโอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการเอาคนของตนเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค
แม้แผนนี้จะหยุดชะงักและเงียบงันในเบื้องต้น แต่เมื่องวดเข้าๆ ก็มีความจำเป็นต้องเร่งบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยผ่านกลไกของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่
ขณะเดียวกันก็ทำสงครามสั่งสอนผ่านการดูดเอาคนของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่นายสกลธี ภัททิยกุล กระทั่งนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
เท่ากับส่งสัญญาณว่า ใครยอมจำนนก็จะมอบตำแหน่งให้
เท่ากับส่งสัญญาณว่า หากไม่ยอมจำนนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในพรรคประชาธิปัตย์จะต้องตามมาอย่างแน่นอน
พรรคประชาธิปัตย์ต้องเล่นบทเดียวกันกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ทิศทางพลังดูด
เท่ากับเปิดโปงตัวเอง

อัตราเร่งในการใช้พลังดูดไม่ว่าจะผ่านการเคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานของบางกลุ่มทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านการมอบตำแหน่ง มอบบทบาทให้กับบางคนจากพรรคประชาธิปัตย์
1 มีผลในการสร้างฐาน สร้างกำลังในทางการเมืองให้กับบางพรรค
1 กระบวนการของพลังดูดก็ทำให้มองเห็นอย่างเด่นชัดถึงกระบวนการของการสร้างพรรคการเมืองในวิถีเดียวกันกับอำนาจเผด็จการยุคก่อน
ไม่ว่าพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ไม่ว่าพรรคชาติสังคม ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ว่าพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่าพรรคเสรีธรรม ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่าพรรคสามัคคีธรรม ของ รสช.
1 กระบวนการสร้างพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจไม่เพียงแต่จะมีส่วนในการทำลายล้างพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังทำให้แผนสมคบคิดแต่อดีตเริ่มมีความแจ่มชัดเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะรัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ว่าจะรัฐประหารเมื่อปี 2557
คนที่ได้รับความไว้วางใจไม่เพียงแต่เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำอยู่ใน กปปส.
ในอีกด้านจึงเผย “โครงสร้าง” ของขบวนการตาม “แผนสมคบคิด” ออกมา

ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์
สืบทอดอำนาจการเมือง

ยิ่งมีการเคลื่อนไหวใช้ “พลังดูด” อย่างโจ่งแจ้งโดยไม่คำนึงถึงประกาศและคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นประกาศฉบับที่ 57/2557 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งฉบับที่ 53/2560
เห็นเด่นชัดว่า ทุกอย่างเพื่อต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง
ไม่เพียงแต่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือ ไม่เพียงแต่มีประกาศและคำสั่งจากการรัฐประหารเป็นเครื่องมือ
หากยังพร้อมทำทุกวิธีการโดยไม่คำนึงถึงกฎกติกาที่ประกาศและบังคับใช้
หากยังพร้อมทำทุกวิธีการแม้กระทั่งสร้างความปั่นป่วน ระส่ำระสาย อันอาจจะนำไปสู่ความอ่อนแอของมิตรซึ่งใกล้ชิดอย่างพรรคประชาธิปัตย์
ทุกอย่างล้วนเพื่อ “ชัยชนะ” และเพื่อการสืบทอด “อำนาจ” ทางการเมือง