SearchSri : การเมืองเรื่องกีฬาที่เมืองมะกัน

คอลัมน์ Technical Time-Out

กําลังเป็นประเด็นใหญ่โตในสังคมอเมริกันอยู่ในขณะนี้สำหรับกรณีพิพาทระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ กับผู้เล่นในลีกอเมริกันฟุตบอล “เอ็นเอฟแอล” และลีกบาสเกตบอล “เอ็นบีเอ” ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

เริ่มต้นจากลีกเอ็นเอฟแอลฤดูกาลใหม่ที่เพิ่งเปิดฉากได้ไม่กี่สัปดาห์ มีนักกีฬาคนชนคนคุกเข่าระหว่างการเคารพธงชาติก่อนเกมเพื่อประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม

โดยเฉพาะการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวดำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ “โคลิน คาเปอร์นิก” อดีตควอเตอร์แบ็กของทีมซานฟรานซิสโก ฟอร์ตี้ไนเนอร์ส เริ่มทำเป็นคนแรกเมื่อฤดูกาลก่อน และเพื่อนนักกีฬาบางส่วนร่วมด้วย

โดยขยายขอบเขตการประท้วงไปที่การเหยียดเพศและความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคม

ครั้งนั้นเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสม เนื่องด้วยหลายคนมองว่าการคุกเข่าช่วงฟังเพลงชาติดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อธงชาติสหรัฐซึ่งหมายถึงการไม่ให้เกียรติทหารหาญที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องประเทศชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่อีกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางส่วนก็มองว่า เป็นอิสระของการแสดงออกทางความคิด (freedom of speech) ของคาเปอร์นิกและพรรคพวก

 

มาถึงฤดูกาลนี้ กระแสการคุกเข่ากลับมาอีกครั้งท่ามกลางเสียงวิจารณ์แบบเดิม แต่เรื่องมาร้อนแรงขึ้นเมื่อผู้นำประเทศอย่างทรัมป์กระโดดเข้าร่วมวงด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ชักชวนเจ้าของทีมในเอ็นเอฟแอลต่อต้านการกระทำดังกล่าวโดยไล่นักกีฬาที่ไม่เคารพธงชาติออกจากทีมไปซะ

ทรัมป์ใส่อารมณ์ด้วยการเรียกนักกีฬาคนชนคนที่คุกเข่าประท้วงว่า “son of a bitch” ซึ่งเป็นคำเรียกที่หยาบคายพอสมควร แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตอนที่ทรัมป์เอ่ยถึงพวกคนขาวสุดโต่งที่ร่วมชุมนุมกลุ่มนีโอ-นาซีก่อนหน้านี้แบบซอฟต์ๆ ว่า “หลายคนในนั้นเป็นคนดี”

เมื่อรวมเข้ากับประวัติ บุคลิก การกระทำ คำพูด และนโยบายของทรัมป์เองที่หลายครั้งหมิ่นเหม่ต่อการสร้างความแตกแยกในสังคม ทำให้เกิดกระแสลุกฮือต่อต้านจากฝ่ายตรงข้ามและคนในลีกเอ็นเอฟแอลจำนวนมาก

ศึกอเมริกันฟุตบอลช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 23-25 กันยายน หรือเพียงไม่กี่วันหลังทรัมป์แสดงความเห็นดังกล่าว จึงมีนักกีฬาและสต๊าฟโค้ชจำนวนมากแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บ้างก็คุกเข่าร่วมกัน (นับได้ราว 130 คนจากทุกสนาม)

บ้างอาจจะไม่คุกเข่า แต่ยืนคล้องแขนกับเพื่อนคนอื่นๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นปึกแผ่น

ทีเด็ดที่สุดเห็นจะเป็น “ทอม เบรดี้” ควอเตอร์แบ็กนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ ซึ่งสนิทกับทรัมป์มาก่อนเลือกตั้ง แม้จะไม่คุกเข่าแต่ก็คล้องแขนกับเพื่อนทีมนักรบกู้ชาติ

ขณะที่ทีม “ดัลลัส คาวบอยส์” ซึ่งเรียกขานกันในวงการว่า “America”s team” หรือทีมคนชนคนตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ก็พร้อมใจกันนั่งคุกเข่าทั้งนักกีฬา โค้ช

ไม่เว้นแม้แต่ เจอร์รี่ โจนส์ เจ้าของทีม ท่ามกลางเสียงโห่ของแฟนบางส่วน

 

ว่ากันว่าการพร้อมใจคุกเข่าครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประท้วงเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมอันเป็นเป้าหมายหลักของ โคลิน คาเปอร์นิก ในตอนแรก แต่เพื่อแสดงความสมัครสมานสามัคคีตอบโต้ทรัมป์ที่ลุกล้ำอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา

ส่วนกรณีปัญหากับลีกเอ็นบีเอนั้น เริ่มต้นจาก “สตีเฟ่น เคอร์รี่” พอยต์การ์ดตัวเก่งของ “โกลเดนสเตต วอร์ริเออร์ส” แชมป์เอ็นบีเอฤดูกาลก่อน ออกอาการลังเลว่าจะไปทำเนียบขาวดีหรือไม่ หลังจากกลายเป็นประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่ยุค “โรนัลด์ เรแกน” แล้วที่ผู้นำสหรัฐจะส่งเทียบเชิญทีมแชมป์ลีกกีฬาอาชีพ หรือลีกระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงนักกีฬาดังๆ ที่ประสบความสำเร็จ ไปเยี่ยมเยือนไวต์เฮ้าส์เพื่อที่ประธานาธิบดีจะได้กล่าวสดุดีและแสดงความยินดี

ก่อนหน้านี้หลังจากทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดี นักกีฬาหลายคนก็ออกตัวว่าไม่อยากไปเยือนทำเนียบขาวเนื่องจากเห็นต่างกับนโยบายและพฤติกรรมของอดีตนักธุรกิจใหญ่รายนี้ในหลายๆ เรื่อง

แม้แต่ ทอม เบรดี้ ที่เคยสนิทสนมกันดีก็ยังเลี่ยงไปไม่เยือนทำเนียบขาวตอนแพทริออตส์ แชมป์ซูเปอร์โบว์ลฤดูกาลล่าสุดไปเยือนเมื่อต้นปี

 

พอเคอร์รี่ออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้อย่างนี้ ทรัมป์ไม่รอช้า รีบโพสต์ทวิตเตอร์ว่า การได้ไปเยือนทำเนียบขาวถือเป็นเกียรติของนักกีฬา ในเมื่อเคอร์รี่ลังเลที่จะมา ก็ขอยกเลิกเทียบเชิญทันที

งานนี้ทำเอา “เลบรอน เจมส์” ซูเปอร์สตาร์อีกรายของวงการยัดห่วงที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับทรัมป์รีบออกมาร่วมวงด้วยการทวีตว่า เคอร์รี่ไม่อยากจะไปอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีเทียบเชิญ การเยือนไวต์เฮ้าส์เป็นเกียรติของนักกีฬาก็จริง แต่มันเปลี่ยนไปตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งนี่แหละ

หลังจากนั้นนักกีฬาผิวสีของเอ็นบีเออีกหลายรายรวมถึงตำนานอย่าง “โคบี้ ไบรอันต์” ต่างก็แสดงความเห็นในเชิงวิจารณ์ทรัมป์ว่าเป็นผู้นำแต่กลับสร้างความแตกแยกในสังคม บ้างก็ตั้งคำถามถึงคุณสมบัติในการบริหารประเทศของเขา

ตอนนี้กระแสสังคมทั้งฝ่ายต้านฝ่ายเชียร์ทรัมป์จึงตีกันวุ่นวาย และยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงง่ายๆ แต่อย่างใด