ค้นหา “พุทธมารดาปรัชญาปารมิตา” ผ่านวรรณกรรม-คำสอน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่จริงฝ่ายเถรวาทก็พูดถึงพระพุทธะจำนวนมากมาย มีระบุพระนามไว้ตั้ง 28 องค์ และมีในภัทรกัป หรือยุคนี้ 5 พระองค์

แม้จะมีการพูดถึงพระพุทธะมากมายไม่ต่างกับฝ่ายมหายาน กระนั้นในฝ่ายเถรวาท ก็ถือว่าพระพุทธะนั้นมีลักษณะแบบมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ในขณะที่ฝ่ายมหายานเน้นว่า พุทธะนั้นมีลักษณะแบบ “สภาวะ” มากกว่า

ฝ่ายมหายานที่เริ่มต้นในอินเดียเต็มไปด้วยหลักคิดที่เป็นนามธรรม พัฒนาจนไปสู่แนวคิดที่ซับซ้อน หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่สุดของฝ่ายมหายานคือ “ศูนยตา” หรือ “ความว่าง”

“ความว่าง” นี้เองที่ทางฝ่ายมหายานนับถือว่าเกี่ยวข้องกับ “ความเป็นพุทธะ” อย่างยิ่ง

คำสอนเรื่องศูนยตาปรากฏในพระสูตรมหายานหมวด “ปรัชญาปารมิตา” อันมีความหมายว่า “ปัญญาบารมี”

ปัญญาบารมีนี้เป็นบารมีสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ โดยผนวกเข้ากับมหากรุณา

ในบรรดาพระสูตรเรื่องปรัชญาปารมิตา “พระวัชรปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” (ฝรั่งนิยมเรียกสั้นๆ ว่า Heart Sutra) นับว่าแพร่หลายที่สุด เพราะมีความยาวไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษ พระภิกษุฝ่ายมหายานในทุกประเทศจึงนิยมใช้สวดท่องทำวัตรและพิธีกรรมต่างๆ

แม้จะยาวเพียงหน้ากระดาษเดียวแต่ลึกซึ้งยิ่งนัก นับถือกันว่าหากเข้าใจถ้อยความในพระสูตรนี้ ก็อาจลุถึงพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้

 

ตํานานต้นพระสูตรเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรเถระเจ้า (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาแบบเถรวาทหรือมโนทัศน์แบบหีนยาน) ถามพระพุทธองค์ว่า จะบำเพ็ญปัญญาบารมีอย่างไร

พระพุทธเจ้าไม่ตรัสตอบ ทรงเข้าสมาธิแล้วให้พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (สัญลักษณ์แห่งความกรุณาของพระพุทธะทั้งหลาย) เป็นผู้แสดงธรรมแทน

พูดแบบถอดสมการวรรณกรรมคือ ปัญญา (แบบหีนยาน คือมีหลักการที่ยึดไว้อย่างถูกต้องไม่เปลี่ยนแปลง) ถามความเป็นพุทธะว่า ปัญญาบารมีคืออะไร แต่พุทธะให้ “กรุณา หรือความรัก” ตอบว่าปัญญาคืออะไร

ให้ความรักตอบเรื่องปัญญานี่น่าสนใจมากๆ ครับ

พระอวโลกิเตศวรได้ตอบสิ่งชวนฉงายฉงน โดยการเริ่มต้นว่า “รูปคือความว่าง ความว่างคือรูป” และไล่เรียงเรื่อยไปว่า ขันธ์ 5 ก็คือความว่าง หมวดธรรมต่างๆ ที่เราเคยเรียนมา ไม่ว่าอะไรก็ตามล้วนเป็นความว่าง และเพราะทุกสิ่งเป็นความว่าง จึงไม่มีแม้แต่พระนิพพานหรือสังสารวัฏ

และเมื่อเข้าใจความว่างแล้วจึงปราศจากความวิปลาสและความกลัว เข้าถึงพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

สุดท้ายพระอวโลกิเตศวรได้มอบมนตร์แห่งปรัชญาปารมิตาว่า “คเต คเต ปรคเต ปารสังคเต โพธิ สวาหะ!” (ไป! ไป! ข้ามไปยังฝั่งโน้น ฝั่งโพธิ สวาหะ!)

 

ตํานานฝ่ายมหายานบางฉบับเล่าว่า พระภิกษุบางพวกได้ฟังพระธรรมคำสอนเรื่องนี้ถึงกับตกใจสิ้นสมปฤดี จนถึงตายก็มี เพราะไม่อาจรับคำสอนเช่นนี้ได้

ด้วยความสั้นกระชับแต่กินความไว้มาก จึงมีผู้อรรถาธิบายแนวคิดเรื่องความว่างไว้มากหลากแนว

แนวทางหนึ่งที่นิยมและดูจะสอดคล้องกับมติของฝ่ายเถรวาท คือ ความว่างในที่นี้มิได้แปลว่าปราศจากอะไรโดยสิ้นเชิง เพราะจะกลายเป็น “อุจเฉททิฏฐิ” คือเห็นว่าโลกนี้ขาดสูญ แต่จะอธิบายว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่แน่นอนไม่มีวันเปลี่ยนแปลงก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฐิอีกแบบ

แนวนี้อธิบายว่า ก็เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่มี “ตัวมันเอง” ดำรงอยู่โดยไม่ประกอบจากสิ่งอื่น ดังนั้น มันจึง “ว่าง” เพราะมันย่อมประกอบด้วยสิ่งอื่นนั่นเอง

แต่ผมจะไม่เข้าไปในข้อถกเถียงทางปรัชญาในเรื่องนี้มากนัก

 

ส่วนอีกแนวที่ผมชอบมากและเพิ่งได้เคยได้ยินได้ฟัง มาจากการตีความของวิจักขณ์ พานิช (เจ้าเก่า) ซึ่งอธิบายว่า ที่จริงแล้ว “ว่าง” ในที่นี้ คือว่างจากการกำหนดความหมายที่เราตั้งไว้ล่วงหน้า

เพราะความหมายเหล่านี้เองที่เราจะนำไปครอบทับ เบี่ยงเบนหรือชี้นำประสบการณ์ที่สดใหม่ของเรา

ความหมายของคำและแนวคิดทางศาสนา เช่น นิพพาน สังสารวัฏ การบรรลุ ความสุข ความทุกข์ ขันธ์ห้า ฌานสมาบัติ ฯลฯ ที่เราพยายามกอดความหมายที่ตายตัวไว้อย่างมั่นคง จนละเลยประสบการณ์จริงๆ หากไม่ตรงกับกรอบที่เรากำหนดไว้แต่แรก

ความว่างในที่นี้คือการตัดผ่านกรอบคิดอันตายตัวเหล่านั้นไปสู่ความเปิดกว้างอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือการปล่อยให้เกิดพื้นที่ “ว่าง” นั่นเอง

คำถามต่อมาคือ หากปราศจากการกำหนดนิยามหรือกรอบเกณฑ์แล้ว เราจะปฏิบัติหรือจะเดินไปในเส้นทางของเราอย่างไร

วิจักขณ์บอก พระสูตรนี้จึงใช้คำว่า “หัวใจ” (หฤทัย) ไง (นักวิชาการคิดว่า คำ “หัวใจ” หมายถึง เป็นแบบ “ย่อ” หรือสรุปใจความของพระสูตร แต่มิตรของผมตีความมากกว่านั้น) เมื่อเราละทิ้งความหมายหรือปัญญาในเชิงความคิดแล้ว เราจึงต้องปล่อยให้หัวใจหรือความรู้สึกนำทางเราไป

ในพระสูตรจึงไม่ได้บอกว่าเราต้องทำอะไร แต่พระอวโลกิเตศวรผู้เป็นความกรุณาของพุทธะทั้งหลายได้เพียงมอบถ้อยคำให้กำลังใจแก่เราในท้ายพระสูตรว่า “จงไปเถอะ จงไปเถอะ ไปฝั่งโน้นเถอะ ไปสู่ โพธิ (จิต) เถอะ เย่! (สวาหะ)” เพื่อให้เราภาวนาไว้ในใจของเราเสมอ

