โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง / ศิลปะ

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

 

ศิลปะ

 

สถานที่แสดงงานศิลปะที่จัดว่าได้มาตรฐานแห่งนั้นโล่ง ว่าง เงียบสงบ นั่นทำให้การเข้าไปในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ดีๆ ทำให้จิตใจเราสงบ สบาย

เหมือนการฟังเพลงคลาสสิคดีๆ หรือเข้าไปทำสมาธิในวัดที่ปราศจากผู้คน มีเพียงพระพุทธรูปตรงหน้า

บางผู้บางคนเลือกเสพแต่สิ่งสวยงาม แต่บางคนชอบที่จะมองลึกไปถึงสิ่งที่ผู้ทำงานศิลปะคิดและสื่อออกมา ศิลปะคือความจริงหรือจินตนาการที่ศิลปินถ่ายทอดออกมา เป็นงานที่ผ่านตัวตนและการสื่อความของแต่ละศิลปิน เป็นสิ่งเฉพาะตัวที่คอมพิวเตอร์แม้ชาญฉลาดเพียงไหนก็ทำไม่ได้ มันจึงมีคุณค่าสูงยิ่ง

ประสบการณ์ที่ได้พบกับงานศิลป์จึงมีค่าต่อจิตใจเสมอ และก็เป็นความจริงที่ว่างานศิลป์แต่ละชิ้นย่อมต้องอยู่ในที่ที่คู่ควร ต้องได้รับการจัดวางอย่างเหมาะเจาะ เราจึงจะเสพมันได้อย่างปลอดโปร่งใจ

ไม่เหมือนกับการมองดูภาพหรือชิ้นงานเดียวกันที่ถูกวางซ้อนๆ กันในที่ที่คับแคบ มืดสลัว

 

บนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ที่ไม่ได้ผ่านไปนานแล้ว เป็นถนนเส้นงามนอกตัวเมืองที่เป็นที่รู้จักว่าเป็นแหล่งทำร่มกระดาษ ในยุคดิจิตอลถนนสายนี้มีชีวิตสดชื่นด้วยอุตสาหกรรมหัตถกรรมหลายแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ มีแหล่งทำเครื่องเงิน แหล่งทำเครื่องเคลือบศิลาดล เป็นต้น

ถ้าหากจะค่อยๆ แวะแต่ละแห่งเพื่อดูงานเหล่านี้ การเดินทางบนถนนสายสันกำแพงก็จะเต็มอิ่มไม่น้อย

กลิ่นอายล้านนาถูกสัมผัสได้บนถนนสายนี้ เป็นรางวัลที่สุดคุ้มของการมาเยือนเชียงใหม่สำหรับคนกรุงเทพฯ หรือของชาวต่างชาติที่เราเรียกว่านักท่องเที่ยว

ถนนสายนี้ยังมีแลนด์มาร์กแห่งใหม่ เป็นหอศิลป์ใหม่เอี่ยมที่มีชื่อว่า “ใหม่เอี่ยม” (MAIIAM) ว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เจ้าของหอศิลป์เลือกเชียงใหม่เป็นที่ที่เขาสร้างหอศิลป์แห่งนี้

เพราะเชียงใหม่ปัจจุบันนี้เป็นสังคมนานาชาติอย่างที่เรียกว่าคอสโมโปลิตัน การมีหอศิลป์ดีๆ ที่เชียงใหม่ยังทำให้คนมีโอกาสมาชมมากกว่าที่กรุงเทพฯ เสียอีก

 

เจ้าของหอศิลป์แห่งนี้คือฌอง มิแชล เบอร์เดอเลย์ และเอริค บุนนาค บูทส์ คนแรกเป็นสามี และคนที่สองเป็นบุตรชายของคุณพัฒศรี บุนนาค อดีตนางแบบชื่อดังยุคแรกๆ ของเมืองไทย ที่เอ่ยชื่อมาก็ต้องร้องอ๋อ

คุณมิแชลและคุณเอริคนำภาพเขียนและงานที่ครอบครัวสะสมไว้มาแสดง

รวมทั้งงานใหม่ๆ ทั้งภาพเขียนและงานลอยตัวที่เขาเป็นผู้เลือกสรรเพิ่มเข้ามาด้วย

ชื่อของหอศิลป์มาจากการนำคำว่า “ใหม่” ของเชียงใหม่ มาผสมกับคำว่า “เอี่ยม” ซึ่งหมายถึงเจ้าจอมเอี่ยมในรัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ในสกุลบุนนาค และเป็นบรรพบุรุษของตระกูล

