“สมคิด”จุดพลุ SME Transform ช่วยตัวเล็ก3ล้านรายทั่วปท.

วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน SME Transform #พร้อมเปลี่ยน ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล ซึ่งจัดโดย กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมุ่งหวังขับเคลื่อนและยกระดับเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 ผ่านมาตรการส่งเสริมพัฒนาและมาตรการด้านการเงิน ในการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ประชารัฐร่วมใจ เชื่อม SME ไทยสู่สากล” ว่า ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีจำนวนกว่า 3 ล้านกิจการ คิดเป็น 99.7% ของจำนวนวิสาหกิจทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 10 ล้านคน เอสเอ็มอีจึงถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริง รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอีได้กำหนดให้การพัฒนาเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง “ผ่านกลไก “ประชารัฐ” โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นแกนหลักในการประสานและบูรณาการงานส่งเสริมเอสเอ็มอีร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้องในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้การส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”​ภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีจึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และสร้างสิ่งใหม่ๆ พร้อมทั้งเข้าถึงและเข้าใจ Digital Technology เพื่อให้เอสเอ็มอีก้าวสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างภาคภูมิ สามารถดำเนินธุรกิจให้เกิดความแข็งแกร่งและเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น สิ่งจำเป็นคือเราจะต้องพัฒนาตัวเองให้เติบโตและสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ตั้งแต่ระดับชุมชน/ฐานราก วิสาหกิจชุมชน ต้องปรับเปลี่ยน ต้องปฏิรูปหรือ Transform ตัวเอง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับ สสว. และเอสเอ็มอี Development Bank และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงออกชุดมาตรการใหม่ที่ได้เริ่มนำร่องแล้ว 9 มาตรการหลัก ที่ให้ความสำคัญกับการวางแนวทางมาตรการส่งเสริมและปฏิรูปเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม มีทั้งมาตรการเพื่อการเข้าถึงการส่งเสริม ควบคู่ไปกับมาตรการเพื่อการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงการ สร้างการรับรู้แนวทางและโอกาสการปรับเปลี่ยนธุรกิจพร้อมนำเสนอกลไกการยกระดับเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ทุกมิติ และทั่วประเทศ โดยมีมาตรการที่มีความครอบคลุมในทุกมิติตลอดห่วงโซ่คุณค่า และกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

ด้านมาตรการการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับคนตัวเล็ก รัฐบาลได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยจัดให้มีสินเชื่อ 2 แบบคือ (1) สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0    (คนตัวเล็ก) วงเงินรวม 8,000 ล้านบาท ผู้กู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้าประกัน สามารถกู้ได้ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย   1 % ระยะเวลา 7 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก และ (2) สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยกู้ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ระยะ 7 ปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดให้มีการผ่านบริการเคลื่อนที่หรือ “ม้าเร็วเติมทุน”เพื่อให้บริการแก่ SMEs/วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กว่า 1,000 จุดทั่วประเทศให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว
​ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นผ่านทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ร่วมกันดำเนินงานโครงการเพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้โครงการ Connected Industry ดังนี้ โครงการ 3-Stage Rocket Approach ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้อย่างเหมาะสม โครงการ Open Innovation Columbus เป็นโครงการที่ประเทศไทยร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมแบบเปิด หรือ Open Innovation โครงการ Flex Campus ที่ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมที่เสริมจากการศึกษาในระบบปกติที่อาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม