เปิดใจ ลองมอง “อิสราเอล” ในมุมกลับ

ปิดหูปิดตา…แล้วเปิดใจ ลองมอง “อิสราเอล” ในมุมกลับ

เมื่อพูดถึง “อิสราเอล” เชื่อว่าหลายๆ คนมักจะนึกถึงแค่ไม่กี่อย่าง เช่น สงคราม ทะเลทราย ศาสนา

หรือบางคนอาจนึกถึง “ฟาลาเฟล” หนึ่งในอาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของอิสราเอล ซึ่งก็มีอีกหลายประเทศอาหรับที่กินคล้ายๆ กัน เพียงแต่สูตรของอิสราเอลนั้นเลื่องลือระดับโลก

ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันในอิสราเอลตอนนี้ คิดว่าไม่น่าจะมีใครอยากแวะเวียนไปเยี่ยมชมมากนัก เพราะฉนวนกาซาอาณาบริเวณเล็กๆ ขนาดพื้นที่เพียง 360 ตร.ก.ม.เท่านั้น ที่แบ่งเขตแดนระหว่าง “อิสราเอลกับปาเลสไตน์” กำลังร้อนเป็นไฟทะลุปรอทอีกครั้ง

นับตั้งแต่เหตุความไม่พอใจของชาวปาเลสไตน์ ที่ประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกา หลังประกาศย้ายสถานทูตอเมริกาจากกรุงเทลอาวีฟไปยัง “นครเยรูซาเลม” พร้อมกล่าวยอมรับให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ความคับแค้นใจลุกลามมาจนถึงเหตุยิงสังหาร “ราซัน อัล-นัจจาร์” กู้ภัยสาววัยใสเพียง 21 ปีเท่านั้น ขณะที่เธอกำลังช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บชาวปาเลสไตน์ ที่กำลังประท้วงลุกฮืออยู่ใกล้ๆ กับทางใต้บริเวณฉนวนกาซา

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้กำลังทำให้อิสราเอลตกที่นั่งลำบากมากขึ้น เนื่องจากนานาประเทศและสหประชาชาติ (UN) กำลังเร่งสอบสวนอย่างหนัก พร้อมเดินหน้ากดดันอิสราเอลทุกวิถีทาง

ถึงกระนั้น ภายใต้ความเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ก็มักจะแฝงไปด้วยสิ่งดีๆ ที่พอจะเชิดหน้าชูตาได้บ้าง

อย่างอีกแง่มุมหนึ่งของอิสราเอล ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศ “Start-up” คุณภาพ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่มี Start-up หนาแน่นที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซิลิคอน วัลเลย์ ในแคลิฟอร์เนีย

และได้รับการยอมรับว่าเป็น hub ในด้านการสร้างผู้ประกอบการและนวัตกรรมของโลกด้วย

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเอง และรับรู้ได้ทันทีว่า “ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์” แห่งนี้เติบโตไปไกลมากโข ความรุ่งเรืองต่างๆ ที่แทบไม่ต่างจากหลายๆ ประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจในยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา

ความสำเร็จมากมายที่เกิดมาจากมันสมองของประชาชนชาวยิว

นานาประเทศเห็นตรงกันว่า “ชาวยิว” เป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในโลก ซึ่งจะเห็นได้จากหลายๆ บทความ บทวิเคราะห์ และบทวิจัยต่างๆ ทั้งยังนับว่าเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายปรากฏอยู่ในตำนานปรัมปราจากคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ที่ชาวคริสต์และชาวยิวเคยใช้ร่วมกัน

อาจจะมีเพียงบางคนที่รู้ความหมายของชื่อประเทศ… “อิสราเอล” แปลตรงตัวตามคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ว่า “ผู้ปล้ำสู้พระเจ้า” เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกระบุในคัมภีร์ถึงที่มาของชื่อประเทศ โดยมีนักประวัติศาสตร์บางตำราตีความว่า มันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอาชนะตนเองในวิถีการทดสอบของพระเจ้า

หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ต่อสู้เพื่อเอาชนะจิตวิญญาณของมนุษย์”

