คนมองหนัง : ทำความรู้จัก “Ten Years Thailand” “หนังไทยเรื่องเดียว” ในคานส์ 2018

คนมองหนัง

ปีนี้มีหนังไทยได้ไปร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์จำนวนหนึ่งเรื่อง

นั่นคือ หนังเรื่อง “Ten Years Thailand” ซึ่งถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในสาย “Special Screenings” อันเป็นเวทีสำหรับภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นพิเศษเฉพาะทางสังคมและการเมือง

ผลงานรวม “หนังสั้น 4 เรื่อง” ให้กลายเป็น “หนึ่งหนังยาว” (omnibus film) โครงการนี้ ริเริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2559 ในฐานะภาพยนตร์เรื่องแรกสุดของโปรเจ็กต์ “Films For Free” ซึ่งแสวงหาทุนสร้างส่วนหนึ่งด้วยการระดมเงินทุนสนับสนุนจากเหล่านักดูหนัง ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์ Indiegogo

ชื่อผู้กำกับฯ ชุดแรก ที่มีการเปิดเผยออกมา คือ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, ชูเกียรติ ศักดิ์วีรกุล, เป็นเอก รัตนเรือง และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ต่อมา มีการปรับเปลี่ยน-เพิ่มเติมรายชื่อผู้กำกับภาพยนตร์ นอกจากวิศิษฏ์, ชูเกียรติ และอภิชาติพงศ์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมบุกเบิกชุดแรกแล้ว ยังมีนักทำหนังเข้ามาเสริมทีมอีกสองราย ได้แก่ อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล จนครบห้าคน

อย่างไรก็ดี หนังในเวอร์ชั่น “คานส์ 2018” จะประกอบไปด้วยหนังสั้น 4 เรื่องของอภิชาติพงศ์ คนไทยรายเดียวที่เคยคว้ารางวัล “ปาล์มทองคำ” จาก “ลุงบุญมีระลึกชาติ”

วิศิษฏ์ ซึ่งหนังยาวเรื่องแรก “ฟ้าทะลายโจร” ของเขา เคยไปเปิดตัวอย่างงดงามที่คานส์เมื่อปี 2001

อาทิตย์ ผู้เคยมีผลงานสร้างชื่ออย่าง “วันเดอร์ฟูลทาวน์ เมืองเหงาซ่อนรัก”

และจุฬญานนนท์ ศิลปินยังบลัด ที่เพิ่งนำเอานวนิยาย “ข้างหลังภาพ” มาตีความ/ขยายความใหม่ผ่านงานศิลปะทัศนศิลป์นานาประเภท

ส่วนชูเกียรตินั้นติดภารกิจส่วนตัวจนไม่สามารถทำหนังเสร็จทันเทศกาลเมืองคานส์ปีนี้ แต่ผลงานของเขาจะเข้าร่วมฉายในภาพยนตร์เวอร์ชั่นสำหรับเมืองไทย (ข้อมูลจากรายงาน “คุยกับโปรดิวเซอร์, ผู้กำกับฯ, นักแสดงนำ “Ten Years Thailand” หนังไทยไปคานส์เรื่องล่าสุด” โดย นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์, เว็บไซต์ประชาไท)

หากพิจารณาจากชื่อภาพยนตร์ “Ten Years Thailand” และโจทย์รวมของหนังที่ระบุว่า คนทำหนังทั้งสี่รายจะมาร่วมจินตนาการถึงประเทศของพวกเขาภายในช่วงเวลาอีกสิบปีข้างหน้า เพื่อสร้างสรรค์บทสนทนาและภาพสะท้อนว่าด้วยสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน

คอหนังหลายคนคงพอทราบ (หรือเดาออก) ว่าภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ ถือเป็น “ส่วนต่อขยาย” “มิตรสหาย” หรือ “โปรเจ็กต์น้อง” ของภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง “Ten Years”

“Ten Years” ฉบับฮ่องกง ได้ชักชวนรวบรวมผู้กำกับฯ ท้องถิ่นจำนวนห้าราย ให้มาร่วมตั้งคำถามถึงอนาคตของเขตปกครองพิเศษแห่งนั้น ภายใต้อำนาจรัฐบาลจีนที่ปักกิ่ง

หนังเรื่องดังกล่าวถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่ากลับได้รับรางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากงานประกาศรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ครั้งที่ 35 ประจำปี 2015

