อภิญญาตะวันออก : ปมสลาย-ลัทธิเสรีนิยมใหม่กัมพูชา “การปะทะของขั้วความคิด”

พอได้ยินคำว่า “เสรีนิยมใหม่” เท่านั้น ฉันถึงกับตื่นตะลึงในพลวัตแห่งใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและยุคสมัย พลัน การหวนรำลึกถึงในยุคเสรีนิยมใหม่ ซึ่งขณะนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2513 โดยรัฐประหารโดยกลุ่มนายทหารและพลเรือนจากรัฐสภา และกล่าวกันว่ามีสหรัฐหนุนหลัง

แต่ลัทธิเสรีนิยมที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ตามด้วยสงครามกลางเมืองที่พ่ายแพ้ต่อเขมรแดงที่มีจีนและสีหนุหนุนหลังอย่างสูญเสียยับเยินตลอด 5 ปีของความขัดแย้ง

โดยเฉพาะความรู้สึกต่อกระแสวัฒนธรรมใหม่ในกัมพูชาขณะนั้น ซึ่งก่ออิทธิพลอย่างมากต่อชาวเขมรพนมเปญ ที่เปิดรับกระแสวัฒนธรรมนี้จากตะวันตก และตกเป็นปมขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างเมืองและชนบทที่ก่อชนวนลุกลามมากขึ้นไปอีกตามมา เมื่อเขมรชนะปกครองประเทศ กล่าวหาชาวเมืองกรุงว่าเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ และมองประชาชนเป็นศัตรูจนเกิดระบอบทำลายล้างเผ่าพันธุ์

สำหรับฉัน การถวิลหายุคสาธารณรัฐ-เสรีนิยมใหม่กัมพูชาที่ล่วงมา 45 ปีนี้มีความหมายนักต่อการศึกษา ด้วยรู้สึกเสียดายว่าระบอบปกครองแสนสั้นเพียง 5 ปีนี้ได้กลายป็นเพียงประวัติส่วนย่อยของสมัยเขมรแดง (2518-2522) ที่มีการเก็บรวบรวมเอกสารอย่างเป็นระบบในนาม “ศูนย์เอกสารกัมพูชา” (DC-Cam)

แต่กลับไม่พบข้อมูลสาธารณรัฐกัมพูชาในทางตรงแต่อย่างใด

 

ตอนที่ประสบพบพานกับ “บันทึกนายพลคนสุดท้ายสมัยลอน นอล” ที่ถูกนอนอยู่บนชั้นในร้านหนังสือแห่งหนึ่งแถวลุมพินี ฉันนั้นถึงกับอึ้ง นึกไม่ถึงว่า

จู่ๆ การรอคอยบางอย่างก็มาถึง ในช่วงเวลาไล่ๆ กัน ที่ฉันก็ได้คืน Khmer Republic นิตยสารที่ก่อตั้งโดยลอง โบเร ฉบับพิเศษ (2516) ที่ช่วยฉายภาพโมเดิร์นแคมโบเดียยุคนั้นให้ชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะตรงภาคผนวกจดหมายเปิดผนึกในปี 2516 ของพระองค์มจะสีโสวัตถิ์ สิริมะตะ (ม.ร.ว.) ที่มีต่ออดีตกษัตริย์และประมุขแห่งรัฐ-เจ้าชายนโรดม สีหนุ

จดหมายฉบับนี้เขียนด้วยภาษาที่ไร้วรรณะแบบเจ้าของชาวเขมร เป็นที่น่าแแปลกว่า ทั้งสองเกิดในวังตำหนักหลวงแต่สื่อสารกันเป็นฝรั่งเศสมาแต่ต้น นอกจากจะเป็นภาดา-ลูกพี่ลูกน้องแห่งต้นสกุลที่ผลัดกันแย่งครองราชย์ ยังเป็นนักการเมืองที่ต่างกันด้วยกระบวนคิด

โดยการนั้น จดหมายฉบับนี้จึงเป็นเหมือนปูมของชนชั้น “เจ้านาย” ที่ต่างกันทางขั้วความคิด

