บทวิเคราะห์ : 2จึงรุ่งเรืองกิจ ดิจิตอล vs อะนาล็อก สร้างดาวคนละดวง

ดิจิตอล vs อะนาล็อก

สร้างดาว

คนละดวง

 

ากพิจารณาสาแหรก “จึงรุ่งเรืองกิจ”

พบว่า แยกออกเป็น 2 สาย

หนึ่งคือ สายตระกูลจุฬางกูร มีนายสรรเสริญ (ฮังตง แซ่จึง) ลุงแท้ๆ ของนายธนาธร แปลง “แซ่จึง” เป็น “จุฬางกูร”

อีกสายหนึ่ง นายพัฒนา (ฮั้งฮ้อ แซ่จึง) บิดาของธนาธร และน้องๆ อีกสี่คน รวมถึงนายสุริยะ ผู้มีศักดิ์เป็นอาของนายธนาธร แปลง “แซ่จึง” เป็น “จึงรุ่งเรืองกิจ”

นายสรรเสริญกับนายพัฒนาร่วมกันสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นลูกจ้างร้านซ่อมเบาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์

ก่อนออกมาเปิดกิจการเอง

ในนามบริษัทสามมิตร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Summit Auto Industry ในปี 2515

ตระกูลจุฬางกูร+จึงรุ่งเรืองกิจ บริหารอาณาจักรซัมมิทมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ภายใต้การนำของนายพัฒนาและนางสมพร พ่อแม่ของนายธนาธร แยกตัวจากพี่ชายในปี 2520 มาเปิดบริษัทใหม่และเติมคำว่า “ไทย” ลงไปในชื่อเพื่อป้องกันความสับสน

เป็นไทยซัมมิท

นายธนาธรเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ว่า คุณอา (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) กับครอบครัว ทำธุรกิจ audio system อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งบริษัท โซนี่ พานาโซนิค ฯลฯ

ในนามกลุ่มบริษัท SEC-Summit Electronic Components

ในทางเศรษฐกิจและในทางการบริหารไม่เกี่ยวข้องกับไทยซัมมิทเลย

“อาสุริยะไม่มีหุ้นแม้แต่หุ้นเดียวตั้งแต่แรก”

“โดยส่วนตัวผมก็ไม่สนิทกับคุณอาอยู่แล้ว เจอกันตามงานครอบครัวทั่วไปเท่านั้น”

 

นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ซึ่งมีชื่ออยู่ใน “ทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีของไทย” ติดอันดับ 28 ในปี 2561

ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.11 หมื่นล้านบาท

ความมั่งคั่งของตระกูล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ดังกล่าว นอกจากนางสมพรกับนายพัฒนามีส่วนร่วมสร้าง-ร่วมสะสมแล้ว

นายธนาธรผู้ลูก ก็ถูกกล่าวขานว่ามีส่วนในการสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัวเช่นกัน

เขาเข้ามารับช่วงธุรกิจต่อจากนายพัฒนาที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ

ในฐานะรองประธานไทยซัมมิทกรุ๊ป

โดยมาดูแลการขยายธุรกิจในต่างประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันไทยซัมมิทกรุ๊ป มีฐานการผลิตอยู่ใน 7 ประเทศทั่วโลก

ผลงานชิ้นสำคัญ ในปี 2552 เข้าซื้อกิจการบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โอกิฮารา ผู้ผลิตแม่พิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลก

ในปี 2560 ทำสัญญาผลิตตัวถังรถยนต์ 5 แสนคัน/ปี ป้อนบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ

นอกจากทำให้ไทยซัมมิทกรุ๊ปเมื่อปีก่อน มียอดขายรวม 7.98 หมื่นล้านบาท กำไร 5.98 พันล้านบาทแล้ว

ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีวิชั่น ในการก้าวสู่ “ธุรกิจใหม่” อย่างรถยนต์ไฟฟ้า ที่ถูกมองว่า

จะเป็น “อนาคตใหม่” ของโลก

 

จะเป็นเหตุบังเอิญหรือจงใจ อย่างไรไม่ทราบ

วันนี้ อนาคตใหม่ ถูกนำไปใช้เป็นชื่อพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค

ขณะเดียวกัน นาม “สามมิตร” ซึ่งถูกใช้เป็นชื่อทำธุรกิจของจุฬางกูร+จึงรุ่งเรืองกิจ ในระยะแรก

ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นกัน

โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้นำไปใช้ตั้งชื่อกลุ่ม “สามมิตร”

