ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / CHRISTOPHER ROBIN ‘วันเวลาที่สูญหาย’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์

CHRISTOPHER ROBIN

‘วันเวลาที่สูญหาย’

กำกับการแสดง Ewan McGregor
นำแสดง  Hayley Atwell. Bronte Carmichael  Mark Galiss

จะมีใครไม่รู้จัก วินนี่ เดอะ พูห์ หมีน่ารักในนิทานและการ์ตูนตลอดหลายสิบทศวรรษที่ผ่านมานี้บ้าง
คริสโตเฟอร์ โรบิน มีการผจญภัยเยอะแยะในป่าพันเอเคอร์ (Hundred-acre Wood) กับวินนี่ เดอะ พูห์ และสัตว์น่ารักน่าหมั่นไส้นานาพันธุ์
เป็นนิทานภาพที่ผู้คนทั่วโลกหลงรักอย่างคลั่งไคล้
ตอนแรกที่เห็นโปรแกรมหนังเรื่องนี้ออกฉาย นึกว่าดูแล้วเสียอีก เพราะเมื่อไม่นานมานี้เองได้ดูหนังชื่อ Goodbye Christopher Robin (2017) และน้ำตาไหลพรากไปกับเรื่องราวชวนซาบซึ้งในชีวิตจริงของเด็กชายคริสโตเฟอร์ โรบิน กับพ่อของเขา เอ.เอ. มิลน์ ผู้สร้างสรรค์นิทานแสนรักสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลก
แต่ปรากฏว่าเข้าใจผิดไป ไม่ใช่หนังเรื่องเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสโตเฟอร์ โรบิน เหมือนกัน แต่สร้างจากมุมมอง ตัวละครและช่วงเวลาในชีวิตที่ต่างออกไปมาก

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียง เอ. เอ. มิลน์ กลับจากสงครามด้วยบาดแผลทางใจที่ยากจะเยียวยา เขาหลบหน้าผู้คนไปอยู่ในชนบท จนสร้างสัมพันธ์อันอบอุ่นกับลูกชายคนเดียว คือคริสโตเฟอร์ โรบิน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนหนังสือประกอบภาพ อันกลายเป็นนิทานแสนรักของผู้คนทั้งโลก และโด่งดังข้ามน้ำข้ามทะเล
จนคริสโตเฟอร์ โรบิน กับหมีน้อย วินนี่ เดอะ พูห์ ใน “ป่าพันเอเคอร์” เข้าไปอยู่ในใจของทุกคน
วินนี่ เดอะ พูห์ มีที่มาจากหมีในสวนสัตว์ลอนดอน ที่เรียกชื่อกันว่า “วินนี่” เพราะได้มาจากเมืองวินนีเพ็กในประเทศแคนาดา ซึ่งแม่กับพี่เลี้ยงพาหนูน้อยคริสโตเฟอร์ โรบิน ไปเที่ยวสวนสัตว์ แรกทีเดียวคริสโตเฟอร์บอกว่าวินนี่เป็นชื่อผู้หญิง พ่อผู้เป็นนักเขียนจึงตั้งฉายาต่อท้ายว่า “เดอะ พูห์”
ใน Goodbye Christopher Robin คริสโตเฟอร์ โรบิน ในชีวิตจริง ผ่านวัยเติบใหญ่ด้วยการต่อต้านชื่อเสียงที่ได้รับ เขาขมขื่นกับความรู้สึกที่ว่าวัยเด็กของเขาถูกขโมยไปจากเขา
โดยพ่อเอาเรื่องของเขาไปแลกกับชื่อเสียงและความร่ำรวยที่เขาไม่ต้องการ
ว่ากันว่าคริสโตเฟอร์ โรบิน ตัวจริงไม่เคยยอมใช้เงินมหาศาลที่ได้จากการขายหนังสือสำหรับตัวเองเลย
แต่กลับเลือกที่จะใช้ชีวิตธรรมดาสามัญอันแสนสุขอยู่กับครอบครัว

ส่วน Christopher Robin จากค่ายดิสนีย์ ซึ่งกำลังออกฉายอยู่ตอนนี้ นำเสนอจากมุมมองอื่นโดยสิ้นเชิง นั่นคือ คริสโตเฟอร์ โรบิน ที่เป็นตัวละครในหนังสือ เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มใหญ่ (ยวน แม็กเกรเกอร์) ที่มัวแต่ยุ่งกับงานจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยภรรยา เอเวอลิน (เฮย์ลีย์ แอตแวลล์) กับลูกสาว แมเดอลีน (บรอนเท คาร์ไมเคิล)
คริสโตเฟอร์เป็นผู้จัดการฝ่ายเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทผลิตกระเป๋าเดินทางที่กำลังประสบปัญหาจากสงคราม และต้องหาทางจำกัดค่าใช้จ่ายเพื่อลดทอนต้นทุนการผลิต โดยมีลูกชายนิสัยไม่ดีของเจ้าของบริษัท บีบบังคับให้เขาต้องทำงานในช่วงวันหยุดที่จะไปพักผ่อนกับครอบครัว
ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบชัด ด้วยโถน้ำผึ้งที่หกนองอยู่ในบ้านของหนุ่มใหญ่ คริสโตเฟอร์ หมีน้อยวินนี่ เดอะ พูห์ เพื่อนเก่าในโลกจินตนาการของเขาก็โผล่เข้ามาในชีวิตจริงอันแห้งแล้งของเขา พลัดหลุดมาตามหาเขา เพื่อรบเร้าให้ช่วยกลับไปตามหาผองเพื่อนที่หายตัวไป อันประกอบด้วย ทิกเกอร์ พิกเล็ต อียอร์ กระต่าย นกฮูก แกงกา และรู
มิไยคริสโตเฟอร์จะขัดขืนทัดทาน และพยายามขับไล่เพื่อนออกไปจากโลกของความเป็นจริง เพราะกลัวใครจะคิดว่าตัวเองเป็นบ้า
แต่ความน่ารักอันชวนหัวหมุนของวินนี่ เดอะ พูห์ ก็ทำให้เขาต้องกลับคืนสู่ “ป่าพันเอเคอร์” ที่ซึ่งเขาเคยใช้ชีวิตวัยเด็กอันสนุกสนานอยู่กับผองเพื่อนสัตว์ทั้งหลาย โดยมีตัวประหลาดชื่อเฮฟฟาลัมพ์ คอยคุกคามชีวิตอันสงบสุขในป่า
คริสโตเฟอร์จะต้องช่วยกำจัดความหวาดกลัว “เฮฟฟาลัมพ์” ในใจของผองเพื่อน รวมทั้งในชีวิตของเขาเองในวัยฉกรรจ์

เคยดูหนังการ์ตูนและอ่านเรื่องราวของวินนี่ เดอะ พูห์มาหลายต่อหลายเรื่อง คราวนี้มาได้เห็นมุมมองใหม่อันน่าประทับใจในวัยที่เจริญเติบโตขึ้นของคริสโตเฟอร์ โรบิน ทั้งที่เป็นบุคคลจริง (ในหนังเมื่อปีที่แล้ว) และตัวละครในจินตนาการ (ในหนังปัจจุบัน) ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันมากนัก ชวนให้หวนระลึกถึงวัยเด็กที่หลายคนถวิลหาอาวรณ์ ซึ่งไม่มีวันกลับคืนมา
สิ่งที่ทำได้คือ คงรักษาสัญญาที่ให้ไว้แก่ตัวเองในวัยเด็กว่า แม้วันเวลาจะเคลื่อนคล้อยอย่างไม่มีวันหวนกลับ แต่จะยังคง stay young (at heart) ตลอดไป
หนังเปิดเรื่องด้วยการปูพื้นเรื่องราวของหนูน้อยคริสโตเฟอร์ โรบินในป่าพันเอเคอร์ แบบไม่ให้เยิ่นเย้อมากความ ก่อนจะตัดตรงเข้าสู่ชีวิตจริงของหนุ่มใหญ่คริสโตเฟอร์ ผู้กำลังกลายเป็นคนแปลกหน้าของภรรยาและลูกสาว จากการทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานในบริษัท
วินนี่ เดอะ พูห์ ซึ่งเขาเรียกสั้นๆ เพียง “พูห์” กลับมาเพื่อทำให้ชีวิตของเขาสมบูรณ์และแสนสุขดังเดิม

หนังใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกในการสร้างตัวการ์ตูนที่เป็นตุ๊กตารูปสัตว์ให้เคลื่อนไหวมีชีวิตขึ้นพร้อมไปกับตัวละครที่เป็นคนจริงเสียงจริง และทำได้อย่างกลมกลืนน่าเชื่อและน่ารักเหลือเกิน
พูห์…ซึ่งถ้าทำออกมาไม่ดี อาจกลายเป็นตัวยุ่งที่น่ารำคาญไปได้…ไม่เคยสูญเสียมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีกับคริสโตเฟอร์ ต้องชมมาร์ก ฟอร์สเตอร์ ผู้กำกับฯ ที่ทำได้ลงตัวในขณะที่ยังคงความสนุกสนานวุ่นวายในการผจญภัยของตัวละคร
มาร์ก ฟอร์สเตอร์ มีผลงานกำกับหนังโดดเด่นมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้ง Monster’s Ball (ที่ทำให้ฮัลลี่ เบอร์รี่ ได้รับออสการ์ในบทยอดเยี่ยมหญิง) Finding Neverland (ซึ่งอาจจะมีโทนคล้ายกับหนังเรื่องปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องของบุคคลจริงกับตัวละครในนิยาย) The Kite Runner (จากนิยายอันตรึงตราของคาลิด ฮอสเซนี นักเขียนชาวอัฟกันอเมริกัน) Quantum of Solace (หนังเจมส์ บอนด์ที่เปลี่ยนรูปลักษณ์ของพระเอกมาเป็นแดเนียล เครก)
และ World War Z (หนังซอมบี้ที่มีแบรด พิตต์ เป็นพระเอก) ฯลฯ

ผู้เขียนชอบบทที่แหลมคมหลายตอน อย่างเช่น ตอนที่คริสโตเฟอร์พูดถึงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายประสิทธิภาพ (Efficiency ออกเสียง อิฟ-ฟิช-เอ็น-ซี) ซึ่งพูห์ได้ยินและออกเสียงว่า ฟิช-อิน-ซี หรือตำแหน่งปลาในทะเล
เรื่องการอยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า ก็เป็นประเด็นที่น่ารักมาก เมื่อคริสโตเฟอร์ผู้หมกมุ่นอยู่กับงานจนไม่มีเวลาสำหรับสิ่งอื่น เผลอหลับไปในป่าพันเอเคอร์พร้อมกับกระเป๋าเอกสารที่เขาหอบหิ้วไปด้วยทุกที่ เพื่อทำงานให้เสร็จทันเวลา และตื่นขึ้นตอนเช้า เขาร้องด้วยความตกใจว่า “นี่เป็นวันพรุ่งนี้แล้ว”
และในตอนจบ ขณะนั่งเอ้อระเหยอยู่กับพูห์
เขาถามว่านี่เป็นวันอะไร
พูห์ตอบว่า “นี่เป็นวันนี้ วันโปรดของฉันเลย”
What day is it? Why, it is today, my favorite day!
สอนให้เราอยู่กับความสุขในปัจจุบัน…ที่นี่ ขณะนี้…โดยไม่วิตกกังวลไปเบื้องหน้าที่ยังมาไม่ถึง และเมื่อมาถึงแล้ว พรุ่งนี้ก็จะยังเป็นวันนี้อยู่วันยังค่ำ
นี่เป็นตอนจบ ที่เรียกรอยยิ้มแสนสุขที่ไม่ยอมเลือนหายไปจากใบหน้า นานหลังจากที่หนังจบลงไปแล้ว
ผู้เขียนกลับไปดู Goodbye Christopher Robin อีกครั้งหลังจากหนังปัจจุบัน แล้วก็ร้องไห้ด้วยความซาบซึ้งตรึงใจมากกว่าเดิมเสียอีก
คริสโตเฟอร์ โรบิน กับวินนี่ เดอะ พูห์ จะยังคงเป็นเรื่องราวที่ตราตรึงไปตราบนานแสนนาน