ดังนั้น ผู้ที่ผ่านพ้นมันไปได้จึงได้รับการอวยพรให้ไปสู่หนทางที่ดี จึงอธิบายได้ว่า เหตุใดประเทศที่มีพื้นที่ทะเลทรายครอบคลุมเกินครึ่งประเทศนั้น ทั้งยังถูกล้อมรอบไปด้วยศัตรูนานาประเทศ แต่กลับสามารถเปลี่ยนจากผืนทะเลทรายและประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ให้กลายเป็นประเทศที่สร้างผลผลิตและเกิดความมั่งคั่ง จนมีชื่อเสียงโด่งดังเช่นทุกวันนี้

สิ่งที่น่าสนใจที่ผู้เขียนสัมผัสได้ก็คือ ความเต็มใจในการถ่ายทอดความรู้ นั่นไม่ได้หมายถึงแค่ความรู้ทางด้านการพัฒนาเกษตรกรรม หรือระบบชลประทานน้ำหยดที่เลื่องลือมากของอิสราเอล แต่หมายถึงความก้าวหน้าในการทหารด้วย ซึ่งให้การสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกับทุกเพศ ประชากรที่มีเพียง 8 ล้านคน จึงจำเป็นต้องเป็นทหารเกือบทุกคนเพื่อความมั่นคงของชาติ มีเพียงบางกรณีที่ได้รับการยกเว้นเท่านั้น เช่น ความเชื่อทางศาสนา

โดยผู้หญิงและผู้ชายจะต้องเป็นทหารเมื่ออายุ 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนระยะเวลาในการประจำการนั้นต่างกัน ผู้ชายอยู่ประจำการ 30-36 เดือน ส่วนผู้หญิงประจำการ 18-24 เดือน ที่น่าสนใจก็คือ บุคคลต่างๆ ที่กลายเป็นคนเก่งระดับหัวกะทิท็อปๆ ของโลก หลายคนเคยเปิดใจว่า ความรู้มากมายที่ได้นั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างประจำการ

ส่วนปัจจัยลบอื่นๆ ที่เคยถูกนำเสนอไปบ้างแล้ว อย่างความขาดแคลนทางทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแรงผลักให้เกิดการพัฒนาในทุกด้านของอิสราเอล ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก เพราะเริ่มต้นมาจาก “ศูนย์”

คํากล่าวหนึ่งจากหนังสือ “Future of Freedom” ของนักวิจารณ์ทางการเมือง Fareed Zakaria น่าจะอธิบายความเป็นอิสราเอลได้ตรงและเข้าใจง่ายที่สุด ระบุไว้ว่า “ความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ จะเป็นอุปสรรคและตัวขัดขวางการเมืองที่ทันสมัย รวมถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ” ซึ่งความขาดทุกประการของชาวยิว จึงเป็นแรงขับผลักประเทศให้ไปไกลอย่างไม่มีเงื่อนไข

และอีกปัจจัยสำคัญก็คือ “ความจำเป็นในการพึ่งพาตนเอง” เนื่องจากอิสราเอลนั้นไม่สามารถพึ่งพาต่างประเทศได้มากนัก จึงต้องพัฒนากลไกการปกป้องตนเอง จนกลายเป็น “ทักษะการเอาตัวรอด” และเป็นรากฐานที่ดีที่สุดของการพึ่งพาตนเอง โดยทัศนคตินี้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ยึดเหนี่ยวมาตลอด

รวมถึงบรรดาผู้ก่อตั้ง Start-up และซีอีโอชั้นนำของประเทศ

เสน่ห์ทางความคิดเหล่านี้ของอิสราเอล น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีมากให้กับประเทศไทย รวมถึงอีกหลายประเทศกำลังพัฒนา

ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากประเทศไทยปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติได้เป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกับอิสราเอลนั้น

บวกกับการเป็นประเทศที่มีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติสูงอยู่แล้ว

ไทยน่าจะหลุดพ้นจากคำว่า “ชาติกำลังพัฒนา” มานาน