โพธิคยาวิชชาลัย 980 โมเดลขับเคลื่อน “พุทธไร้พรมแดน”

เมื่อปี 2560 “ชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980” ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการพุทธศาสนาให้เกิดขึ้น

ไม่ได้ปรากฏเฉพาะแถบภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น

แต่กระหึ่มไปทั้งโลก ด้วยการจัดโครงการ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา” ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2560

โครงการดังกล่าวเป็นการเดินจาริกแสวงบุญ เพื่อเผยแผ่และสร้างความมั่นคงในพระพุทธศาสนา 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง

โดยนอกเหนือจากพระภิกษุสงฆ์ที่ออกเดินจาริกแล้ว ยังมีฆราวาส อุบาสก อุบาสิกาจำนวนหนึ่งร่วมเดินทางด้วย

รวมทั้งสื่อมวลชนจาก 5 ประเทศ

งานนี้หนแรกไม่มีใครคาดคิดว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้

เพราะต่างรู้ดีว่าในบรรดาประเทศที่กล่าวมานั้น แตกต่างกันทั้งในระบบการปกครอง ภาษา และเชื้อชาติ

แต่เพราะต่างมีหัวใจดวงเดียวกัน คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน” จึงสามารถหลอมรวมจิตใจและศรัทธาในพระพุทธศาสนาของประชาชน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าด้วยกันได้อย่างแนบแน่น

จนกลายเป็นโครงการดังกล่าวและต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก

หลายคนอาจยังไม่รู้จัก “โพธิคยาวิชชาลัย 980”

หรือบางคนอาจได้ยินมาบ้าง แต่ยังไม่รู้ถึงภาระหน้าที่ ความเป็นมาของชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980 ที่แตกหน่อมาจาก “สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย” ซึ่งเป็นสถาบันที่มีกำเนิดขึ้นที่วัดไทยพุทธคยา ต.พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

โดยมีพระธรรมโพธิวงศ์ (สมณศักดิ์ในตอนนั้นเป็นพระเทพโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา) หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพ

ตั้งแต่นักธุรกิจระดับบิ๊กของประเทศ ไปจนถึงข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และประชาชนทั่วไป ที่ได้ไปอุปสมบทใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ มหาเจดีย์พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

ซึ่งหลังจากลาสิกขาแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

จึงรวมตัวกันตั้งใจช่วยจรรโลงศาสนา เผยแผ่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งเป็นชมรมขึ้น โดยคำว่า “โพธิ” หมายถึงโพธิญาณ คือการได้บวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า “คยา” คือพุทธคยา “เลข 9” หมายถึงเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และ 80 เป็นโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา

ชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980 มี “ชัช ชลวร” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน “อภัย จันทนจุลกะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธาน “สุภชัย วีระภุชงค์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด เป็นเลขานุการ

ขณะที่ “เกษม มูลจันทร์” อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมประพฤติ และ “สุรพล มณีพงศ์” ท่านทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองเลขานุการ

นอกจากนี้ยังมีพระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร

พระธรรมวรนายก ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ปรึกษา พระเมธีวรญาณ (ท่านเจ้าคุณสายเพชร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

และยังมีพระเถรานุเถระผู้ใหญ่อื่นๆ อีกหลายรูป

งานระยะแรกของชมรมเป็นการสนับสนุนสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ที่วัดไทยพุทธคยา อินเดีย จัดหาทุนเพื่อสนับสนุนพระภิกษุให้เดินทางไปศึกษายังแดนพุทธภูมิ และจัดตั้งโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล

เพราะเห็นว่าการจะสร้างบุคลากรทางศาสนาให้เป็นนักเทศน์นั้น ไม่เพียงการจบเปรียญ หรือปฏิบัติธรรมเชิงลึกแล้วจะสามารถเทศน์ได้ดี

แต่พระต้องปฏิบัติให้ญาติโยมเห็นเป็นตัวอย่าง ไม่เน้นอวิชชา การแก้ดวง ผูกดวง แต่เน้นการประมวลความรู้ ส่งเสริมการเผยแผ่ และปกป้องพระพุทธศาสนา

โดยสามารถน้อมนำพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก และการเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาใช้อย่างถูกต้อง

นอกเหนือจากร่วมแรงร่วมใจหาทุนแล้ว ยังได้จัดงานองค์ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาตามวาระและโอกาส

อาทิ จัดประชุมเสวนา “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ : สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง” การอบรมธรรมและสอนการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน และผู้สนใจทั่วไป

ซึ่งเรื่องนี้ “สุภชัย วีระภุชงค์” เลขาฯ ชมรมชี้แจงว่ากระแสโลกาภิวัตน์ขณะนี้เน้นความเจริญด้านวัตถุ ไม่ให้ความสนใจด้านนามธรรม แต่พุทธศาสนาสอนเรื่องกายกับจิต ในการส่งพระสงฆ์มาศึกษาปฏิบัติธรรมเชิงลึก รุ่นแรกๆ ใช้แนวคิด “ธรรมวิชัย คือ การชนะโดยธรรม”

