Colour Of Friendship : Thailand-Myanmar Art Exhibition นิทรรศการศิลปะเชื่อมความสัมพันธ์ สองแผ่นดิน “ไทย-พม่า”

เวลาเดินทางสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่พูดกันว่าวันหนึ่งๆ ทำไมมันผ่านไปรวดเร็วเหลือเกินนั้น สืบเนื่องมาจากความรู้สึก

เหมือนดังรู้สึกว่าเพิ่งเคยเขียนเรื่อง “นิทรรศการศิลปะเชื่อมความสัมพันธ์สองแผ่นดิน ไทย-พม่า” เนื่องในวันครบรอบ 70 ปีระหว่างสองแผ่นดิน “ไทย-พม่า” ไม่นานนี้

เมื่อพลิกย้อนกลับไปดูอีกครั้งที่ไหนได้ เรื่องนี้ได้นำเสนอไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 เวลาผ่านไปถึง 3 เดือน

และนิทรรศการได้ผ่านไปจนสำเร็จตามเป้าประสงค์แล้วเช่นเดียวกัน

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ท่านพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เป็นตัวตั้งตัวตีดำเนินงานในนามกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีท่านจักร บุญหลง เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง (Yangon) และภริยา เป็นธุระดำเนินการทุกสิ่งอย่างในพม่า (Myanmar) โดยประสานงานให้พบกับท่าน Nang Lao ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพม่า (National Museum Myanmar) เพื่อร่วมกันจัดนิทรรศการไทย-พม่า จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านทั้งหลายที่ติดตามข้อเขียนคอลัมน์นี้ โดยขอเว้นวรรคเรื่องราวการเดินทางแต่หนหลังอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อเสนอความเคลื่อนไหวเป็นไปของเหล่า “ศิลปินแห่งชาติ” และ “ฐาปนันดรศิลปิน” ที่เพิ่งกลับจากการเดินทางไปยังเพื่อนบ้านอันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณครั้งยังเพิ่งเริ่มก่อร่างสร้างประเทศ ทั้งความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมด้านชาติพันธุ์ ตลอดจนร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในการต่อสู้รบพุ่งกันมาอย่างต่อเนื่อง

 

ฐาปนันดรศิลปินที่กล่าวถึงคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่ใช่ใครที่ไหนอื่น คือท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศเรา

ท่านเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อการศึกษาศิลปะ วงการศิลปะ และโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” นี้เกิดขึ้นในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ท่าน (พี่) เป็นห่วงคุณภาพของศิลปินแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง

ฝากให้คณะกรรมการพิจารณากันอย่างละเอียด เน้นๆ คุณภาพมากกว่าเกรงใจการวิ่งเต้นฝากฝัง

รวมทั้งการผลักดันจากผู้ใหญ่ของกระทรวง วงการบันเทิง ซึ่งดูเหมือนจะสำคัญผิดว่าประเภทตลกโปกฮาอันเกลื่อนกลาดก็มีความหวังจะได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

ท่านผูกพันกับศิลปิน วงการศิลปะของประเทศนี้ไม่น้อยไปกว่าเรื่อง “การบ้านการเมือง” ในระดับชาติ ท่านไม่เคยปล่อยเวลาการพบปะเยี่ยมเยียนช่วยเหลือดูแลประชาชน หรือระหว่างดำรงตำแหน่งบริหารบ้านเมืองให้ผ่านพ้นไปเฉยๆ จะพยายามทำงานศิลปะที่ได้รักชอบพอ หรือมีอยู่ในสายเลือดไม่น้อยควบคู่ไปตลอดเวลา

ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรสำหรับเหล่าศิลปิน นักศึกษา และครู อาจารย์ ศิลปินอาจารย์ผู้สอนศิลปะที่ได้เห็นภาพข่าวท่านอดีตนายกรัฐมนตรีร่วมเดินทางนำผลงานศิลปะไปเปิดนิทรรศการศิลปะแลกเปลี่ยนกับศิลปินนานาชาติยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น หากแต่ได้ดำเนินการหลายครั้งหลายหน ต่อเนื่องมาหลายปี

ซึ่งครั้งสุดท้ายแสดงร่วมกับศิลปินแห่งชาติ ณ หอศิลป์ LA Artcore, Los Angeles เพิ่งจะเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปเมื่อเดือนเมษายน 2561

ปลายเดือนมีนาคม ท่าน (พี่) ชวนมีความสุขมากกับบรรยากาศอันแวดล้อมด้วยเหล่าศิลปินแห่งชาติ และผลงานศิลปะระดับโลก กระทั่งความเป็นส่วนตัวแบบกันเองจากการต้อนรับของเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม, กมล ทัศนาญชลี และครอบครัว กระทั่งศิลปินไทยในสหรัฐอเมริกา

โดยได้พาท่านเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museum) พบพูดคุยกับศิลปินหลายท่าน และชมเมือง ชมทิวทัศน์ของนครลอสแองเจลิส (LA) กับอีกหลายๆ เมืองในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California)

ซึ่งแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ท่านได้เดินทางไปพร้อมกับการทำงานศิลปะ (Drawing) ถึงซานฟรานซิสโก (San Francisco)

ท่านได้ปลดปล่อยอารมณ์พอสมควร ได้ทำในสิ่งที่รักชอบพอ อย่างเช่น เป่า Saxophone ในงานเลี้ยงต้อนรับเป็นการส่วนตัว และบนภูเขา Topanga Canyon ใน Los Angeles, California

คิดเอาเองว่าคงไม่น่าจะมีคนระดับ (อดีต) นายกรัฐมนตรีท่านไหนสามารถปฏิบัติตัวอย่างจริงใจได้กลมกลืนแบบเป็นกันเองขนาดนี้ได้เหมือนกับท่าน

 

ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2561 ขณะบรรยากาศการเมืองในประเทศเรากำลังดำเนินไปลักษณะมีสีสัน โดยเฉพาะกับแรงโชยกลิ่นการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ.2562

ขณะที่ “คสช.” ผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จยังไม่คิดจะผ่อนคลายการเอาเปรียบ โดย “ปลดล็อก” พรรคการเมืองแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่าจะเข้าสู่การเมืองแบบ “สืบต่ออำนาจ” ต่อไป

ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้อาศัยทำมาหาเลี้ยงปากท้องอยู่ในแผ่นดินนี้ยืนยันได้ว่าไม่มีใครรังเกียจผู้นำรัฐบาล (ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ปัจจุบันแต่อย่างหนึ่งอย่างใด หากท่านประกาศชัดเจนว่าจะเข้าสู่การเมืองตามครรลองประชาธิปไตย มาจากการ “เลือกตั้ง” หรือเพียงแค่เข้ามา “ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ” ก็น่าจะเพียงพอ เพราะขณะนี้เลยเวลาสำหรับจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว ทั้งๆ ที่ท่านได้ประกาศเสียงดังว่าเป็น “นักการเมือง” ที่มาจากทหาร

แต่วางแผนตั้งเป้าจะเอาเปรียบนักการเมือง พรรคการเมือง ซึ่งไม่สนับสนุนท่านทุกวิถีทางในการดำเนินงานทางการเมือง ท่านพูดซ้ำซากว่าเป็นคนซื่อสัตย์ รักชาติ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าใคร?

ท่านจะมีอารมณ์หงุดหงิดเกรี้ยวกราดทุกครั้งเมื่อถามถึงการ “เลือกตั้ง-ปลดล็อก” พรรคการเมือง พร้อมถามหาความรับผิดชอบว่า “ถ้าเลือกตั้งแล้วได้คนเฮงซวยเข้ามาอีก มาทะเลาะเบาะแว้งกันอีก ใครจะรับผิดชอบ–”

ท่านไม่ควรจะไปคิดแทน “ประชาชน” เพราะถ้าคนส่วนมากของประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศเขาต้องการอย่างนั้น?

 

ภาพที่ปรากฏในแวดวงการเมืองขณะนี้ต่างวิเคราะห์กันว่า ถ้าหากพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรค “ประชาธิปัตย์” และพรรค “เพื่อไทย” ไม่สามารถรวมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ นายกรัฐมนตรี “เผด็จการ” ซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” จะได้สืบทอดอำนาจต่อไปอีกจากการรวมกันของพรรคการเมืองต่างๆ รวมกับการวางแผนดูดดึงนักการเมืองน้ำเน่ารุ่นเก่าๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน

หลายคนพยายามจะเจรจาพูดคุยเพื่อผลักดันให้ 2 พรรคดังกล่าวรวมกันเพื่อต่อต้านรัฐบาล “เผด็จการ” ที่ไม่ได้มาจากประชาชน

แต่คงมีโอกาสเกิดขึ้นยาก แม้จะพยายามสนับสนุนให้ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้ง แต่เส้นทางจะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยุ่งยากหลายขั้นตอน เพราะขณะนี้ท่านไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่างหากคือหัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์”

ขณะเดียวกันท่าน (เคย) บอกว่าอายุมากแล้ว แต่ยังมีผู้สนับสนุนปลอบใจว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ มีวัย 92 ปี ยังลงเลือกตั้งเอาชนะพรรครัฐบาล และเป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้อีกครั้ง

“ไม่มีชื่อของผมอย่างแน่นอน” เมื่อถูกถามว่าแกนนำพรรคประชาธิปัตย์บางคนต้องการให้ท่านมีชื่อเป็น 1 ใน 3 ของบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในนาม “พรรคประชาธิปัตย์”

 

ท่าน (พี่) ชวน หลีกภัย “ฐาปนันดรศิลปิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมเดินทางไป “กรุงย่างกุ้ง-พม่า” พร้อมกลุ่ม “ศิลปินแห่ชาติ” อาทิ กมล ทัศนาญชลี, เดชา วราชุน, ธงชัย รักปทุม, วิชัย สิทธิรัตน์, สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และ ฯลฯ เพื่อร่วมพิธีแถลงข่าว พร้อมเปิดนิทรรศการกับท่านจักร บุญหลง เอกอัครราชทูตไทย และภริยา เพิ่งจะกลับมาประเทศไทยไม่นาน

นิทรรศการครั้งแรกนี้ผ่านพ้นไปพร้อมกับความสำเร็จ ความสัมพันธ์ด้านศิลปะร่วมสมัยระหว่าง 2 ประเทศจึงควรได้รับการบันทึกไว้

ผลงานศิลปะในงานนิทรรศการ “สีสันแห่งมิตรภาพ” เป็นของฝ่ายประเทศพม่าจำนวน 32 ศิลปิน จากประเทศไทยจำนวน 29 ศิลปิน ล้วนเป็นระดับศิลปินแห่งชาติ ทั้งที่ล่วงลับไปแล้วกับยังมีชีวิตอยู่ เช่น อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ อาจารย์กมล ทัศนาญชลี อาจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์พิชัย นิรันต์ อินสนธ์ วงศ์สาม ทวี รัชนีกร เดชา วราชุน นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ อิทธิพล ตั้งโฉลก ปัญญา วิจินธนสาร และ ฯลฯ

วงการ “ศิลปะร่วมสมัย” ยังขับเคลื่อนไปอย่างสม่ำเสมอ