เมอร์คิวรี่ : ผ่าแผนหวนจัดศึก “มวย-ฟุตบอล” ฝ่าสถานการณ์วิกฤตไวรัส “โควิด”

การแข่งขันกีฬา “มวยไทย” และ “ฟุตบอล” ถูกจัดให้เป็นกิจกรรมความเสี่ยงสูง ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกแนวทางมาตรการผ่อนปรนสำหรับกิจการและกิจกรรมออกเป็น 4 ระยะ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

หลังจากที่ได้มีการคลายล็อกให้กิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงน้อย กลับมาดำเนินการก่อนในระยะแรกตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม แต่การแข่งขันกีฬา ทั้งสนามมวยไทย และสนามฟุตบอล ถูกจัดไว้เป็นกลุ่มท้ายสุดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4 จากความเสี่ยงที่มีการชุมนุมกัน ซึ่งอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้

อย่างไรก็ตาม “มวยไทย” และ “ฟุตบอล” ได้มีการวางแผนแนวทางมาตรการอย่างรัดกุมในการที่จะหวนกลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้แบ่งเกณฑ์ของการกลับมาเล่นกีฬา และแข่งขันได้เป็นเฟส โดยเฟสแรกคือ การออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ หรือสถานที่เปิด ซึ่งเริ่มต้นวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะพิจารณาสถานการณ์ใน 14 วัน ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีผู้ติดเชื้อก็จะเปิดสถานกีฬาต่างๆ เพิ่มอีก

สำหรับเฟสต่อไปจะเป็นกีฬาประเภทบุคคล ที่ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกัน เล่นในพื้นที่เปิด หรือพื้นที่ปิดหลังคาสูง เช่น แบดมินตัน เทนนิส

แต่ก็ต้องมีมาตรการในการรักษาระยะห่างเหมือนเดิม

ส่วนมวยไทย และฟุตบอล เป็นกีฬาที่คนไทยให้ความสนใจมาก จำเป็นที่จะต้องวางแนวทางมาตรการเข้มข้น

เพราะถือว่ามีความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อกันได้

 

กกท.เร่งหามาตรการให้การแข่งขันมวยไทย และฟุตบอล กลับมาจัดการแข่งขันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งแนวทางเบื้องต้นในวันที่มวยไทยจะกลับมาได้นั้น จะต้องมีการแข่งแบบปิด ห้ามแฟนมวยเข้าชม เจ้าหน้าที่สนามต้องเว้นระยะห่างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลนั้น ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ได้ดำเนินการประชุมร่วมกันกับสโมสรในไทยลีก และมีข้อสรุปร่วมกันว่า การแข่งขันจะเลื่อนออกไปเป็นเดือนกันยายน 2563 และแข่งขันจบในเดือนพฤษภาคม 2564 แทน เริ่มแข่งขันจากนัดที่ 5 เป็นต้นไป และเปิดตลาดซื้อขายนักเตะใหม่

สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และบริษัท ไทยลีก จำกัด ได้กำหนดแผนแนวทางมาตรการ โดยจะแข่งขันแบบปิด ไม่อนุญาตให้แฟนบอล ตลอดจนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันเข้าชม หรืออยู่ภายในบริเวณสถานที่จัดการแข่งขัน พร้อมกับงดขั้นตอนการจับมือช่วงพิธีการเดินลงสู่สนาม รวมถึงงดกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทั้งในและภายนอกสนาม

สำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ภายในสนามจะประกอบด้วย กลุ่มนักกีฬา, เจ้าหน้าที่ทีม, คณะผู้ตัดสิน, คณะผู้จัดการแข่งขัน, งานรักษาความปลอดภัย, งานการแพทย์, สื่อมวลชน และถ่ายทอดสด (ไม่อนุญาตสื่อทั่วไป)

รวมแล้วทั้งสิ้น 181 คน ที่จะอยู่ในสนามแต่ละแมตช์

 

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ในช่วงที่ว่างเว้นจากการแข่งขันมวยไทย และฟุตบอล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวนักมวยไทย และนักฟุตบอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้องขาดเงินรายได้ในช่วงนี้ ซึ่งนักมวยก็ไม่ได้รับเงินค่าตัว ส่วนนักฟุตบอลก็โดนสโมสรต้นสังกัดปรับลดเงินเดือนลงตามความเหมาะสม

นักมวยไทย และนักฟุตบอล หลายคนจึงต้องออกมาดิ้นรนสู้ชีวิตฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยการทำอาชีพเสริมหารายได้เข้ามาในช่วงนี้ เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว โดยหลายคนกลับภูมิลำเนาบ้านเกิด และขายผลไม้ รวมถึงขายของต่างๆ มากมาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเดือดร้อนของนักมวยไทย และนักฟุตบอล ทาง กกท.ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อหาแนวทางเยียวยาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นจากคนวงการมวยไปแล้ว ก่อนนำเรื่องเข้าที่ประชุมกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการช่วยเหลือต่อไป

ในส่วนนักมวยนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท.ได้อนุมัติเงิน 25,642,000 บาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยากับนักมวย และผู้ฝึกสอนที่ขึ้นทะเบียน โดยมีนักมวย 2,000 คน และผู้ฝึกสอน 500 คน ซึ่งจะได้รับเงิน 5,000 บาท 2 เดือน นอกจากนี้ กองทุนสวัสดิการเพื่อแฟนมวย ได้มอบเงินช่วยเหลือคนมวยที่ติดเชื้อโควิด-19 รายละ 10,000 บาทอีกด้วย

ด้านนักฟุตบอลนั้น ทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และองค์กรฟุตบอลต่างๆ เร่งหารือในการช่วยเหลือเยียวยาแข้งอาชีพทั่วโลก ซึ่งทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ทำหนังสือถึง กกท., กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งรัฐบาล ว่า ทั้งสมาคมและสโมสรนั้นได้รับผลกระทบใดๆ บ้างจากไวรัสโควิด-19

เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยา

 

สําหรับแผนการกลับมาจัดการแข่งขัน และแผนการช่วยเหลือเยียวยาคนวงการมวยไทย และวงการฟุตบอล ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ทั้ง 2 กีฬาอาชีพนี้สามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้งแม้ว่าจะต้องรอจนถึงระยะสุดท้ายคือ ระยะ 4 ตามที่ ศบค.กำหนดเอาไว้

ตามแนวทางเบื้องต้นนั้น มวยไทยจะมีการปลดล็อกกลับมาแข่งขันกันได้อีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ขณะที่ฟุตบอลวางแผนจะกลับมาแข่งขันกันในช่วงต้นเดือนกันยายน แต่จะต้องเป็นการแข่งขันแบบปิดสนาม ไม่มีผู้ชม ให้มีการถ่ายทอดสดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการมวยไทย และฟุตบอล เพราะเริ่มมีความหวังสำหรับนักมวยไทยที่จะกลับมาทำมาหากินมีรายได้จากการขึ้นสังเวียนชก เช่นเดียวกับนักฟุตบอลที่จะได้กลับมาลงสนามแข่งขัน หลังจากที่ห่างหาย และต้องสู้ชีวิตฝ่าวิกฤตไปเป็นเวลาหลายเดือนเลยทีเดียว

แผนแนวทางมาตรการทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้วงการมวยไทย และฟุตบอล กลับมาจัดการแข่งขันได้อีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ทั้งหมด แต่ก็มีส่วนช่วยพยุงให้คนวงการมวยไทย และฟุตบอล ได้ฝ่าสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 และได้กลับมายืนหยัดกับเส้นทางของพวกเขา

แต่คงต้องยอมรับว่า ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ทั้ง 2 ชนิดกีฬานี้จะกลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิมได้อีกครั้ง…