แต่เมื่อถึงรุ่นที่ 3 สถาบันจึงชูแนวคิด “พุทธพลิกโลก” คือการนำพุทธปณิธานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ที่ว่า ต้องมีพุทธบริษัท 4 ครบ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาต่อยอด พระพุทธศาสนาจึงจะอยู่ได้

ดังนั้น พุทธบริษัท โดยเฉพาะพระสงฆ์ต้องรู้เข้าใจ ปฏิบัติ สอนเผยแผ่ศาสนา และสามารถแก้ไขข้อติฉินนินทาได้ เป็นการนำลมหายใจขององค์พระศาสดามาเผยแผ่พุทธศาสนา

จาก “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ” มาสู่ “พุทธพลิกโลก” แล้วจึงมาถึงโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน

ซึ่งการจัดขึ้นครั้งแรกมีจุดเริ่มต้นมาจาก สุภชัย วีระภุชงค์ ได้สนทนาธรรมกับ “พระอาจารย์ใหญ่-ดร.พระมหาผ่อง สะมะเลิก” ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ลาว (สังฆราชลาว) พระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง ที่เพิ่งละสังขารไปเมื่อปีกว่า ด้วยอายุ 101 ปี

พระมหาผ่องได้ย้ำกับสุภชัย แม้กระทั่งวาระใกล้จะละสังขารว่าอยากเห็น “สมณธรรม นำสันติภาพ” คืออยากเห็นชาวพุทธรวมพลังกันช่วยปกป้อง รวมพลังกันช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความสุขสงบของชาวโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความสัมพันธ์อันดีงามบนแผ่นดินสุวรรณภูมิของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

ด้วยปณิธานของพระมหาผ่อง บวกกับความศรัทธาและความตั้งใจของชาวโพธิฯ โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงครั้งแรกจึงเกิดขึ้น

และกว่างานจะสำเร็จลุล่วงไปได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย

อย่างไรก็ตาม ไม่เหนือบ่ากว่าแรงศรัทธาที่เหล่าพุทธบริษัทมีต่อพระพุทธศาสนา และความร่วมมือของรัฐบาล คณะสงฆ์ ของทั้ง 5 ประเทศ

“ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง” เริ่มยาตราจากภาคอีสาน สถานที่ก่อสร้างพระอริยธาตุ เจดีย์ศรีสุวรรณภูมิ ตรงข้ามวัดโพธิ์สระปทุม บ้านกุศกร ต.กุศกร อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี บ้านเกิดของพระมหาผ่อง และปิดโครงการที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ

อันที่จริงแล้ว ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน อีกแง่มุมหนึ่งนั้น ถือเป็นความคิดเชิงรุกในการนำพุทธศาสนามาเชื่อมโยงแผ่นดินสุวรรณภูมิ มุ่งหวังให้เกิดการผนึกความสามัคคีในกลุ่มประเทศชาวพุทธ เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันทำงานหนุนการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา

ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดความสงบสุขของประชาชนในประชาคมอาเซียน สอดคล้องกับนโยบาย 3 เสาหลักอาเซียน

โดยมุ่งเน้นเสาที่ 3 คือการสร้างประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ให้เกิดความร่วมมือและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนลุ่มน้ำโขง

โดยหวังว่าในอนาคต ดินแดนลุ่มน้ำโขงหรือสุวรรณภูมิ จะเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา

ส่วนที่ต้องเป็น “ธรรมยาตรา” นั้น เนื่องเพราะเป็นการย้อนรอยไปครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำการสังคายนา โดยใช้ “ขบวนธรรมยาตรา” เสด็จไปตามแว่นแคว้นที่มีความเห็นต่างกัน โดยไปในที่ที่มีความเป็นอยู่ต่างกัน ประสงค์ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ความสงบร่มเย็นขึ้นภายในสังคมที่เร่าร้อน

“พระเจ้าอโศกมหาราชใช้การธรรมยาตราเสด็จไปตามแคว้นต่างๆ บางเมืองเป็นคู่อริกัน ท่านอาศัยธรรมยาตราทำให้ลืมความขัดแย้ง กลายเป็นความสมัครสมานสามัคคี โลกเราทุกวันนี้ถ้าจะดับทุกข์ให้ได้ทั้งหมด อะไรจะเกินกว่าความสามัคคีไม่มีอีกแล้ว” สุภชัย เลขาฯ ชมรม อธิบายเพิ่มเติม

ประจักษ์พยานที่ทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของคน 5 แผ่นดิน

