หนังสือที่ ‘บิลล์ เกตส์’ แนะนำให้ ‘ทุกคนที่อยากเปลี่ยนโลก’ อ่าน!

ธุรกิจพอดีคำ  “ชิมแปนซี”

คุณคิดว่าโลกนี้มีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรบ้าง

ลองตอบคำถามด้านล่างด้วยตัวเองดู

ข้อหนึ่ง ในประเทศรายได้น้อย มีเด็กผู้หญิงกี่เปอร์เซ็นต์ที่เรียนจบมัธยมปลาย

ก. 20%

ข. 40%

ค. 60%

ข้อสอง มีเด็กอายุ 1 ขวบกี่เปอร์เซ็นต์บนโลกนี้ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

ก. 20%

ข. 50%

ค. 80%

ข้อสาม ในปี 1996 เสือโคร่ง หมีแพนด้า และแรดดำ ถูกประกาศว่ามีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ คุณคิดว่าปัจจุบันมีสัตว์ข้างต้นกี่ชนิดที่ยังมีความเสี่ยงอยู่

ก. 2 ชนิด

ข. 1 ชนิด

ค. ไม่มีเลย

ลองตอบดูนะครับ ให้ครบทั้งสามข้อเลย

เดี๋ยวกลับมาเฉลย

คุณรู้มั้ย

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศหนึ่งๆ มีความมั่งคั่งขึ้นได้

ทรัพยากรที่มี ประชาชนที่มีคุณภาพ

ภาครัฐที่มีความสามารถ ภาคเอกชนที่เข้มแข็ง

คำตอบมีหลากหลาย

แต่หารู้ไม่

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่บ่งบอกการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

คือ “การศึกษาของผู้หญิง” ในสังคมนั้นๆ

ทำไมน่ะหรือ

เมื่อผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น

พวกเธอก็จะเข้าไปใช้ชีวิตในการทำงาน อย่างเช่นผู้ชาย

สร้างให้เกิดความแตกต่างทางความคิด

ทางแก้ปัญหาใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น

ผู้หญิงที่มีการศึกษา มีงานทำ

ก็จะมีลูกไม่กี่คน

เมื่อมีลูกแค่ไม่กี่คน

ก็จะสามารถดูแล ประคบประหงมได้อย่างเต็มที่

ส่งให้ผลให้เด็กๆ มีการศึกษาที่ดีตามไปด้วย

เมื่อเด็กๆ โตขึ้นก็จะเป็นประชากรที่มีคุณภาพ

สร้างประเทศชาติให้มั่งคั่งในที่สุด

ทีนี้ อย่าลืมลองเดานะครับ ตามคำถามข้อที่ 1 ด้านบน

คุณคิดว่า โลกใบนี้ ณ ปัจจุบัน ที่ประเทศผู้มีรายได้น้อย

มีผู้หญิงกี่เปอร์เซ็นต์ที่จบการศึกษาระดับ ม.ปลาย

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่บิลล์ เกตส์ แนะนำให้ทุกคนที่อยากเปลี่ยนโลกอ่านกัน

มีชื่อว่า “แฟ็กต์ฟูลเนส (Factfulness)”

หนังสือที่นำข้อมูลสถิติที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับโลกใบนี้ มาตีแผ่ให้เห็นกันอย่างจะจะ

ทั้งเรื่องของโลกร้อน อุบัติภัย โรคร้าย

อะไรหลายๆ อย่างที่ “สื่อ” ต่างๆ สร้างภาพไว้ให้ดูโหดร้าย

ว่าที่จริงแล้ว โลกกำลังวิ่งไปทางไหนกันแน่

คำถามสามข้อข้างต้นก็มาจากหนังสือเล่มนี้

เอาละ ถ้าคุณได้คำตอบแล้ว ลองมาเฉลยกัน

ข้อหนึ่ง การศึกษาของผู้หญิงในประเทศมีรายได้น้อย มีค่าประมาณคือ 60%

ข้อสอง เด็กอายุหนึ่งขวบที่ได้รับการฉีดวัคซีน มีค่าประมาณถึง 80%

ข้อสาม ปัจจุบันไม่มีสัตว์ตัวใดข้างต้นอยู่ในรายชื่อที่เสี่ยงสูญพันธุ์เลย

ถ้าคุณเป็นคนทั่วๆ ไปที่มีการศึกษาพอประมาณ

คุณคงจะตอบผิดทั้งสามข้อ หรือ 0 เปอร์เซ็นต์

เพราะคุณเชื่อว่า “โลกนี้กำลังแย่ลง” ตาม “ข้อมูล” ที่คุณได้รับมาจากสื่อต่างๆ

หากแต่ว่า ที่จริงแล้ว โลกนี้กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ

ใช่ มันยังแย่อยู่ แต่มันดีขึ้นเรื่อยๆ (Bad and Better)

เรายังต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อพัฒนาสถิติเหล่านี้

ลองนึกภาพว่า เราให้ลิงชิมแปนซีมาทำข้อสอบสามข้อข้างต้น

ลิงที่ไม่รู้เรื่อง ก็คงจะตอบสุ่มๆ ไป

เนื่องจากมี 3 ข้อให้เลือก

ผลลัพธ์ที่ลิงชิมแปนซีทำได้ ก็น่าจะเป็น 33%

มากกว่ามนุษย์โดยทั่วไปที่คิดไปเองว่า “โลกนี้กำลังจะแย่ลง”

ทั้งๆ ที่จริงแล้ว โลกใบนี้ “แย่จริง” แต่ว่าก็ “ดีขึ้นเรื่อยๆ” (Bad and Better)

บิลล์ เกตส์ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ที่มีชื่อว่า Factfulness

ทำให้เขากลับมาตั้งต้นใหม่กับมูลนิธิเกตส์ (Gates Foundation)

ในโลกยุคที่ “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์”

ผู้คนตื่นเต้นกับอะไรร้ายๆ ที่เกิดขึ้น

มากกว่าชื่นชม อิ่มเอิบของความปกติ ในยามไม่มีปัญหา

สื่อก็อาจจะพาเราออกนอกทะเล

และทำให้เราแข่งตอบคำถามแพ้ “ลิงชิมแปนซี” ก็เป็นได้

จงมองหา “ข้อมูล” เถิด จะเกิดปัญญา