ชื่อทางการของหอศิลป์แห่งนี้คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) ซึ่งหอศิลป์แห่งนี้ตั้งใจจะแสดงงานทั้งของศิลปินไทยและเอเชีย

และยังตั้งใจจะเปิดเนื้อที่ให้กับศิลปะแขนงอื่น เช่น ดนตรีและการแสดงด้วย

 

ในวันที่ไปเยี่ยมชมนั้นมีภาพเขียนของศิลปินที่รู้จักกันดีชาวไทยและชาวอาเซียน และมีงานที่น่าสนใจที่เรียกได้ว่าเป็นรสนิยมส่วนตัวตามที่เจ้าของคือคุณฌอง มิแชล เบอร์เดอเลย์ กับคุณเอริค บูทส์ ได้อธิบายไว้ตรงทางเข้าเป็นภาษาอังกฤษว่า “In no way does our collection represent the entire history of Thai contemporary art. Instead, it simply represents our own point of view based on the sole criterion of the emotional response we have to these works.”

พูดง่ายๆ ก็คือ เลือกมาเพราะชอบ เพราะถูกใจ

เราจึงได้เห็นงานในหัวข้อ Diaspora Exit, Exile,Exodus of Southeast Asia ซึ่งเป็นหัวข้อที่สะเทือนใจผู้คนในยุคสมัยนี้คือการอพยพของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่เรื่องราวของโรฮิงญา ไปจนถึงไทยใหญ่

เมื่อเดินเข้าไปในห้องที่ฉายวีดิทัศน์จะพบภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับผู้นำไทยใหญ่ในยุคปัจจุบันปลุกความรักชาติ ทำให้คิดถึงการต่อสู้อันยาวนานไม่สิ้นสุดของชาวไทยใหญ่ที่จะดำรงชาติของตนไว้

งานที่แสดงไว้เกี่ยวกับไทยใหญ่ปลุกเร้าให้ผู้เขียนใคร่รู้เกี่ยวกับไทยใหญ่เพิ่มเติม โลกใบนี้เต็มไปด้วยชนชาติ ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ต่อสู้ยาวนานเพื่อรักษาถิ่นที่อยู่และอัตลักษณ์ของตนไว้

 

ที่หอศิลป์ใหม่เอี่ยม เรายังเห็นงานของศิลปินชาวอินโดนีเซีย ที่พูดถึงการล่าสัตว์ป่า

งานของศิลปินญี่ปุ่นที่เป็นงานต่อผ้า patchwork

งานถ่ายภาพนายพลจากประเทศพม่า

งานเสียดสีที่มีชื่อว่า “เสือนอนกิน” ของมานิต ศรีวานิชภูมิ

ชิ้นงานแปลกทำจากกระดาษที่งดงามด้วยความอุตสาหะเป็นรูปเรือเดินสมุทรวางบนลังไม้ฉำฉาที่ชวนให้เพ่งพินิจอยู่นานๆ เป็นอย่างยิ่ง เป็นงานประดิษฐ์ไร้รูปแบบที่ไม่ค่อยเห็นที่ไหน และยากจะให้เหตุผลว่าถูกเลือกเข้ามาเพราะอะไร นอกจากว่า “ชอบ กระทบใจ”

ที่นี่เป็นที่ที่ศิลปินได้แสดงออกถึงฝีมือและสิ่งที่อยู่ในห้วงความคิด งานส่วนใหญ่ของที่นี่กระตุ้นให้เกิดการค้นหาและตีความ ไม่ใช่ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ชมเพื่อความดื่มด่ำหรืออรรถรสแห่งสุนทรีย์

เนื้อหาของศิลปินเป็นประเด็นทางสังคมที่ถูกจับมาวางเสนอตรงหน้า ไม่ตัดสิน

นิทรรศการจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไปคราวหน้าก็จะได้เห็นงานอื่นๆ ที่แปลกๆ ออกไป แปลกออกไป เพราะศิลปะมีพลวัต เกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด