เมนูข้อมูล : ยังไม่มีอะไรแน่นอน

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี” เมื่อต้นพฤษภาคม เดือนนี้เอง

ผลที่ออกมาดูจะสับสนอลเวง ก่อความรู้สึกขัดๆ กันเองไม่น้อย

เพราะเมื่อถามเรื่อง “พรรคการเมืองที่อยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาล”

ร้อยละ 57.52 บอกว่าอยากให้เป็นพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เบื่อการบริหารของพรรคการเมืองเก่า

มีร้อยละ 37.36 เท่านั้นที่อยากให้พรรคการเมืองเก่า เพราะเห็นว่ามีประสบการณ์ เคยเห็นผลงานมาแล้ว คุ้นเคยกับประชาชน

ขณะที่ร้อยละ 5.12 ตอบว่าไม่แน่ใจ

แต่เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

อันดับ 1 ร้อยละ 32.16 ตอบว่า พรรคเพื่อไทย

อันดับ 2 ร้อยละ 25.12 เลือกพรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวว่าตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานการเมืองเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

รองๆ ลงมา ร้อยละ 19.20 พรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 11.60 พรรคอนาคตใหม่, ร้อยละ 2.32 พรรคประชาชนปฏิรูป เท่ากับพรรคเสรีรวมไทย, ร้อยละ 2.08 พรรคชาติไทยพัฒนา, ร้อยละ 1.92 พรรคภูมิใจไทย, ร้อยละ 1.2 พรรคพลังชาติไทย, ร้อยละ 0.72 พรรคเกรียน, ร้อยละ 0.08 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธรรมไทย

กลายเป็นพรรคที่อยากให้เห็นแกนนำเป็นพรรคเก่า

ซึ่งถ้าจะตีความคำตอบใน 2 คำถามให้ไปทางเป็นเหตุเป็นผลต่อกันคือ ประชาชนต้องการให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยให้เลือกที่จะให้พรรคการเมืองใหม่ๆ มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าที่จะให้เป็นพรรคเก่า

อีกคำตอบที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า “อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายเลือกตั้งปัจจุบัน”

ร้อยละ 32.24 ตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, รองลงไป ร้อยละ 17.44 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยละ 14.24 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์, ร้อยละ 10.08 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ร้อยละ 7.92 พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, ร้อยละ 6.24 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, ร้อยละ 3.44 นายชวน หลีกภัย, ร้อยละ 2.08 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, ร้อยละ 0.72 นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในสัดส่วนที่เท่ากัน, ร้อยละ 0.64 ระบุว่าเป็น พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์

ที่น่าสนใจเพราะหลายคนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีราคาอยู่ในหัวใจประชาชนเลยก็ว่าได้

เพราะนี่คือการสำรวจหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกวิพากษ์ว่าเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ “ดูด”

อันหมายถึงสร้างเงื่อนไขให้ “พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก” เป็นพรรคการเมืองเก่าซึ่งได้ชื่อว่ามีฐานเสียงในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร

และเกิดกระแสเย้ยหยันต่อ “ยุทธวิธีไม่เสียของ” ของ “คณะรัฐประหาร” กันครึกโครม

กระทั่งมีกระแสว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทบทวน “ยุทธการดูด” อันเป็นที่มาของการไม่รับว่าการเดินสายสัญจรต่างจังหวัดที่มีการต้อนรับกันมโหฬารนั้นเป็นเรื่องของการหาเสียงทางการเมือง

และเมื่อผลโพลออกมาในทางที่ว่า พรรคการเมืองที่ไม่มีศักยภาพขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นได้แค่ “พรรคร่วม” นั้น ประชาชนให้ความสนใจและให้ราคากับพรรคการเมืองใหม่ๆ มากกว่าพรรคการเมืองเก่า จึงเป็นเรื่องที่คงจะต้องทบทวนกันครั้งใหญ่สำหรับการเดินเกมการเมือง

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์เดินเกมด้วยการให้ราคานักการเมืองผู้มีบารมีในท้องถิ่นมากมาย เห็นได้ชัดทั้งการแสดงออกที่ผ่านการกระทำและการพูด

แต่การแสดงออกผ่านการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มพลิกกลับไปในทางตั้งคำถามทำนองว่า หากหลังเลือกตั้งแล้วได้นักการเมืองแบบเก่าๆ จะทำอย่างไร

ซึ่งหากประเมินตามผลของ “นิด้าโพล” ชุดนี้

หากจะพูดว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเห็นแนวโน้มอะไรบางอย่าง เมื่อย้อนไปทบทวนประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักก่อนหน้านี้

เป็นแนวโน้มที่มีชะตากรรมของพรรคการเมืองที่หวังแต่ “ร่วมรัฐบาล” ไม่คิดสร้างพรรคให้เป็นที่พึ่งของประชาชนจะได้เรียนรู้