เห็นได้จากภาพผู้คนจากสารทิศใน 5 ประเทศ ทั้งพระสงฆ์ ตั้งแต่ระดับพระผู้ใหญ่ไปจนถึงสงฆ์ชั้นธรรมดา คนในรัฐบาล อาทิ นายสีทน แก้วพูวงค์ ประธานแนวลาวสร้างชาติ แขวงจำปาสัก, นายขันคำ แก่นบุดตา หัวหน้าแผนกการต่างประเทศ แขวงจำปาสัก, นายบัววัน สีสมพร รองหัวหน้าห้องว่าการแขวงจำปาสัก ดร.อนันต์ อินทะวง ผู้ประสานงานโครงการพระธรรมทูตไทย-ลาว

ขณะที่ฝ่ายเมียนมา มี ดร.คิน ฉ่วย ในนามตัวแทนชาวพุทธของสหภาพเมียนมา นายมูต่ง ผู้นำกะเหรี่ยงในเมียนมา ต่างร่วมแรงร่วมใจช่วยผลักดันโครงการนี้เป็นอย่างดี

ไม่มีการเมือง ไม่มีความขัดแย้ง ไม่แบ่งเชื้อชาติ

แต่เป็นความรู้สึกเดียวกัน คือเป็นลูกที่มีพ่อคนเดียวกัน คือองค์พระตถาคต

จากความสำเร็จของธรรมยาตรา 5 แผ่นดินครั้งแรก ได้กลายมาเป็นพลังขับเคลื่อนให้ชาวโพธิคยาฯ เตรียมจัดโครงการ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 2” ขึ้นอีกในปี 2562 โดยแผ่นดินล้านนาที่ จ.เชียงราย จะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง แต่ธรรมยาตราครั้งที่สองนี้จะเป็น “ธรรมยาตรา 6 แผ่นดิน” คือรวมเอาสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาด้วย

เป็นการรวม 6 แผ่นดินพุทธ เพราะคนจีนก็นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน

สุภชัย วีระภุชงค์ ชี้แจงถึงภารกิจใหม่นี้ว่า โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 2 เป็นการขยับอีกก้าวย่างหนึ่งที่จะประกาศดินแดนศักดิ์สิทธิ์พุทธศาสนาลุ่มแม่น้ำโขง โดยรวบรวม 6 แผ่นดินพุทธ ซึ่งนับถือพุทธมานานกว่า 2,300 ปี ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยจะใช้เส้นทาง จ.เชียงรายเป็นฐาน

ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พระอารามหลวง จ.เชียงราย ขับเคลื่อนธรรมยาตราเข้าประเทศเมียนมา ไปในเขตไทยใหญ่

ซึ่งปีที่แล้วเราเข้าไปในเขตมอญและเขตกะเหรี่ยงไปแล้วที่เมืองสะเทิม และได้ไปปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระธาตุอินทร์แขวน และในทุกจุดที่เราไป

ซึ่งครั้งนี้ตั้งใจว่าจะเดินทางเข้าทางไทยใหญ่ ไปสิบสองปันนา

ซึ่งก่อนถึงสิบสองปันนามีเส้นทางหนึ่งผ่านเข้าหลวงพระบาง จะใช้เส้นทางจากหลวงพระบางทางรถยนต์ ในการผ่านเข้าสู่จังหวัดเดียนเบียนฟู จังหวัดทางภาคเหนือของลาวติดกับจีน

เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าเราได้ครบ ตั้งแต่ไทย เมียนมา จีน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ส่วนขากลับจะมาทาง จ.น่าน ใช้เส้นทางในประเทศไทยเลาะเลียบแม่น้ำโขง ไปที่พระธาตุพนม จ.นครพนม ผ่าน จ.สกลนคร หนองคาย จนถึงอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่ผ่อง สะมะเลิก

จากนั้นจะข้ามด่านไทยไปยังกัมพูชา เพื่อไปที่เขาพระวิหาร

“เป็นความฝันของเราที่จะขึ้นไปปักธงธรรมจักรบนยอดเขาพระวิหารจากฝั่งกัมพูชา

และจะไปปิดโครงการกันที่เมืองเสียมเรียบ ซึ่งจะขอความเมตตาจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้ใช้ปราสาทนครธม ประกาศรวมพุทธ 6 แผ่นดิน เสมือนความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในอดีต ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนที่ทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น

เรามีความเชื่อในพระสมณโคดม กว่าจะเป็นพระศรีอาริยเมตไตรในอีกหลายพันปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น โครงการที่เราวาดหวัง ด้วยความมุ่งมั่น ด้วยความวิริยะ สมาธิ ปัญญาเท่าที่จะทำได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือความฝันที่เราอยากจะรวบรวมชาวพุทธให้มีความเข้มแข็ง ให้เป็นพี่เป็นน้อง ให้รักกัน

และส่วนหนึ่งก็คืออยากให้คนไทยได้เห็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเสมือนกระจกเงา ส่องให้เห็นความรักความสามัคคีของเขาเหล่านั้น”

นี่คือความฝันที่เป็นงานยาก

แต่ถึงจะยากแค่ไหน นับว่าเป็นการเริ่มต้นจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง

จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งและจุดต่อๆ ไป

กระทั่งแสงเทียนสว่างไสวไปทั่วสุวรรณภูมิ