ปัญญาบารมีจึงเป็นเรื่องความกล้าหาญที่จะละทิ้งกรอบเกณฑ์ไปสู่การเปิดพื้นที่ “ว่าง” ของใจ เพื่อให้ประสบการณ์ทั้งหลายได้ผุดพลุ่งขึ้นและเรียนรู้มัน

ดังคำพูดของครูบาอาจารย์ว่า ความว่างเป็นที่เกิดของสิ่งทั้งหลาย หากปราศจากความว่างเสียแล้วสิ่งทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น

นี่คือการเปลี่ยนไปสู่ความเป็น “มหายาน” ในความหมายของการใช้มิติทางอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าความคิดเพราะมหายานเน้นความกรุณาซึ่งมิใช่เรื่องทางความคิด

ไม่ว่าการตีความของมิตรสหายท่านนี้ของผมจะผิดหรือไม่ก็ตาม แต่ความล้ำเลิศแห่งพระสูตรนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์มาอย่างยาวนานนับพันปี

ถึงกับนับถือเป็นบุคลาธิษฐานว่า ปรัชญาปารมิตานั้น คือ “พระพุทธมารดา”

เพราะคำสอนเรื่องความว่างนี้ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

 

ในบทสวดมนต์ของฝ่ายเซนนั้น เมื่อจะสวดถึงสายธรรมของเซนก็จะเริ่มต้นที่พุทธมารดาปรัชญาปารมิตาก่อนคณาจารย์ต่างๆ เพราะพระปรัชญาปารมิตาเป็น “ต้นธาตุต้นธรรม” อย่างแท้จริง

ส่วนปรัชญาปารมิตาฉบับที่ Edward Conze เป็นผู้แปล (ฉบับนี้เป็นฉบับที่อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เคารพมาก เพราะนอกจากความรู้ของผู้แปลแล้ว ผู้แปลยังมีศรัทธาลึกซึ้งต่อคัมภีร์นี้) ก็ขึ้นต้นด้วยการนมัสการ พระปรัชญาปารมิตา

ผู้ที่ศึกษาทางโบราณคดี คงคุ้นเคยกับประติมากรรมปรัชญาปารมิตาในศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งแพร่หลายมากในสมัยกษัตริย์ชัยวรมันที่ 7

ในสมัยนั้นมักปรากฏรูปเคารพชัยวรมันในแบบพุทธะและพระโพธิสัตว์หลากลักษณะ แต่ที่น่าสนใจคือ มีการสลักรูปพระราชมารดาของพระองค์ในแบบพระปรัชญาปารมิตาด้วย

ไม่ว่าชัยวรมันจะทำรูปเคารพเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางการเมืองเรื่องศาสนาหรือไม่ แต่การรู้เรื่องนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงแม่ของตนเองอย่างมาก

ผมเดาเอาเองแบบโรแมนติกว่า สำหรับชัยวรมันนั้น หากท่านเชื่อว่าตัวเองคือนิรมาณกายของพุทธะ มารดาผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูของท่านย่อมต้องเป็นนิรมาณกายของปรัชญาปารมิตาด้วย

สำหรับผมก็เช่นเดียวกัน แม้จะยังไม่เห็นตนเองเป็นพุทธะในบัดนี้หรือจะอีกกี่อสงไขย แต่หากวันใดที่ผมได้เข้าใจธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความว่าง “ไม่มีไป ไม่มีมา, ไม่มีเกิด ไม่มีดับ” ผ่านการมีชีวิตอยู่และการจากไปของแม่ (ซึ่งผมยังไม่เข้าใจจนถึงตอนนี้)

แม่ย่อมจะเป็นนิรมาณกายพุทธมารดาปรัชญาปารมี (ของผม) อย่างแน่แท้