จับตาเฟ้น 2 กกต.ช่องทางปกติ-พิเศษ ร่วมทีม 7 อรหันต์จัด “เลือกตั้งปี 2562”

ผ่านด่านหินจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่โหวตเลือกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) “สเป๊กเทพ” ชุดใหม่ทั้ง 7 คน มาได้เพียง 5 คน คือ 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 3.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอีก 2 คน จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คือ 1.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 2.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ส่วนอีก 2 ว่าที่ กกต. คือ 1.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ 2.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด ไม่ผ่านการตัดตัวจากที่ประชุม สนช. เนื่องจากมีข้อร้องเรียนทั้งเรื่องคดีความของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมทั้งความเป็นกลางทางการเมือง

ทั้งนี้ การคัดเลือกว่าที่ 7 กกต. เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้มี กกต. 7 คน มีวาระการทำหน้าที่ 7 ปีเต็ม มาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือในห้วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562

การโหวตเลือก 7 กกต. ของ สนช. เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นเป็นการแก้มือในรอบที่สอง เพราะการโหวตในรอบแรก ที่ประชุม สนช. มีมติคว่ำล้มกระดานว่าที่ 7 กกต.ยกชุดไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

แม้จะได้ว่าที่ 5 กกต. ที่ผ่านด่านจากที่ประชุม สนช. แต่ก็เพียงพอที่ประชุมเพื่อจัดการเลือกตั้งได้ สเต็ปต่อไปคือ ว่าที่ 5 กกต.ใหม่จะต้องมาประชุมร่วมกันนัดแรกเพื่อคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ประธาน กกต.คนใหม่ โดยประธาน กกต. จะทำหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ด้วย

ขณะที่ตัวเต็งผู้ที่จะมาทำหน้าที่ประธาน กกต.คนใหม่ ที่มาแรงคงไม่พ้นว่าที่ กกต. 1 ใน 2 คน ที่มาจากสายศาล ที่มีภาษีดีในความเชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายและเพียบพร้อมไปด้วยคอนเน็กชั่นในระดับเบอร์หนึ่งของแม่น้ำ 5 สาย

อีกทั้งบทบาทของผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ประธาน กกต.คนใหม่จะมีความสำคัญไม่แพ้ตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะอำนาจหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ ได้ติดดาบอำนาจมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการวินิจฉัยชี้ขาดคดีความเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่ กกต.มีอำนาจในการแจกทั้งใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ ตามกฎหมายเลือกตั้งใหม่

โดยเฉพาะบทลงโทษในส่วนของ “ใบดำ” ที่มีดีกรีเป็นยาแรงมากที่สุ คือ หากนักการเมืองคนใดโดน “ใบดำ” จะการถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ต้องปิดฉากอนาคตทางการเมืองไปโดยปริยาย

อีกทั้ง กกต.ชุดใหม่ยังมีอำนาจ “สั่งให้ระงับหรือยับยั้งการเลือกตั้ง” ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอันเป็นความผิดหรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมได้ ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมไปถึงให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวกับการข่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสตามที่ กกต. ร้องขอได้อีกด้วย

แต่ที่น่าจับตา ไม่เพียงแค่จะได้ใครมานั่งเก้าอี้ “ประธาน กกต.” คนใหม่ คือการคัดเลือกอีก 2 กกต. ที่เหลือ ให้ได้ครบทั้ง 7 คนตามกฎหมาย คณะกรรมการสรรหา กกต.

ที่มี “ชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ รวมทั้ง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. “ปิยะ ปะตังทา” ประธานศาลปกครองสูงสุด ร่วมเป็นกรรมการ

จะใช้วิธีใดในการคัดเลือกอีก 2 กกต.

 

หากสรรหาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. จะมีห้วงเวลาประมาณ 4 เดือน และต้องไปลุ้นกับที่ประชุม สนช. อีกครั้งว่าจะตีตกหรือให้ผ่านหมด แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ได้เปิดช่องทางพิเศษเอาไว้ในมาตรา 12 ที่เปิดช่องให้คณะกรรมการสรรหาไป “ทาบทาม” บุคคลที่มีความเหมาะสมมาเป็น “กกต.” ได้โดยที่เจ้าตัวต้องยินยอมมาทำหน้าที่ได้ด้วย

หากตีความจากสัญญาณที่ “พรเพชร” ส่งมาล่าสุดที่ระบุว่า การสรรหาอีก 2 คนที่เหลือต้องหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาก่อนว่าจะใช้วิธีการใดในการคัดเลือก โดยคณะกรรมการสรรหาจะไม่ทำอะไรให้เกิดข้อครหาทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแน่นอน แต่ส่วนตัวมีคำตอบในใจแล้วว่าจะใช้วิธีการใด

แน่นอนว่าหากจะใช้วิธีการพิเศษด้วยการส่งเทียบเชิญอีก 2 กกต. พร้อมกับเหตุผลที่ยากจะปฏิเสธคือมาทำงานเพื่อชาติ แม้จะเจอกับข้อครหาในทางการเมืองทั้งผลประโยชน์ทับซ้อน มีใบสั่ง แต่ก็คุ้มค่าเนื่องจากจะได้อีก 2 กกต. ที่ตรงสเป๊กของผู้มีอำนาจที่ได้เลือกมากับมือ

ในขณะที่กลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐ กำลังเดินเกมรุกทั้ง “ดึง-ดูด-บีบ” ทางการเมืองเต็มที่กับเป้าหมายดัน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัมแบ๊กมานั่งเก้าอี้ “นายกฯ” อีกสมัย

ดรีมทีม กกต. ทั้ง 7 คน จึงเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการเลือกตั้งและชี้ขาดผลการเลือกตั้งว่าพรรคใดจะเข้าวินเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล