เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงล่องแก่งแม่ปิง (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วันที่ 21 มิถุนายน ศกนี้ครบรอบ 156 ปีชาตกาลของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ทรงประสูติในปี พ.ศ.2405) ผู้เป็นต้นราชนิกุล “ดิศกุล”

ในฐานะที่ท่านเป็นทั้ง “บิดาแห่งนักปกครอง” เพราะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรก เป็นทั้ง “บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” และเป็นทั้ง “บิดาแห่งวงการมัคคุเทศก์สยาม” ดิฉันจึงขอร่วมรำลึกถึงผลงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของพระองค์ท่าน เนื่องจายยังไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงบ่อยนัก

นั่นคือผลงานเรื่อง “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ที่มีความยาวประมาณ 30 หน้าเศษๆ ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2464

โดยจะ “ถอดรหัส” หรือ “แกะรอย” ชื่อบ้านนามเมือง ภูมิศาสตร์ โบราณสถานตามเบี้ยบ้ายรายทางที่สมเด็จในกรมท่านเสด็จผ่านและได้บันทึกเหตุการณ์ที่พานพบไว้ ในคราวส่งเสด็จขากลับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (ขามาเชียงใหม่ เดินทางโดยรถไฟ)

อนึ่ง เคยมีนักวิชาการรุ่นพี่โบราณคดีท่านหนึ่งเคยถอดรหัสเส้นทางชลมารคสายนี้ไว้แล้วอย่างละเอียด คือ ศาสตราจารย์พิเศษ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ในที่นี้ ดิฉันจะเพิ่มมุมมองใหม่ ถือว่าเป็นส่วนเสริมหรือข้อสังเกตบางประการนอกเหนือไปจากการที่ “พี่หม่อมนก” เคยวิเคราะห์ไว้แล้ว

หมายเหตุไว้ก่อนว่า การถอดรหัสของดิฉันครั้งนี้ จะเน้นเพียงแค่ลำน้ำปิงตอนบนเท่านั้น คือเชียงใหม่ ลำพูน ตาก

เนื่องจากดิฉันมีประสบการณ์เส้นทางนี้มากกว่าลำน้ำปิงตอนล่างตั้งแต่กำแพงเพชรลงไปถึงนครสวรรค์

เอกสารอีกเล่มหนึ่งที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบประกอบการวิเคราะห์กับเรื่อง “อธิบายระยะทางล่องน้ำพิง” ก็คือหนังสือ “ระยะทางไปมณฑลภาคพายัพ” เรียบเรียงโดย พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ซึ่งท่านผู้นี้เป็นหนึ่งในคณะที่ร่วมเดินทางไปกับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ด้วย

ให้นึกฉงนอยู่เล็กน้อยเกี่ยวกับศักราชที่บันทึก ของสมเด็จในกรมทรงบันทึกว่าเป็นปี 2464 แต่ของพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ระบุว่าเป็นปี 2465 (บางที พ.ศ. ที่แตกต่างนี้ อาจเป็นการนับแบบอดีต กับนับแบบปัจจุบันก็เป็นได้ กล่าวคือหากนับแบบปัจจุบันซึ่งถือ 1 มกราคมเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ จะตรงกับ พ.ศ.2465)

 

ไขปริศนาเสาอินทขีลที่วัดเจดีย์หลวง
ว่าย้ายมาจากเวียงป่าซาง

ข้อความที่น่าสนใจในบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ได้กล่าวว่า “เวลาบ่าย 2 โมงครึ่ง ถึงที่พักแรมตำบลปากบ่อง” แขวงเมืองลำพูน

คำว่า “ปากบ่อง” นั้นมีสถานะขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงที่สมเด็จในกรมเสด็จมานี้มีฐานะเป็น “ตำบล”

แต่หลังจาก พ.ศ.2465 เพียงไม่กี่ปี คือราว พ.ศ.2470-2480 เขยิบฐานะใหม่กลายเป็นอำเภอขนาดใหญ่มาก (กินพื้นที่ครอบคลุม อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่งบางส่วน และอำเภอเวียงหนองล่อง ของปัจจุบัน)

ในที่สุดอำเภอปากบ่องก็เปลี่ยนชื่อและถูกแยกมาเป็นอำเภอป่าซาง กับกิ่งอำเภอบ้านโฮ่ง

เวลาห้าโมงเย็น คณะได้ไปดู “เวียงป่าซาง” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุไว้ว่า

“เวียงป่าซางเดี๋ยวนี้มีตลาดใหญ่ มีวัดเก่า 2 วัด เรียกวัดอินทขีล คือหลักเมือง แต่หลักอินทขีลได้ถอนไปรวมไว้กับหลักเมืองเชียงใหม่วัด 1”

ส่วนอีก 1 วัดคือวัดป่าซางงาม ซึ่งสมเด็จในกรม ไม่ได้พรรณนาถึงมากนัก ทั้งๆ ที่เป็นวัดที่มีความงดงามมาก

ดิฉันเคยตั้งคำถามในบทความว่าด้วยปริศนาของเสาอินทขีล วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ในคอลัมน์นี้เมื่อหลายปีก่อนว่า เสาอินทขีลที่พระญากาวิละ นำมาประดิษฐานไว้กลางเมืองเชียงใหม่ และทำหน้าที่เสมือนเป็นหลักเมืองนั้น ทำไมถามปราชญ์ล้านนาหลายท่าน ก็ไม่มีใครทราบถึงที่มาที่ไป ว่าพระญากาวิละได้มาจากไหน เนื่องจากไม่มีการบันทึกไว้ในตำนาน หรือวังสะต่างๆ เลย

ทำให้หลายท่านคาดเดาว่า บางทีพระญากาวิละอาจถอนอินทขีลต้นเดิมมาจากวัดสะดือเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือบริเวณเจดีย์แปดเหลี่ยมภายในหอศิลป์สามกษัตริย์ของเทศบาล)

ซึ่งเสาอินทขีลนี้น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับสะดือเมืองตั้งแต่สมัยพระญามังรายเมื่อราว 720 กว่าปีก่อนแล้ว

มีผู้คัดค้านความเชื่อดังกล่าวอยู่เพียงไม่กี่คน

อาทิ อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ให้ความเห็นว่า “เป็นไปไม่ได้เลย ที่เสาอินทขีลในยุคพระญามังรายจะตั้งอยู่บริเวณวัดสะดือเมือง (ร้าง) เพราะสะดือเมืองเป็นชื่อที่ระบุตำแหน่งว่าบริเวณนั้นเป็นจุดกึ่งกลางเมืองเท่านั้น แต่อินทขีลไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในจุดสะดือเมืองแบบเป๊ะๆ เสาอินทขีลของพระญามังราย จากการศึกษาของผมคือ รั้วหรือเสาสองต้นเล็กๆ ในลักษณะ “โตรณะ” ที่ประดับอยู่บริเวณประตูเมืองทิศต่างๆ ของเชียงใหม่มากกว่า”

เป็นที่แน่ชัดว่า ในสมัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีช่วงชีวิตที่ห่างไกลจากสมัยพระญากาวิละประมาณ 120 ปี ยังมีการรับรู้ว่า เสาอินทขีลกลางเมืองเชียงใหม่ในวัดเจดีย์หลวงนั้น เป็นการถอนมาจาก วัดอินทขีลป่าซาง เมืองลำพูน

ซึ่งน่าประหลาดใจว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปอีกเพียง 100 ปี คือในยุคสมัยของเรา ข้อมูลในส่วนนี้กลับไม่เป็นที่รับรู้ของชาวเชียงใหม่-ลำพูนอีกต่อไป

 

ชื่อเกาะกลางมีตั้งแต่เมื่อไหร่
100 ปีก่อนยังเรียกวัดดอน วัดเดิม

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ คณะเดินทางมาถึงบริเวณบ้านหนองดู่ ซึ่งเป็นชุมชนบ้านมอญ โดยสมเด็จในกรมกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ว่า “อพยพขึ้นมาจากข้างใต้ได้สัก 3 ชั่วคน เดี๋ยวนี้มีมอญประมาณ 120 คน มีวัดโบราณ 2 วัด วัดดอนหรือเรียกว่าวัดเดิม… อีกวัดหนึ่งอยู่ริมน้ำเป็นวัดเก่าปฏิสังขรณ์ใหม่ (หมายถึงวัดหนองดู่)”

ข้อความนี้มีปริศนาชวนให้ต้องขบคิดอยู่หลายข้อ

คำถามแรกคือ จริงหรือที่ชาวมอญบ้านหนองดู่อพยพขึ้นมาจากทางใต้ 3 ชั่วอายุคนเท่านั้น และคำว่า “ทางใต้” ควรหมายถึงที่ไหน มอญโพธาราม มอญสังขละ มอญบางขันหมาก มอญปทุมธานี มอญพระประแดง หรือมอญเกาะเกร็ด?

แล้วทำไมชาวมอญหนองดู่-บ่อคาว กลับเขียนบันทึกของพวกตนว่า เป็น “เมงคบุตร” หมายถึงลูกหลานพระนางจามเทวี เป็นมอญโบราณที่สืบเชื้อสายมาจากยุคหริภุญไชย ที่ตกค้างมาตั้งแต่ 1,400 ปี

และแน่นอนว่า อาจมีบรรพบุรุษบางตระกูลอพยพมาจาก “หงสาวดี” ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ค่อยๆ เข้ามาสมทบอีกหลายระลอก กับมอญเจ้าถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมีมาก่อนแล้วและเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ล้มหายตายจากไปจนชนิดสูญพันธุ์หมด

ถ้าเป็นยุคสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็น่าจะเกิน 3 ชั่วอายุคนแน่นอน หรือว่าในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช หรือต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีการอพยพชาวมอญจากรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ขึ้นมาอยู่ที่ลุ่มแม่ปิง สมทบกับมอญโบราณอีกด้วยหรือไม่

สิ่งที่น่าสนใจประเด็นถัดมาคือ จำนวนตัวเลขชาวมอญเพียง 120 คนใน พ.ศ.2464 นั้น ดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าน้อยเกินไปหรือไม่ แต่ ณ ปัจจุบัน ทราบจากอดีตพ่อหลวงบ้านบ่อคาว และรองเจ้าอาวาสวัดหนองดู่ ให้ตัวเลขว่าชาวมอญที่ป่าซางมีประมาณ 500 หลังคาเรือน (สมมติว่าครอบครัวละ 4 คนโดยเฉลี่ย) ก็เท่ากับว่ามีชาวมอญที่เหลืออยู่ในลำพูนยุคปัจจุบันเพียง 2,000 คนเท่านั้น

มาถึงประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดคือชื่อเรียกวัด 2 แห่งที่เป็นวัดมอญ วัดหนึ่งเคยมีชื่อว่าวัดต้นดู่ และต่อมาเรียกวัดหนองดู่ ซึ่งสมเด็จในกรมก็ระบุว่า ไม่ใช่วัดใหม่ แต่เป็นการปฏิสังขรณ์วัดเก่าขึ้นมาใหม่เช่นกัน

ส่วนวัดอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนที่ดอน ทำให้ชาวบ้านเรียก “วัดดอน” หรือบางครั้งเรียก “วัดเดิม” สะท้อนว่าเป็นวัดเก่าแก่กว่าวัดหนองดู่ ซึ่งวัดดอน-วัดเดิมนี้ก็คือวัดเกาะกลางนั่นเอง เนื่องจากมีลายปูนปั้นสมัยล้านนาและตัวสถาปัตยกรรมเก่าถึงสมัยหริภุญไชย

ทำให้สงสัยว่า ในยุคของสมเด็จในกรม ยังไม่มีการเรียกวัดที่มีโบราณสถานโบราณวัตถุเก่าแก่แห่งนี้ว่า “วัดเกาะกลาง” ดอกล่ะหรือ ถ้าเช่นนั้น ยุคไหนและโดยใครมาเปลี่ยนชื่อเรียกให้เป็น “วัดเกาะกลาง”

สัปดาห์หน้าจะชวนไขปริศนา เรื่องศิลาจารึกของวัดพระธาตุดอยน้อย (อำเภอดอยหล่อ) จังหวัดเชียงใหม่ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสว่า “ถูกนำไปไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง” เป็นความจริงล่ะหรือ ท่านหมายถึงหลักใดเล่า ในเมื่อที่วัดพระธาตุศรีจอมทองมีศิลาจารึกหลายหลัก และที่วัดพระธาตุดอยน้อยเอง ปัจจุบันก็มีจารึกสำคัญอยู่แล้ว 1 หลัก

ปักติดที่โคนฐานพระธาตุ เป็นการเอากลับคืนมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทองหรือเช่นไร โดยใคร เมื่อไหร่ หรือสมเด็จในกรมทรงหมายถึงศิลาจารึกหลักอื่น?