ต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพ หรือคนไทยถีบตัวเองออกจากจุดนั้น?

ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังร่วมกับกระทรวงแรงงานในการไล่กวาดล้างจับกุมชาวต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยกันอย่างแพร่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ทุกวันนี้เราในฐานะผู้บริโภคอาจไม่รู้ว่าอาหาร เครื่องดื่มและขนมผลไม้ต่างๆ ที่เราซื้อกินกันตามท้องถนน ไม่ได้ขายโดยคนไทย

ยิ่งกว่านั้น หลายคนยังไม่ทราบว่า ตามกฎหมายแล้ว คนต่างด้าวไม่มีสิทธิ์ในการประกอบอาชีพเหล่านั้น!

จากพระราชบัญญัติคนต่างด้าว พ.ศ.2522 ในส่วนบัญชีท้ายมีการกำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ นอกจากอาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอย งานขายของหน้าร้านแล้ว

ยังรวมไปถึงงานขับขี่ยานยนต์ งานเจียระไนเพชรพลอย งานตัดผมเสริมสวย งานทอผ้าด้วยมือ ทำเครื่องดนตรีไทย งานทำเครื่องทอง เงิน นาก บาตร พระพุทธรูป งานทอเสื่อ ทำหมวกทำร่ม งานนายหน้า งานในวิชาชีพวิศวกรรม-โยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ เป็นต้น

แต่ก็มีข้อยกเว้นผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ 2 อาชีพ คือ 1.งานกรรมกร และ 2.งานบ้าน ซึ่งกรณีนี้เคยมีเป็นมติคณะรัฐมนตรีออกมา

 

นายอารักษ์ พรหมมณี อดีตอธิบดีกรมการจัดหางาน มองว่าสถานการณ์คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยยังไม่รุนแรง และเชื่อว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ที่ต้องใช้แรงงานระดับล่างเข้ามาทำงานในบางประเภท จึงถือว่าอยู่ในแนวโน้มที่ยังไม่มีนัยยะสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดวิกฤต

เมื่อถามว่าจริงๆ แล้วคนไทยเลือกงานหรือคนต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทย?

นายอารักษ์ชี้ว่าคนไทยไม่ได้เลือกงาน แต่เลือกสถานะความเป็นอยู่ หรือเรียกว่าคนไทยมีการศึกษามากขึ้น ดังนั้น คนไทยจึงไม่อยากทำงานในระดับล่างๆ เพราะการศึกษา การดำรงชีวิต สภาพแวดล้อมทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเปลี่ยนไป

แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคนไทยไม่อยากเห็นคนอื่นมาทำงานระดับล่างเหล่านั้น โดยเป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ ที่สะท้อนออกมาถึงความเป็นชาติ ความเป็นวัฒนธรรมของชาติที่ยังมีอยู่

สำหรับการที่กระทรวงแรงงานไปไล่จับกุมคนต่างด้าวที่ประกอบอาชีพสงวนร่วมกับตำรวจนั้น เป็นการทำตามกรอบกฎหมาย ไม่ใช่มิติเชิงสังคมหรือเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การทำงานของคนต่างด้าวที่ถูกต้องนั้นต้องขอใบอนุญาตประกอบอาชีพและสามารถทำได้แค่อาชีพที่กำหนดไว้ ดังนั้น แม้แรงงานส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าประเทศมาอย่างถูกต้อง แต่มักจะมาลักลอบทำงานที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้รับอนุญาต

แต่ถ้าในอนาคต มีเหตุผลจำเป็นที่คนไทยไม่สามารถประกอบอาชีพสงวนต่อไปได้แล้ว รูปแบบการแก้ไขปัญหาก็ต้องเปลี่ยนมาพิจารณาในมิติเชิงสังคมและเศรษฐกิจ

โดยต้องไปพิจารณาว่าการทำงานในลักษณะนี้ จำเป็นต้องให้คนต่างด้าวทำหรือไม่ และต้องมีการปรับหรือแก้ไขหลักเกณฑ์อย่างไรในอนาคต

 

นายอารักษ์ ระบุว่า สถานการณ์การจับกุมคนต่างด้าวที่ประกอบอาชีพหวงห้ามร่วมกับตำรวจในขณะนี้ ยังไม่ครอบคุมทุกพื้นที่

แต่หากประชาชนและท้องถิ่นร่วมกันสอดส่อง ต่อไปในอนาคตระยะยาว ก็อาจมีการกระจายอำนาจให้แต่ละท้องถิ่นดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือเปล่าที่เราจะต้องซื้อของจากคนเหล่านั้น และต้องไม่ลืมว่าการที่คนต่างด้าวเข้ามาทำงานประเภทนี้ ได้ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีรายได้ต่างๆ ด้วย

ดังนั้น ระยะสั้นก็คงบังคับใช้กฎหมายไปก่อน ระยะกลางคงต้องวางมาตรการต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือจากพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนระยะยาว คงต้องดูว่าจะสามารถผ่อนปรนให้คนต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพค้าขายในลักษณะเช่นนี้ได้หรือไม่ การจะขออนุญาตได้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และต้องพิจารณาว่าควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมา ประชาชนมักต่อว่าและสอบถามเข้ามายังภาครัฐว่า ทำไมถึงให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพสงวน ทางเจ้าหน้าที่ปล่อยปละเลยหรืออย่างไร พร้อมทั้งเป็นห่วงผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ จากการซื้ออาหารของผู้ค้าต่างด้าวแล้วเกิดมีปัญหาเรื่องสุขอนามัยตามมา

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงแรงงานมองว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป แต่สิ่งที่เป็นไปได้คือการปรับสภาพปัญหาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มากกว่า

 

ด้าน พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. มองว่า ปัจจุบัน คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาประเทศไทยในอัตราสูงมาก นอกจากประชากรของประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา แล้ว ยังมีประเทศรอบนอกอีก เช่น เวียดนามหรือเอเชียใต้

โดยส่วนหนึ่งเข้ามาประกอบอาชีพถูกต้อง แต่บางส่วนได้อาศัยช่องว่างเข้ามาประกอบอาชีพที่คนไทยไม่ค่อยสนใจจะทำ จึงได้สั่งการให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทุกจังหวัดดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ซึ่งนอกจากคนต่างด้าวบางส่วนจะเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยแล้ว ยังตรวจพบที่ตลาดคลองเตยว่าการเตรียมวัตถุดิบที่จะจำหน่ายให้ผู้บริโภคนั้นไม่มีคุณภาพและไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นอันตรายต่อประชาชนคนไทย อาทิ มีการย้อมสี และมีการวางวัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหารบนพื้นถนน เป็นต้น

บางบ้านที่เข้าไปตรวจค้น พบว่ามีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ 11 คนในบ้านหลังเดียวกัน มีการจัดทำเป็นขบวนการ มีนายทุนเป็นคนเวียดนามเหมือนกัน แต่อาศัยในประเทศไทยนานแล้ว และสามารถพูดภาษาไทยได้ จึงพยายามดึงเพื่อนเข้ามาช่วยเข็นรถออกไปขาย ซึ่งทาง สตม. ได้เพิกถอนการอนุญาตเข้าเมืองและส่งตัวกลับทันที

ส่วนบางกรณีที่มีการลักลอบเข้าเมือง โดยไม่ผ่าน ตม. ก็ยิ่งต้องระวังเป็นอย่างสูง เนื่องจากประเทศไทยมีพรมแดนที่ยาวมาก โอกาสที่ชาวต่างชาติจะเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองจึงมีอยู่บ้าง

 

ส่วนที่เข้ามาโดยถูกต้อง แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต เช่น อนุญาตให้อยู่ 30 วัน แต่อยู่เกินไป 60 วัน หรือ 90 วัน ก็มีเยอะและถูกจับกุมได้เป็นจำนวนมาก

คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งจะเป็นอาชญากรข้ามชาติที่หลบหนีคดีจากประเทศของตนเอง เพื่อมาซ่อนตัวในประเทศไทย เนื่องจากพวกเขาสามารถถือพาสปอร์ตเล่มเดียว แล้วเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้เลยในฐานะนักท่องเที่ยว และได้สิทธิ์อยู่อาศัยอย่างน้อยประมาณ 30 วัน โดยไม่ต้องมีวีซ่า

ดังนั้น จะมีการตรวจสอบประเด็นนี้ตามนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาหลบซ่อนตัวหรือหลบหนีเข้าเมืองมาแย่งอาชีพของคนไทยอีกไม่ว่าระดับไหนก็ตาม

ตอนนี้ หน่วยตรวจคนเข้าเมืองได้ขยายไปแทบทุกจังหวัดแล้ว และในทุกๆ เดือน จะมีการระดมกำลังกวาดล้างทั่วประเทศเพื่อกดดันไม่ให้คนที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเราเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีพรมแดนภาคพื้นดินติดต่อกัน และมีช่องทางออกทะเลด้วย

ดังนั้น การเข้าออกประเทศไทยจึงเป็นไปได้ทุกทิศทาง ทั้งทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศ ถ้าเราไม่ดำเนินการกวาดล้างผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายหรือคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพ ซึ่งสงวนไว้สำหรับคนไทย หรือปล่อยให้เรื่องราวคงอยู่เช่นนี้

ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่สำคัญคือด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