เพียงแต่ดัดแปลงความหมายไปเป็นการร่วมมือของ 3 นักการเมือง อันประกอบด้วย

1) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 2) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ 3) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

แต่ก็สะท้อนถึงความผูกพันกับธุรกิจต้นตระกูลของนายสุริยะ และความเป็นสิริมงคลแห่งความเจริญรุ่งเรือง

“สามมิตร” จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อกลุ่มทางการเมือง

และแน่นอนว่า นี่ย่อมเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า การหวนกลับคืนสู่การเมืองของนายสุริยะครั้งนี้ เอาจริงเอาจัง และมุ่งมั่น

เหมือน “อนาคตใหม่” ของนายธนาธร

 

เพียงแต่ “อนาคตใหม่” และ “สามมิตร” อาจมีความแตกต่างกัน

ย้อนกลับไปวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ที่พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวและคัดเลือกกรรมการบริหารพรรค

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงวิสัยทัศน์อย่าง “ชัดเจน” ว่า

พรรคอนาคตใหม่จะมีส่วนในการผลักวาระ ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอาทหาร จะหนักแน่นในอุดมการณ์ เป็นการเมืองแห่งความหวัง

“เราต้องการความหวัง ถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมของทุกชนชั้น สังคมที่คนเท่ากัน ร่วมกันเขย่าประเทศไทย ร่วมกันดิสรัปชั่นการเมืองไทย อยากชวนสร้างพรรคของประชาชน หยุดกลัว ลุกขึ้นยืนด้วยความกล้าหาญ เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพื่ออนาคตใหม่ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

เช่นเดียวกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ที่ประกาศว่า

“เราตัดสินใจอย่างมุ่งมั่น และลงมือทำ หวังปรับภูมิทัศน์การเมืองไทยให้ดีขึ้น มุ่งกระจายอำนาจ เคารพสิทธิมนุษยชน ยึดหลักพลเรือนอยู่เหนือทหาร ขีดเส้นแบ่งการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่อย่างเห็นได้ชัด หากดูด-ซื้อเสียง สาดโคลน ใส่ร้ายป้ายสี จ้องมีตำแหน่ง จ้องมีอำนาจ คือการเมืองแบบเก่า อนาคตใหม่จะทำการเมืองแบบใหม่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ระดมทุนทำกิจกรรม เดินสายทั่วประเทศ ระดมทุนให้ได้ 350 ล้านบาท สำหรับรณรงค์หาเสียง”

“ไม่มีมุ้ง ไม่มีวัง มุ่งทำการเมืองระยะยาว ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ที่มี 20-30 เสียง ไปต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี เราต้องการเอาอำนาจกลับคืนไปสู่ประชาชน จะตั้งมูลนิธิคลังสมองของพรรค ตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม” ปิยบุตรกล่าวอย่างมุ่งมั่น

และความมุ่งมั่นดังกล่าว ก็คือสิ่งที่แตกต่างจากจุดยืนของกลุ่มสามมิตร

 

เพราะกลุ่มสามมิตรมีจุดยืนชัดเจนที่จะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐที่มีจุดยืนเคียงข้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐบาล อย่างไม่ปิดบังอำพราง

และประกาศว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ซึ่งนี่ย่อมเป็นด้านที่ตรงข้ามกับพรรคอนาคตใหม่อย่างสิ้นเชิง

ยิ่งกว่านั้น การสร้างพรรค

นายธนาธรย้ำถึงการเป็นพรรคมวลชน ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ จะมีการระดมเงิน 350 ล้านบาทมาขับเคลื่อนทางการเมือง

ถือเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการเมือง

ขณะที่กลุ่มสามมิตรเลือกจะเดินทาง “เก่า” ด้วยการพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักการเมืองเก่า

ใครมีศักยภาพเพียงพอที่จะหวนกลับมาสู่สภา

ล้วนเป็นหมายที่จะถูก “ทาบทาม”

หรือกล่าวด้วยศัพท์การเมือง พร้อมจะ “ดูด” เข้ามาร่วมพรรค

ซึ่งนายสุริยะ ก็ “ประเดิม” ให้เห็น ในโอกาสที่หวนคืนสู่การเมือง

ด้วยการเดินทางไป จ.เลย พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายอนุชา นาคาศัย ไปเยือนถิ่นการเมืองของนายปรีชา พร้อมกับนางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข และนายวันชัย บุษบา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสำคัญ

พร้อมกับยื่นบัตรเชิญให้เข้าร่วม “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างเป็นทางการ

มิใช่การซุบซิบ หรือแบบท่วงทำนอง แหล่งข่าวกล่าวว่า

แต่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย อึกทึกครึกโครม

ประหนึ่งว่า นี่คือการลั่นกลองรบอย่างเป็นทางการของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับเหล่ามวลมิตรนั่นเอง

และเป้าหมายก็เป็นพรรคเพื่อไทย ที่ฝ่ายกุมอำนาจต้องการแยกสลาย

 

การปรากฏตัวของกลุ่มสามมิตร จึงทรงความหมายอย่างสูงในทางการเมือง

จนทำให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ต้องออกคำชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว

ว่าสะท้อนให้เห็นจุดมุ่งหมายของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

ที่ยังไม่ได้ก้าวข้ามไปจากวิถีการเมืองน้ำเน่าแบบดั้งเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความชัดเจนเรื่องความต้องการสืบทอดอำนาจ

เราจึงได้เห็นการดำเนินการสนับสนุนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ อีกหลายพรรค

จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการดูดตัว ส.ส. ของพรรคต่างๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ให้เข้ามาสู่พรรคที่ตนจัดตั้งขึ้น

ใช้ตัวละครเดิมๆ ซึ่งมีภาพลักษณ์การใช้ทั้งเงิน อำนาจ การให้คุณให้โทษ การกดดันทางธุรกิจ และการให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใดๆ ที่ทุกครั้งที่มีเสียงปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้น

กระบวนการดูด ส.ส. จะเป็นกระแสที่นักการเมืองแบบดั้งเดิมจะมีความเคลื่อนไหวตลอด

โดยเฉพาะตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ฝ่ายผู้มีอำนาจได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งพรรคเพื่อแผ่นดินขึ้น

ซึ่ง คุณ ส… คนเดิมที่เป็นอดีตหัวขบวนของนักการเมืองตระกูล ส. ที่อยู่เบื้องหลังการดูดคนของพรรคไทยรักไทยไปพรรคใหม่ของตน

ผลการเลือกตั้งระยะหลังๆ ได้สะท้อนการตัดสินใจของประชาชนคือ ส.ส. คนเดิมที่ถูกดูด ล้วนสอบตกเกือบหมดทุกคน

ทั้งนี้ เพราะประชาชนผู้ลงคะแนนเขารู้ดีว่าจุดยืนของคนเหล่านี้คือเงินและผลประโยชน์ของตน

ที่สำคัญได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนย้ายจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน

ไปสู่อุดมการณ์แบบเผด็จการของกลุ่มทหารและผู้มีอำนาจซึ่งเป็นชนชั้นนำ

 

แม้เป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐจะมุ่งไปยังพรรคเพื่อไทย มากกว่าพรรคอนาคตใหม่

แต่กระนั้น ด้วยจุดยืนที่แตกต่างระหว่างอาสุริยะกับหลานธนาธร น่าจะทำให้ทั้ง 2 พรรค “ปะทะ” กันในทางความคิดและในเชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้นแน่นอน

ว่าที่จริง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หายจากแวดวงการเมืองไปก็เพราะการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรรคไทยรักไทยในปี 2550

ต่อมาถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งก็เป็นกลไกของคณะรัฐประหารดำเนินการเอาผิด เมื่อครั้งนายสุริยะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

แต่สุดท้ายคดีสิ้นสุดลงเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ในปี 2555

จากนั้นนายสุริยะเก็บตัวเงียบเรื่อยมา ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ และอาจจะวางมือทางการเมือง

 

แต่ที่สุดชื่อของนายสุริยะก็กลับมาอีกครั้ง

และเลือกที่จะอยู่ข้าง “คณะรัฐประหาร” ที่ถูกเปรียบเป็น “อะนาล็อก” ทางการเมือง

โดยมีหลานนายธนาธรที่ถูกเปรียบเป็น “ดิจิตอล” ทางการเมืองเป็นคู่เปรียบเทียบ

ว่าระหว่างคนที่เลือกเดินทาง “เก่า” ที่มีเขี้ยวโง้ง

จะประสบความสำเร็จเหนือ “คนรุ่นใหม่” ที่มีเพียงความ “ฝัน” และตั้งใจจะแปรเป็นที่นั่ง ส.ส. ได้หรือไม่

น่าติดตาม