“หล่อ” กับ “เก่ง” “คนปกติ”กับ “ออทิสติก” และ “สังคมของเรา” “Side by Side” ที่ “ต่อ ธนภพ” อยากเล่า

ออกอากาศไปแค่ไม่กี่ตอน แต่เสียงชื่นชมถึงซีรี่ส์ Side by Side และนักแสดง ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร ก็มีมาให้ได้ยินเรียบร้อยแล้ว

โดยหลายเสียงว่าการสวมบท “พี่ยิม” นักแบดมินตันวัย 18 ปี ซึ่งเป็นออทิสติกของเขานั้น ดีงาม

“ผมหามานานแล้วบทแบบนี้” ต่อเล่าให้ฟังในวงสนทนาเมื่อสัปดาห์ก่อน ก่อนซีรี่ส์จะแพร่ภาพไม่กี่วัน

“อยากเล่นบทแปลกๆ ก็รู้สึกว่าเรื่องนี้ตอบโจทย์ตัวเอง”

ดังนั้น พอได้รับการทาบทาม ฟังเนื้อหาคร่าวๆ ก็รู้เลยว่า “ใช่” ทั้งๆ ยังไม่อ่านบท

หากกระนั้นพอต้องเล่นจริง เจอความยากเข้าไป “ผมร้องไห้เลย” เขาบอก

“ร้องหลายรอบมาก เพราะเข้าไปในแคแร็กเตอร์ไม่ได้สักที”

ยกตัวอย่าง “ความยาก” บางอย่างให้ฟังด้วยว่า การมาเล่นเรื่องนี้เขาต้องหัดอะไรหลายสิ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเล่นแบดมินตันจากนักกีฬาทีมชาติ และนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ เพื่อให้ดูเหมือนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ง่าย

แต่เมื่อทำได้ ปัญหาใหม่ก็ตามมา เพราะเขาระลึกได้ว่าสิ่งที่เขาฝึก และกล้ามเนื้อจดจำมานั้น เป็นการเล่นแบบคนปกติทั่วไป ไม่ใช่แบบที่คนเป็นออทิสติกเล่น ก็จึงต้องมาปรับและผสมเองใหม่ ซึ่งไม่ง่ายเลยจริงๆ

รวมความแล้วกว่าจะฝึกเป็น “พี่ยิม” ที่เล่นแบดได้ก็นานถึง 6 เดือน

กับงานชิ้นนี้ ต่อซึ่งเข้าวงการมานานถึง 4 ปี บอกเลยว่า “ยากสุด”

“ไม่เคยทำอะไรยากขนาดนี้มาก่อน ตอนทำไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะทำได้ดี แต่ด้วยความที่ผมเป็นผม ผมไม่ใช่คนที่ยอมแพ้ ผมดื้อ ยิ่งยาก ยิ่งผ่านไม่ได้ อะไรก็ตามที่หนักหนา ผมจะไม่หยุด”

“ผมเริ่มจากการอ่านหนังสือ เสิร์ชยูทูบ แล้วก็ดูอาการใกล้เคียง ซึ่งตอนเราทำ เราพบว่าสังคมไทยมีความไม่รู้อยู่เยอะ ยกตัวอย่างง่ายๆ ออทิสติกกับดาวน์ซินโดรม คนเหมารวม 2 โรคนี้ว่าเอ๋อ ซึ่งจริงๆ แล้วต่างกันคนละโรคเลย เลยรู้สึกว่านอกจากต้องทำให้ได้แล้ว เราต้องชี้ให้เขาเห็นด้วยว่ามันต่างกัน ก็เลยศึกษาทั้งโรคออทิสติกและใกล้เคียงว่าต่างกันยังไง”

นอกจากนั้น เขายังอ่านงานของบล๊อกเกอร์ที่เป็นเหล่าคุณแม่ต่างแดนซึ่งดูแลเด็กออทิสติก อ่านงานวิจัยของต่างประเทศ ดูคลิปที่ตามติดชีวิตของคนเหล่านี้ หาภาพยนตร์เก่าๆ ที่มีเรื่องราวของคนเป็นโรคดังกล่าว จากนั้นก็ขยับไปอีกขั้นด้วยการไปรวมกลุ่มทำกิจกรรมกับพวกเขาจริงๆ

“ไปสังเกตการณ์จริงๆ เข้าคลาสเรียน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกับเขา จนพอเราได้ออทิสติกในแบบของเรา ก็เอาไปอยู่กับเขา”

ซึ่ง “ครั้งแรกเขาก็ไม่รู้ครับ”

“แต่ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่มันมหัศจรรย์ขึ้นมา ผมจำเป็นต้องบอก แล้วเราก็ได้แลกเปลี่ยนอะไรกันแบบครั้งยิ่งใหญ่ เหมือน 2 ประเทศที่แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางก้นบึ้งของจิตใจ” ต่อเล่าพลางยิ้ม

กับงานชิ้นนี้นอกจากเนื้อหาดีๆ ที่ตั้งใจนำเสนอเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว และ ฯลฯ แล้ว โดยส่วนตัวต่อก็ว่า เขาเองก็มีเรื่องที่อยากบอกเช่นกัน

“สิ่งที่อยากถ่ายทอดมากจริงๆ คือบ้านเราน่าจะมีอะไรแบบนี้บ้าง ก็ไม่ได้อยากเทียบกับเมืองนอกนะ แต่บางครั้งผมก็สงสัย ว่าทำไมนักแสดงบ้านเราจะต้องหล่อตลอดเวลา ต้องมีมาด ต้องเท่ ทำไมต้องคีป คูล มันคูลมากเลยหรือกับอะไรแบบนี้ อยากลองไขว่คว้า อยากเห็นจุดที่คนเรายืนกันด้วยฝีมือ เพราะผมเชื่อว่าทุกวันนี้คนเก่งเยอะมาก แค่ไม่มีโอกาสให้เขา เพราะฉะนั้น เราลองมองอีกนิดนึง”

“ไม่รู้นะ ในความคิดผมคือ ถ้าหน้าตาดี แต่ไม่เก่ง มันก็เท่านั้น”

“และจริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้กล้าเล่นเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาตลอด 4 ปี เริ่มมีความรู้สึกถึงสิ่งนั้นอยู่เหมือนกัน ว่าแฟนๆ ในสังคมเรา เริ่มเสพถึงฝีมือแล้วบ้างเหมือนกัน คือไม่อยากให้รู้สึกว่าคนเรามันอยู่ที่ภายนอก วัดจากข้างในดีกว่า ว่าใครมีของแค่ไหน”

“คนที่เล่นได้ดีจริงๆ บางครั้งเขาไม่ต้องหล่อ แต่เล่นแล้วมีเสน่ห์ออกมาก ดูแล้วโคตรหล่อเลย อยากเห็นภาพแบบนั้น อยากเห็นการห้ำหั่นที่แบบ โอ๊ย! เดี๋ยวไปเติมจมูกก่อนดีกว่า จะได้หล่อเท่าคนนี้ เป็นเราไปหาอินเนอร์อะไรบางอย่าง ที่เราจะต้องเก่งขึ้น ก้าวขึ้นไป อะไรแบบนี้”

บอกอีกว่า การมาร่วมงานซีรี่ส์เรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่เขาเห็นได้ชัดกับตัวเอง คือ “ผมเติบโตขึ้นไปอีกระดับ”

ขณะเดียวกัน “ความกระหาย” ก็เพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งก็ยังอยากบอกตามตรงว่า อยากให้คนดูซีรี่ส์เรื่องนี้เยอะๆ แต่ไม่ได้หมายความไปว่าถึงอยากให้ซีรี่ส์เรื่องนี้โด่งดัง

“พอเราพูดว่าอยากให้คนดูเยอะๆ มันก็ดันไปทับกับคำว่าอยากให้มันดัง แต่มันไม่ใช่ สิ่งที่เราต้องการคือแค่นั้น ให้คนดูเยอะๆ”

เพราะ “สิ่งที่เราทำ เราจริงจังมากนะครับ ไม่ได้ทำเล่นๆ โอเค ผมคงไม่กล้าการันตี 100% แต่ว่าผมไม่ได้ทำสุ่มสี่สุ่มห้าแน่นอน อย่างน้อยๆ ผมก็ศึกษา กลั่นกรอง ผมมีอะไรที่อยากจะเล่าจริงๆ”

“พวกเขาบางคนน่ารักกว่าพวกคุณบางคนเสียอีก”

“อยากให้สังคมเปิดรับเด็กออทิสติมากๆ เลิกจัสต์เขาได้แล้ว” นี่คือความรู้สึกลึกๆ ในใจ ต่อ ธนภพ เกี่ยวกับผู้ที่เป็นออทิสติก

“จริงๆ ต้องยอมรับนะ ไม่ต้องโลกสวย เอามุมโลกจริงๆ นี่แหละ สังคมเราเป็นสังคมแห่งการเหยียด รังเกียจ และจัสต์คนมากๆ ซึ่งคนพอเป็นเหมือนไม่ปกติ ทำไมถึงไปจัสต์เขา โอกาสเขาก็น้อยกว่าเราอยู่แล้ว เพราะเขาพัฒนาการช้ากว่า แต่การที่เรายิ่งไม่ยอมรับ มันยิ่งเหมือนตัดโอกาส”

“อยากให้มองอีกมุมหนึ่ง ว่าไม่อยากให้ทำร้ายชีวิตกัน อยากให้เปิดใจกว้างๆ มองให้เห็นว่า จริงๆ แล้วพวกเขาสวยงาม พวกเขาน่ารักกว่าพวกคุณบางคนเสียอีก แล้วความสามารถของคนเหล่านี้ เวลาที่เขามีขึ้นมา เขาอาจจะเก่งกว่าพวกเราทั้งหมดเลยก็ได้ เป็นอะไรที่อยากให้ศึกษาและเข้าใจ แค่เข้าใจ ก็จะอยู่กับเขาเหล่านี้ได้จริงๆ”

ขณะที่ในส่วนคนดู ต่อบอกตามตรงว่า ไม่รู้เลยว่าใครจะรับอะไร ในมุมไหนไปได้บ้าง

“ใครได้มาก เราก็จะขอบคุณมากๆ ใครได้น้อย เราก็ไม่ได้จะขอบคุณน้อย ยังขอบคุณมากอยู่ดี แต่ถ้ารู้สึกว่าได้น้อย อยากให้ลองดูอีกที เชื่อผม มันจะได้อะไรเยอะขึ้น”

“ตอนแรกโปรเจ็กต์เอส เราทำมาเพื่อเป็นโปรเจ็กต์กีฬา ถูกไหมครับ แต่พอมันถูกเขียนบทเสร็จ เราก็ค้นพบว่าเราไม่ได้กำลังทำเรื่องกีฬาอย่างเดียว เราเป็นเหมือนกระบอกเสียงอะไรบางอย่าง ที่ถ้าพูดให้ดูยิ่งใหญ่หน่อย คือผมอยากช่วยเด็กออทิสติกการที่ทำตัวนี้ขึ้นมา ผมอยากช่วยเขาจริงๆ จริงๆ เลย”

ดังนั้น “ถ้าเรื่องนี้มันสามารถประสบความสำเร็จในแง่ไหนก็ตาม ที่ทำให้เราช่วยเขาได้จริงๆ แค่นั้นผมก็พอใจมาก”