โฟกัสพระเครื่อง /โคมคำ/เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ วัดหงษ์ทอง กำแพงเพชร

.หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ

วัดหงษ์ทอง กำแพงเพชร

 

“พระวชิรสารโสภณ” หรือ “หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหงษ์ทอง ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และอดีตเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี พระเถระที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธา

สร้างโรงเรียนวชิรสารโสภณและสนับสนุนโรงเรียนสลกบาตรมาเป็นเวลานาน

กล่าวถึงวัตถุมงคลนั้น คณะศิษยานุศิษย์ที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาร่วมกันจัดสร้างขึ้นมีอยู่หลายรุ่น แต่เป็นที่นิยมของบรรดานักสะสมพระเครื่องวัตถุมงคลคือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อจุลรุ่นแรก วัดหงษ์ทอง กำแพงเพชร พ.ศ.2499”

จัดสร้างขึ้นวาระที่คณะศิษย์ชาวเมืองกำแพงเพชรสร้างเป็นที่ระลึกถวายไว้แจกเป็นที่ระลึก

ลักษณะเป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจุลนั่งขัดสมาธิเต็มองค์หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “ที่ระฤกในงานถวายของขวัญพระครูวิกรมวชิรสาร วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๙”

ด้านหลังเหรียญ ตรงเป็นตรงกลางเป็นอักขระยันต์

เหรียญหลวงพ่อจุล เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านแคล้วคลาดปลอดภัย

ปัจจุบันเหรียญรุ่นดังกล่าวเริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

เหรียญหลวงพ่อจุล (หน้า)
เหรียญหลวงพ่อจุล (หลัง)

 

มีนามเดิม จุล พุทธชาติ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2437 ตรงกับขึ้น 10 ค่ำ ปีมะเมีย ที่บ้านสลกบาตร ต.สลกบาตร เป็นบุตรคนโตของครอบครัว

เมื่อเยาว์วัยเรียนหนังสือที่วัดพออ่านออกเขียนได้ ครั้นจบชั้นประถม ก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน

อายุ 21 ปี ได้ไปเป็นศิษย์วัดที่จังหวัดตาก นานถึง 2 ปี

อายุ 23 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2460 ที่อุโบสถวัดหงษ์ทอง มีพระครูติธรรมสมาทาน (เลื่อน) วัดอุดมศรัทธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

อยู่จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสิงคาราม แต่ก็ยังไปมาระหว่างวัดหงษ์ทองกับวัดสิงคาราม

เมื่อบวชได้ 3 พรรษา กราบลาพระครูติธรรมสมาทาน เพื่อไปศึกษาวิชาต่อที่วัดบ้านแก่ง เป็นศิษย์พระครูนิวุตถ์พรหมจรรย์ (ทองอยู่) อ.เมือง จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อทองอยู่ วัดบ้านแก่ง มีกิตติคุณและชื่อเสียงเป็นพระที่มีวิทยาคมขลัง ด้านพระปริยัติธรรม มีความรู้ดี ในแต่ละปีจะมีพระภิกษุจากเมืองนครสวรรค์-กำแพงเพชร ไปฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอให้ท่านถ่ายทอดวิชาความรู้ต่างๆ ให้

กล่าวขานว่าเป็นศิษย์ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม) วัดหนองโพธิ์ แต่บางท่านกล่าวว่า หลวงพ่อทองอยู่เป็นสหายทางธรรมกับหลวงพ่อเดิม

พระภิกษุจุล อิสสรญาโณ ได้มาศึกษาในสำนักพระอาจารย์ทองอยู่หลายพรรษา ดังนั้น วิชาความรู้ต่างๆ จึงได้ไปครบทุกอย่าง คือ ด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ล้วนแตกฉาน

กาลต่อมา เมื่อวัดหงษ์ทองว่างสมภารและจะหาพระภิกษุที่เหมาะสมเพื่อเป็นเจ้าอาวาส มัคทายกพร้อมด้วยชาวบ้านสลกบาตรได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อจะสรรหาเจ้าอาวาสที่มีความสามารถ จะได้พัฒนาวัดให้เจริญก้าวหน้า

ในที่สุดเห็นพ้องต้องกันว่า พระภิกษุจุลเป็นพระภิกษุในท้องถิ่นและเคยอยู่วัดหงษ์ทองมาก่อน มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จึงพร้อมใจกันเดินทางไปนิมนต์มาจำพรรษา และรับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหงสษ์ทองสืบต่อมา

 

หลวงพ่อจุลทำนุบำรุงพระศาสนาและเป็นผู้ที่เอาใจใส่ในกิจการของพระศาสนาด้วยดีตลอดมา ท่านเป็นพระเถระที่มีกิตติศัพท์ที่เลื่องลือและสำคัญรูปหนึ่ง

ปฏิบัติในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีคุณูปการแก่พระศาสนาอเนกประการ ญาติมิตรและสาธุชนทั่วไป ท่านอบรมสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างดีตลอดมา

ลำดับสมณศักดิ์ ดังนี้

พ.ศ.2478 พระฐานานุกรมของพระวิบูลย์วชิรธรรม ตำแหน่งพระใบฎีกา

พ.ศ.2480 ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นพระสมุห์

พ.ศ.2481 ได้รับสมณศักดิ์ที่ พระครูวิกรมวชิรสาร

พ.ศ.2502 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวชิรสารโสภณ

ลำดับงานปกครอง

พ.ศ.2470 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดหงษ์ทอง จ.กำแพงเพชร

พ.ศ.2471 เจ้าคณะตำบลสลกบาตร

พ.ศ.2478 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2487 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการจังหวัด และเป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรม

ชีวิตบั้นปลายและการมรณภาพ เป็นพระที่พัฒนาและสร้างสรรค์ความเจริญให้วัดหงษ์ทองเป็นอย่างมาก

ครั้นอายุมาก สังขารร่วงโรย หลวงพ่อจุลมีอาการอาพาธเป็นเบาหวานและโรคปอด ญาติและศิษย์ช่วยกันนำท่านไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ แต่อาการป่วยของท่านทรุดลง ไม่บรรเทา

ในที่สุดก็มรณภาพลง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2512 สิริอายุ 74 ปี พรรษา 51