ดะโต๊ะ ศรี มหฎิร โมฮัมมัด ตอนที่ 6 “เสถียรภาพมาเลเซีย”

จรัญ มะลูลีม

มหฎิร โมฮัมมัด มิได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเสมอไป

ตัวอย่างเช่น ในปี 1981 เขาต้องประสบปัญหาทางการเมืองและความไม่ลงรอยในพรรค UMNO ของเขาเอง และพรรคฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของโลกในเวลานั้นก็ตกต่ำ ต่างชาติไม่สนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของเขามีความพยายามที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจ ด้วยการดึงนักลงทุนเอกชนภายในประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

มีการนำเอาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมและกำหนดประเภทอุตสาหกรรมที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาใช้

นโยบายของมหฎิรได้รับความสำเร็จ มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ปัญหาการเมืองได้รับการแก้ไข มีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามา สถานการณ์ด้านการเงินได้รับการพัฒนา หนี้สินลดลงในปี 1990 และอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับร้อยละ 9.0

(ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ในชปา จิตต์ประทุม ไทยกับมาเลเซีย, ไทยกับเพื่อนบ้าน, อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ บรรณาธิการ, สถาบันเอเชียศึกษา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539 หน้า 32)

 

ในช่วงปี 1991-1994 ปัญหาการเมืองภายในที่เรื้อรังก็ได้รับการถอนรากถอนโคนออกจนหมดสิ้น อย่างเช่น การลดพระราชอำนาจของสุลต่าน การจัดการให้พรรครัฐบาลได้รับฐานคะแนนเสียงในรัฐที่ยังไม่ได้รับ การจัดการกับกลุ่มที่เบี่ยงเบนศาสนาอิสลาม

คำประกาศ “Vision 2020” คือเป้าหมายในการมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญตามแนวทางที่วางไว้ และเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายรัฐบาลได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างระบบคมนาคมเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และสนามบินแห่งใหม่ การสร้างระบบสาธารณูปโภค การสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทั้งทางตะวันตกและตะวันออกของประเทศ การสร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่สำคัญ

นั่นคือ การที่มาเลเซียพยายามที่จะทำให้เกาะลาบวน เป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกแทนฮ่องกงหลังปี 1997

ทั้งหมดก็เพื่อเป็นการรองรับเขตเศรษฐกิจต่างๆ ที่มาเลเซียหวังผลในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต

อาจสรุปได้ว่า โดยเปรียบเทียบแล้วสภาพเศรษฐกิจทั้งของไทยและมาเลเซียในช่วงของมหฎิรจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองไม่ต่างกัน แต่ส่วนที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือปัญหาทางการเมืองใดๆ ของมาเลเซียล้วนไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนเช่นการเมืองของไทย (เรื่องเดียวกัน, หน้า 33)

 

สุรพงษ์ ชัยนาม มีมุมมองต่อการปกครองในสมัยแรกของมหฎิร (1981-2003) ว่า

โดยภาพรวมตลอดยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียเป็นความสัมพันธ์ที่แม้บางครั้งได้มีผลกระทบกระทั่งขัดแย้งเย็นชาต่อกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียเป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะใกล้ชิดและร่วมมือกันในด้านต่างๆ ด้วยดี บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียในช่วงที่ประเทศทั้งสองมีความขัดแย้งกัน เย็นชาต่อกันอย่างชัดเจนคือช่วงที่มาเลเซียอยู่ภายใต้อำนาจบริหารของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ดร.มหฎิร โมฮัมมัด (1981-2003 หรือ พ.ศ.2524-2546) โดยสุรพงษ์มีความเห็นว่า

ดร.มหฎิรแม้จะมาจากรัฐเคดะฮ์ซึ่งเคยใกล้ชิดกับประเทศไทยในอดีตก็ตาม แต่ก็หาได้มีความใกล้ชิดกับผู้นำไทยคนใดมาก่อนไม่

ก่อนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ดร.มหฎิรเคยกล่าวพาดพิงถึงประเทศไทยครั้งหนึ่งว่า เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทย ไทยอาจยอมให้กองทัพต่างชาติเดินผ่านเข้ามาในดินแดนมาเลเซียใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจในการดำเนินนโยบายของไทยมากนัก

เมื่อครั้งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (16 กรกฎาคม พ.ศ.2524 หรือปี 1981) ดร.มหฎิรได้แถลงว่ารัฐบาลของเขาจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ และมาเลเซียจะยึดถือนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดต่อไป

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้แถลงว่าในการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ (พรรคคอมมิวนิสต์มลายา) ให้ราบคาบลงได้นั้นมาเลเซียจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทยจึงจะสามารถกระทำได้อย่างสำเร็จ และจะนำความสงบสุขและเสถียรภาพมาสู่มาเลเซียได้

สุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียในยุคของนายกรัฐมนตรี ดร.มหฎิรมีความเย็นชาห่างเหินระหว่างกัน เป็นเพราะช่วงการขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาลของเขาเป็นช่วงปลายยุคสงครามเย็น สงครามในลาว กัมพูชา และเวียดนามได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งย่อมมีผลทำให้ความสำคัญของไทยต่อมาเลเซียในมิติด้านความมั่นคงย่อมลดลงโดยปริยาย

อีกทั้งนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียยุคนายกรัฐมนตรี ดร.มหฎิรมุ่งเน้นเป้าประสงค์ไปที่เรื่องของเศรษฐกิจและการค้าเป็นสำคัญ

มาเลเซียพยายามมุ่งมีบทบาทในเวทีทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคเด่นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในกรอบของอาเซียนของขบวนการกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

หรือแม้แต่ในกรอบของสหประชาชาติทำให้นายกรัฐมนตรี ดร.มหฎิรมีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการสิ้นสุดอำนาจของประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย (พ.ศ.2530 หรือปี 1987) จุดเน้นของนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียยุคนายกรัฐมนตรี ดร.มหฎิรคือการส่งเสริมบทบาทของมาเลเซียในระดับโลก

(สุรพงษ์ ชัยนาม, นโยบายของไทยต่อมาเลเซีย, สำนักพิมพ์ศยาม, 2560 หน้า 72 และ 73)

 

ในทางการเมือง พบว่ามาเลเซียทั้งก่อนหน้าสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีมหฎิรและในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งสมัยแรกได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองมาโดยตลอด ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นแม้ว่าในบางช่วงเวลามาเลเซียจะประสบกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจเหมือนๆ กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้แต่ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของมาเลเซียจะมีความเจริญอย่างต่อเนื่องมาเกือบทศวรรษ

ในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากที่สุดคือมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้ จะวัดได้จากการเลือกตั้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

“ความสม่ำเสมอ” ในการเลือกตั้งเป็นเครื่องวัดที่ดีที่สุดถึงสภาพทางการเมืองในรัฐ-ชาติที่กำลังเติบโต

ทั้งนี้ก็เพราะหลายประเทศล้มเหลวในกระบวนการนี้ ความสม่ำเสมอในการเลือกตั้งเป็นการยืนยันว่า กฎเกณฑ์ของสภาในระบอบประชาธิปไตยได้หยั่งรากลงแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เต็มไปด้วยชนหลายเชื้อชาติ

การเลือกตั้งในมาเลเซียก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

นับเป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วที่มาเลเซียได้เปิดให้มีการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 1959 และหากไม่นับรวมปี 1969 ซึ่งเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างชาวมาเลย์และชาวจีนแล้ว การเมืองของมาเลเซียก็ผ่านมาโดยการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ความขัดแย้งครั้งเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างชาวจีนและชาวมาเลย์มุสลิมที่กล่าวข้างต้นขยายตัวอย่างรุนแรงในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1969 หลังการเลือกตั้ง

สาเหตุหลักของความขัดแย้งก็เนื่องมาจากการที่ชาวมลายูเห็นว่าชาวจีนนอกจากจะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจแล้วยังมีอิทธิพลทางด้านการเมืองอีกด้วย

โดยในเวลานั้นพรรคของชาวจีนฝ่ายค้าน (DAP) ได้รับเลือกถึง 13 คน การจลาจลรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 15 ล้านริงกิต

หลังจากนั้นรัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางสังคมด้วยการประกาศรูกูเนอการา (Rukunekara) หรืออุดมการณ์แห่งชาติ ด้วยความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การกระจายความมั่นคงให้แก่ทุกเชื้อชาติ และสร้างสังคมที่ก้าวหน้ามุ่งไปสู่การใช้เทคโนโลยีทันสมัย

มีอุดมการณ์หลัก 5 ประการคือ

1. ศรัทธาในพระเจ้า กำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ

2. จงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีและประเทศชาติ โดยสมเด็จพระราชาธิบดี (ยังดี เปอร์ตวน อากง) ต้องเป็นชาวมลายู

3. ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ

4. ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย

และ 5. มีศีลธรรม จริยธรรมและความประพฤติดี

หลังจากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวจีนและชาวมาเลย์มุสลิมแล้วจะเห็นได้ว่ามาเลเซียได้เดินสู่แนวทางการเลือกตั้งด้วยความมั่นใจยิ่งๆ ขึ้น กฎเกณฑ์ทางรัฐสภาได้รับการเคารพทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ศักยภาพและพฤติกรรมจากการเลือกตั้งทั่วไปทำให้ผู้มาออกเสียงมีความมั่นใจ แม้จะมีกรณีพิพาทอยู่บ้างแต่ก็แก้ไขได้ด้วยกระบวนทางกฎหมาย

(จรัญ มะลูลีม “มาเลเซียกับการเลือกตั้ง” กรุงเทพธุรกิจ 24 เมษายน 2538)