สำนวนโบราณล้านนา ‘กิ๋นเข้าจ๋างปาก กิ๋นหมากจ๋างปู๋น’ สะท้อนอะไร?

กิ๋นเข้าจ๋างปาก กิ๋นหมากจ๋างปู๋น

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กิ๋นเข้าจ๋างปาก กิ๋นหมากจ๋างปู๋น”

แปลว่า “กินข้าวจืดปาก กินหมากจืดปูน” คือ กินข้าวไม่อร่อยเพราะปากจืด กินหมากไม่อร่อยเพราะปูนก็จืด

สำนวนโบราณล้านนานี้สะท้อนให้เห็นว่า คนล้านนากินอยู่สองอย่าง คือข้าว (และกับข้าว) กับ เคี้ยวหมากเป็นกิจวัตร

ตามธรรมเนียมโลก อาหารจะมีรสชาติดี ของขบเคี้ยวจะอร่อยก็ต่อเมื่ออยู่ในยามปกติสุข เมื่อใดถึงคราวทุกข์ ไม่สบายใจ เบื่อหน่าย ท้อแท้ เซ็ง เครียด หรือกระทั่งเจ็บป่วย อาหารที่ว่าขึ้นชื่อก็ดูเหมือนจะจืดชืด ของขบเคี้ยวยามว่างที่เคยชอบก็ไร้รสชาติ

แต่สำนวนนี้ คนล้านนาใช้เปรียบเปรยความทุกข์ของคู่รักชาย-หญิงโดยเฉพาะ หากเยื่อใยที่มีต่อกันจืดจางลง ถึงคราวนั้นกินอะไรก็ไม่อร่อยเหมือนเดิมแล้ว

เรื่องเล่าที่เป็นธรรมดาของผัวเมีย ที่จำเขามาเล่าเป็นตัวอย่าง “กินข้าวจืดปาก กินหมากจืดปูน” มีดังนี้

ผัวเมียคู่หนึ่ง ยามข้าวใหม่ปลามัน ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ตามอกตามใจกัน ชีวิตคู่หวานชื่นมื่นปานน้ำผึ้งเดือนห้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ทำนอง

วันหนึ่ง

เมีย : ช่วยซักผ้าให้หน่อยนะ วันนี้รีบ

ผัว : เห็นหน้าฉันมีตรา “โอเรียนเต็ล ดรายคลีน” ติดอยู่หรือไง

อีกวัน

เมีย : น้ำในห้องน้ำหยดนะที่รัก ช่วยจัดการให้หน่อย

ผัว : รถฉันไม่มีตรา “การประปานครหลวง” นะ เธอไปตามช่างมาทำสิ

วันถัดมาอีก

เมีย : ไฟกะพริบ ช่วยเปลี่ยนหลอดไฟให้หน่อยนะ

ผัว : นี่ ฉันไม่มีตรา “การไฟฟ้านครหลวง” นะ

หลายวันต่อมา

ผัว : ใครมาทาสีรั้วบ้านให้เธอ

เมีย : ช่างเอก

ผัว : หมดตังค์ไปเท่าไร

เมีย : เขาไม่คิดตังค์

ผัว : ของฟรีไม่มีในโลกหรอก

เมีย : ใช่ เขาให้ฉันเลือก เป็นขอเอาฉันทีนึง หรือไม่ก็ขอกาแฟแก้วนึง

ผัว : เธอชงกาแฟให้เขาสิท่า

เมีย : เธอเห็นตรา “สตาร์บัคส์” อยู่ในบ้านนี้บ้างไหม