สีโสวัตถิ์ สิริมะตะ ในแบบเสรีนิยม และนโรดม สีหนุ ในแบบราชานิยม

 

ถึง ภราดรของข้าพเจ้า (1)

หากจะทรงประทับนิ่งเพื่อประเมินสิ่งต่างๆ อย่างสงบสักนิด โดยเฉพาะประเด็นที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นสงครามและการรุกราน จนประเทศของพระองค์แห่งนี้กำลังจะย่อยยับอัปราชัยไปกว่านี้

พระองค์ควรตระหนักว่า การเป็น “ประมุขแห่งรัฐ” ที่ถูกปลดหนแล้วหนเล่า ด้วยเกียรติและความอ่อนน้อม แค่เพียงทรงยอมรับเอกฉันท์มติจากตัวแทนประชาชน ในฐานะที่ทรงช่วยเพื่อนร่วมชาติให้ต้องสูญเสียน้ำตาและความโชคร้ายมากมายเพียงนี้

ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนแต่กระจัดกระจายไร้ถิ่นฐาน แต่ที่มันเลวร้ายกว่านั้น คือการที่พระองค์ยังคงเปิดทางให้เวียดนามเหนือและเวียดกง เพราะทันทีที่ได้สัญญาณเห็นชอบจากพระองค์เมื่อ 5 ปีก่อน คนกลุ่มนี้ก็แทรกซึมล่วงหน้าอย่างลับๆ และรุกคืบไฟสงครามกับกัมพูชาประเทศของพระองค์

ทรงไม่เข้าใจหรือว่า ถ้าเวียดนามเหนือของพระองค์และเวียดกงสหาย ผู้วางระบบฝึกฝนสนับสนุนเขมรแดงอย่างเข้มข้นในการเคลื่อนไหวกิจกรรมในกัมพูชานี้เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า ไม่ได้ทำออกมาด้วยความรักจากพระองค์และพวกเวียดกงหรอกหรือ? ช่างฉลาดล้ำ แต่อันตรายนัก สำหรับฝ่ายตรงข้าม ผู้ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีเป้าหมายใหญ่กว่าคือ ทำให้กัมพูชากลายเป็นดาวเทียมของเวียดนามเหนือ

ดังนั้น มันจึงชัดว่า อะไรคือประโยชน์ของคนพวกนั้น แต่พระองค์ต่างหากที่ถูกทรยศ และมันจะเป็นความผิดของใครไปได้ นอกจากพระองค์ผู้ก่อสงครามอันเลวร้ายต่อมาตุประเทศ ที่กำลังเลือนหายไปจากแผนที่โลกใบนี้

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังเชื่อมั่นเสมอว่า อาจยังพอมีเวลาสำหรับการทบทวนและแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายไปกว่านี้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ ก็เพื่อปกปักรักษาประเทศของเราไว้ไปในทางที่เป็นไปได้ โดยหากจะยอมรับว่าทรงเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบต่อความบุพกรรมแห่งปัจจุบัน และการล่มสลายของสถาบันในสถาบันพระมหากษัตริย์

ตลอดจนความรับผิดชอบต่อการสูญเสียความเป็นกลางที่ทรงริเริ่มไว้ในสงครามอินโดจีน ที่แม้แต่ปัจจามิตรบางประเทศก็ยังรับไม่ได้ในข้อนี้

พระบาทสมเด็จนโรดม สุรามฤทธิ์ พระบิดาในพระองค์ และพระปิตุลาของข้าพเจ้านั้นเมื่อถึงแก่สวรรคตแล้ว ทรงล้มเหลวมิได้แต่งตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ และด้วยเหตุที่พระองค์ไม่อาจหวนคืนสู่บัลลังก์จากกรณี 5 ปีก่อน ค.ศ.1955 ที่ทรงลาออกจากฐานันดรกษัตริย์ และสาบานอย่างอุกฤษฏ์ว่าจะไม่หวนคืนสู่ตำแหน่งดังกล่าวอีกครา

สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับ 1946 ในข้อบังคับที่ 30 แห่งมกุฎรัฐสภาที่ทรงตราบัญญัติไว้ว่า “หากตำแหน่งดังกล่าวถึงกาลว่างลงภายใน 3 วัน ตามแบบอธิปไตยใหม่ ที่กำหนดให้ในกรณีที่รัชทายาทองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการในพระองค์อีกด้วย” ซึ่งพระองค์ก็คงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์อย่างง่ายดายแทนพระราชบิดา ด้วยความนิยมปรีดายังคงมีอยู่เวลานั้น

หากแต่ตามข้อบังคับของกฎหมายรัฐธรรมนูญเลขที่ 30-เอ ต่างหาก ที่ไม่ปกป้องพระองค์ ออกจากอำนาจโทสจริตที่ไม่ชอบธรรม นั่นก็คือ “กรณีที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้เป็นไปตามอธิปไตยใหม่แห่งมกุฎรัฐสภา ที่ควรดำเนินตามระยะเวลาที่ตราไว้ในกฎหมายตามมาตราที่ 30-เอ ในการแต่งตั้งองค์คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งถือเป็นข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ทว่ากลุ่ม “รอยัลโซเชียลิสต์แขฺมร์ยูท” หนึ่งในองค์กรทั้งหลายที่ทรงจัดตั้ง และออกมาประท้วงตามคำสั่งเพื่อเรียกร้องพระองค์กลับมารับตำแหน่ง “ประมุขแห่งรัฐ” ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ การติดอาวุธด้วยคำหลอกลวงที่ทรงออกอากาศก็ดี หรือการส่งข้อความเชิญองค์กรหลายฝ่ายในประเทศก็ดี ล้วนแต่พยายามแก้กฎรัฐธรรมนูญเดิม ในการสร้างตำแหน่ง “ประมุขแห่งรัฐ” ที่ว่าให้แก่พระองค์ซึ่งปรารถนาจะกลับมารับตำแหน่งคืน

และในที่สุด เพื่อสนองตอบความต้องการ รัฐสภาก็ผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2503 พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น “ประมุขแห่งรัฐ” ตำแหน่งที่ทำให้พระองค์ดำรงสถานะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปกติอย่างยาวนานในกาลต่อมา กระทั่งเกิดวิบากผลต่อมาในมีนาคม 2513 (2)

ซึ่งชัดเจนว่า ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้ทรงละเมิดอำนาจต่อส่วนบุคคลจำนวนมาก และมันได้หันกลับมาทำลายพระองค์และราชวงศ์ด้วยน้ำมือตนเอง

แต่ข้าพเจ้าก็ใคร่ที่จะให้เครดิตครั้งนี้ว่า “ทรงมีบุคลิกภาพที่ไม่มั่นคง” แม้แต่กลุ่มคนที่ทรงเรียกขานว่ามิตรสหาย และการดูถูกอย่างเป็นทางการที่จัดทำขึ้น

ในบทบรรณาธิการตีพิมพ์ใน “เลอ สังคม” ฉบับกันยายน 2509 ที่ทรงกล่าวว่า เขมรแดงคือพวกไร้ราคาและทรยศต่อประเทศ เป็น “เขมรเลว” ที่ต้องการทำลายประเทศให้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยแห่งเวียดนาม (3)

แต่พอปีถัดมา กลับไปก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่จีนปักกิ่ง ประเทศที่ครั้งหนึ่ง แม้แต่ “สมาคมเขมร-จีน” ก็ยังต้องการจะกำจัดทิ้งและถึงกับแถลงว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน-ที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์ และถืออำนาจบาตรใหญ่เหนือบูรณอธิปไตยกัมพูชา

————————————————————————————————————————–
(1) ลูกพี่ลูกน้อง
(2) 18 มีนาคม 2513 สีหนุประมุขแห่งรัฐถูกปฏิวัติขณะอยู่ในฝรั่งเศส
(3) ประกาศรับรองตนเองในปี 2488 และตามข้อตกลงเจนีวา 2497
สีโสวัตถิ์ สิริมตะและบุตรี เครดิต : kimedia