“เนติบริกร” ย้อนเล่าเรื่องหมดปัญญาปราม “อินทรชิต” เหตุโบกมือลารัฐบาล “ทักษิณ”

บุคคลหนึ่งที่มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับคุณทักษิณ และน่าจะฉายภาพทั้งจุดดีและจุดด้อยของคุณทักษิณได้ดีมากคนหนึ่งก็คือ นายวิษณุ เครืองาม ผู้ซึ่งขลุกอยู่ในทำเนียบรัฐบาลมายาวนาน จนได้ฉายา “เนติบริกร” ดำรงทั้งตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี

ผ่านการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี 7 คน 10 รัฐบาล ได้รู้ได้เห็นสไตล์การทำงาน ความเป็นไปของนายกรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย กระทั่งบอกได้หมดว่านายกรัฐมนตรีคนไหนมีจุดอ่อน จุดแข็ง จุดน่าชื่นชมหรือจุดบกพร่องอย่างไรบ้าง

ซึ่งนายวิษณุสรุปเอาไว้ว่า ถ้าเอาส่วนผสมของนายกรัฐมนตรีทั้ง 7 คน มาเขย่าเป็นเนื้อเดียว ไทยจะได้นายกรัฐมนตรีที่สมบูรณ์แบบมาก

ประสบการณ์อันมีค่าเหล่านี้ นายวิษณุได้นำมาเขียนเป็นหนังสือชุด “เรื่องเล่าจากเนติบริกร” ซึ่งมีด้วยกัน 3 เล่ม คือ 1.โลกนี้คือละคร-เปิดฉากละครโรงใหญ่ ฉายความจริงในทำเนียบรัฐบาล 2.เล่าเรื่องผู้นำ 3.หลังม่านการเมือง ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนและเป็นหนังสือขายดีมากในขณะนี้ จนต้องพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 ภายในเวลาอันรวดเร็ว อย่างเล่ม “โลกนี้คือละคร” ยอดขายทะลุ 2 หมื่นเล่มแล้ว

หนังสือชุดนี้ของนายวิษณุ ถือเป็นข้อมูลวงในการเมือง เขียนโดยผู้ที่ได้สัมผัสของจริง ที่หาอ่านกันไม่ได้ง่ายๆ เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นคู่มือของทั้งข้าราชการ นักปกครอง นักศึกษารัฐศาสตร์ รวมทั้งผู้ที่จะก้าวมาเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี

ส่วนผู้สนใจเรื่องการบ้านการเมืองทั่วไปก็จะได้เกร็ดความรู้ที่หาอ่านจากที่อื่นได้ยาก เช่นว่ารัฐบาลนั้นเขาทำงานกันอย่างไร ภายในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคารที่เป็นการประชุมความลับสุดยอดของประเทศเขาทำอะไรกันบ้าง

ตลอดจนระเบียบ ขั้นตอนและพิธีการต่างๆ ทั้งพิธีการระหว่างประเทศและพิธีการทั่วไป

ในบรรดานายกรัฐมนตรี 7 คนนั้น คนที่นายวิษณุได้ร่วมทำงานด้วยเป็นคนสุดท้ายก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกว่าคุณยิ่งลักษณ์ เป็น “โคลนนิ่ง” ของคุณทักษิณ ก็เลยขอเลือกหยิบยกเรื่องราวตอนหนึ่งที่น่าสนใจจาก “โลกนี้คือละคร” ที่นายวิษณุได้บันทึกเอาไว้ในบทท้ายๆ มาถ่ายทอด

บทนี้เป็นบทที่ว่าด้วยการตัดสินใจของนายวิษณุที่จะขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549 ภายหลังจากเกิดวิกฤตการเมืองอย่างที่ทราบกัน

“ตอนเข้ามาดำรงตำแหน่ง คนที่มีส่วนอย่างมากในการขอร้องชักชวนและมีน้ำใจต่อผมและครอบครัวตลอดมาคือ คุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ผมจึงควรเกริ่นกับท่านไว้ก่อนอย่างไม่เป็นทางการ ผมจึงขอพบท่านทั้งสองและเล่าปัญหาให้ฟัง ผมได้ปรารภถึงปัญหาของบ้านเมืองและได้แจ้งความอึดอัดคับข้องใจไม่สบายใจของผม ได้สารภาพกับท่านตรงๆ ว่า ผมเสียใจและขอโทษที่หมดความสามารถจะปรามอินทรชิตได้เสียแล้ว เพราะพลพรรคของอินทรชิตมีกำลังมากกว่าผม ซึ่งท่านก็รับฟังอย่างดีและแสดงความเห็นใจ กลายเป็นว่าคุณหญิงพจมานเป็นคนมีเหตุผลและเข้าใจปัญหาได้ดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ คุณหญิงแสดงความมั่นใจว่าท่านจะคลี่คลายปัญหาได้ขอให้ผมใจเย็นๆ …คุณหญิงจะทำอะไรผมไม่ทราบได้ แต่ต้องยอมรับว่าผู้หญิงคนนี้มีความเฉลียวฉลาดและกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก ผมว่าการตัดสินใจหลายอย่าง คุณหญิงทำได้ดีกว่านายกฯ ทักษิณ”

อีกตอนหนึ่งเมื่อยื่นจดหมายลาออกถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นายวิษณุเขียนว่า “ท่านนายกฯ รับจดหมายของผมมาแล้วก็เก็บไว้ในกระเป๋าเจมส์บอนด์ ไม่เปิดดูด้วยซ้ำและไม่มีท่าทีประหลาดใจ กลับชวนคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ตอนหนึ่งท่านถามผมว่าคุณคิดว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมได้วิเคราะห์ให้ท่านฟังตามสติปัญญาที่พอเดาได้ บางเรื่องท่านฟังอย่างสนใจ บางเรื่องก็โต้แย้งไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีบรรยากาศขุ่นข้องหมองใจใดๆ เลย

เมื่อผมวิเคราะห์ให้ฟังเสร็จแล้ว ท่านนายกฯ ถามว่าแล้วจะจบลงอย่างไร ตอนนี้สีหน้าท่านชักเครียด ลงท้ายนายกฯ ยื่นมือมาให้ผมเชกแฮนด์และบอกว่า จากกันด้วยดีนะ”

ย้อนไปช่วงเดือนเมษายน 2549 ที่วิกฤตการเมืองรุมเร้าจนอดีตนายกฯ ทักษิณได้ประกาศพักงานนั้น นายวิษณุได้บันทึกว่า

“อันที่จริง ตอนต้นเดือนเมษายน 2549 นั้น หลายคนรวมทั้งผมได้ขอให้นายกฯ ไปเข้าเฝ้าฯ ที่หัวหินเพื่อถวายรายงานสถานการณ์ ซึ่งท่านก็ได้ไป แต่พอกลับมาถึงทำเนียบตอนเที่ยงคืนท่านนายกฯ ก็ออกโทรทัศน์สดว่าไม่มีอะไร ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบตามปกติ ต่อไปท่านจะขอลาพักงานสักระยะ ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในเวลาที่เข้าเฝ้าฯ ด้วย ได้โทรศัพท์ถึงผมทันทีที่จบรายการถ่ายทอดสดว่าเมื่อสักครู่ตอนเข้าเฝ้าฯ นายกฯ ไม่ได้พูดอย่างนี้”

หนังสือของนายวิษณุ ชุดนี้ เป็นข้อเขียนใสๆ ไร้สี ไม่เจืออคติ สีไหนหรือไม่มีสีก็อ่านได้โดยไม่เกิดอาการควันออกหูหรือเป็นเบาหวานเพราะน้ำตาลมากแต่ประการใด แถมได้ความรู้ ได้แง่คิด และยังสนุก

สำหรับผู้อ่านที่อาจไม่รู้ว่าอินทรชิต (ในรามเกียรติ์) คือใคร ก็ขอขยายความว่าอินทรชิต เป็นลูกของทศกัณฐ์ ได้พรจากมหาเทพทั้ง 3 จึงมีอิทธิฤทธิ์มากเลยฮึกเหิมถึงขั้นบุกสวรรค์และท้าพระอินทร์รบและเอาชนะพระอินทร์ได้

แต่ด้วยความที่ไม่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ท้ายที่สุดจึงถูกศรของพระลักษมณ์เด็ดชีพกลางเวหา