แอนดรูว์ ชอย ลิม-หมิง ผู้อำนวยการสร้าง “Ten Years” ให้สัมภาษณ์ว่า “Ten Years Thailand” นั้นมีความใกล้เคียงกับหนังต้นฉบับจากฮ่องกงมากที่สุด ในแง่การถ่ายทอดภาวะผันผวนป่วนปั่นทางการเมือง

สอดคล้องกับอาทิตย์ อัสสรัตน์ หนึ่งในผู้กำกับฯ ฝั่งไทย ซึ่งเห็นว่าตลอด 12 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองจำนวนมากมายเกิดขึ้นในประเทศของเขา

“เกิดรัฐประหารขึ้นสองครั้ง และจนถึงตอนนี้ พวกเราก็ยังคงเฝ้ารอคอยการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำพาประเทศกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ผมจึงมองว่าคำถามเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าย่อมเป็นปริศนาที่พวกเราทุกคนล้วนกำลังครุ่นคิดถึงมัน และในฐานะคนทำหนัง เราก็มีช่องทางที่จะตั้งคำถามของตัวเองผ่านการสร้างภาพยนตร์” อาทิตย์กล่าวกับเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์

ทั้งนี้ นอกจากประเทศไทยแล้ว โครงการภาพยนตร์ “Ten Years” เวอร์ชั่นไต้หวันและญี่ปุ่น ก็กำลังอยู่ในกระบวนการผลิตเช่นกัน

โดย “Ten Years Taiwan” จะพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม, สิทธิของแรงงาน และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (หนึ่งในผู้กำกับฯ ของโปรเจ็กต์นี้คือ “เลา เก็ก-ฮวต” ผู้กำกับหนังสารคดีเชื้อสายมาเลเซีย ซึ่งผลงานเรื่อง “Absent without Leave” ของเขาเคยมาคว้ารางวัลชนะเลิศจากเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา)

ขณะที่ “Ten Years Japan” มี “ฮิโรคาซึ โครีเอดะ” คนทำหนังชื่อดังเป็นผู้อำนวยการสร้าง โดยหนังจะครุ่นคิดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี และการนำเอาภาวะสงครามมาเป็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในสังคมญี่ปุ่น

ย้อนกลับมายัง “Ten Years Thailand”

ล่าสุด เริ่มมีรายละเอียดชื่อตอนและเรื่องย่อของหนังสั้นทั้งสี่เรื่องที่จะไปฉายในเมืองคานส์ปรากฏออกมาบ้างแล้ว

โดย “Sunset” (อาทิตย์ อัสสรัตน์) จะเล่าเรื่องราวของทหารหนุ่มที่เข้าไปตรวจสอบนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะ

“Planetarium” (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) จะเสียดสีชนชั้นนำไทยหลายๆ กลุ่ม ผ่านหนังแฟนตาซีเหนือจริง

“Catopia” (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) คือ นิทานเปรียบเทียบแนวเขย่าขวัญ ที่เล่าเรื่องราวของบรรดามนุษย์แมวฆาตกร ซึ่งออกไล่ล่าคร่าชีวิตคน ผู้ยังเหลือรอดอยู่ในกรุงเทพฯ

ส่วน “Song of the City” (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) จะนำเสนอเหตุการณ์ซึ่งตัวละครชายรายหนึ่งกำลังพยายามเสนอขาย “เครื่องช่วยนอนหลับ” ให้แก่คุณหมอในโรงพยาบาล พร้อมบริบทที่แวดล้อมเหตุการณ์ดังกล่าว

เมื่อนำมาเรียงร้อยกันแล้ว หนังสั้นทั้งหมดจะมีความยาวรวม 95 นาที

ขณะที่เว็บไซต์ทางการของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ระบุว่า “หนังสั้นทั้งสี่เรื่องในโครงการนี้ต่างแสดงออกถึงความวิตกกังวลอันมีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย

“ตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2557) เป็นต้นมา ประเทศแห่งนี้ถูกปกครองโดยกองทัพ ซึ่งดำเนินมาตรการควบคุมผู้เห็นต่าง, การแสดงความเห็นในพื้นที่สาธารณะ และภาวะหลากหลายทางความคิด

“ลัทธิชาตินิยมใหม่ซึ่งพยายามกำหนดนิยามว่าอะไรคือความคิดและการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสม ด้วยกติกา-วิถีทางอันคับแคบ กำลังได้รับการโฆษณาชวนเชื่อ

“ถ้าสถานการณ์เช่นนี้ยังดำเนินต่อไป ก็น่าตั้งคำถามว่าเมืองไทยในอีกสิบปีข้างหน้าจะเดินทางไปสู่จุดไหน?”