จริงตนาการ : “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ธุรกิจที่ใช้ความหลงใหลสร้างเม็ดเงิน

“พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ถือเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดแพงที่สุด และมีแฟนบอลติดตามมากที่สุดในโลกลีกหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงฟุตบอลในอังกฤษก็ได้รับอานิสงส์มาอย่างยาวนาน เพราะแฟนบอลทั่วโลกมีเป้าหมายว่าวันหนึ่งจะต้องเดินทางไปเชียร์ทีมรักของตัวเองถึงสนามเหย้าให้ได้

ในฤดูกาล 2016-2017 ได้มีการศึกษาผลกระทบที่สโมสรฟุตบอลใหญ่ๆ ของอังกฤษที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พบว่านักท่องเที่ยว 686,000 คนเดินทางมาประเทศอังกฤษโดยมีเป้าหมายที่จะมาเยี่ยมชมสนามหรือเชียร์ทีมรักลงแข่งขันเป็นหลัก ใช้เงินเฉลี่ยวันละ 555 ปอนด์ต่อคนต่อวัน

และการศึกษาข้อมูลของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปอังกฤษในปัจจุบันก็ยังพบว่าฟุตบอลเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลือกมาเที่ยวประเทศนี้

แฟนบอลจำนวนหนึ่งอาสาที่จะเป็นผู้ช่วยเติมเต็มฝันให้แฟนบอลต่างประเทศเข้ามาชมเกมฟุตบอลในอังกฤษได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

 

“ไรอัน เฮย์แมน” ประธานกลุ่ม 1,500 สตรอง บอสตัน สเปอร์ส ที่คอยประสานงานให้กับแฟนบอลต่างชาติได้เข้ามาชมเกมของ “สเปอร์ส” หรือหลายๆ ทีมในพรีเมียร์ลีก บอกว่า เอาจริงๆ แล้วก็มีอาสาสมัครแบบตัวเองในหลายประเทศทั่วยุโรป ทั้งในอาเซอร์ไบจาน รัสเซีย สเปน เยอรมนี และในอังกฤษหลายๆ เมือง

“อีเธล สไลธ์” เลขาธิการของกลุ่มแฟนบอล “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ในทวีปแอฟริกา เล่าว่า เมื่อหลายปีก่อน เขาได้รับโทรศัพท์จากหนุ่มคนหนึ่งเขาบอกว่าพ่อของเขาที่ได้ร่วมทริปมาเชียร์แมนฯ ยูกับกลุ่มแฟนบอลได้เสียชีวิตลงแล้ว ซึ่งครอบครัวได้ขอบคุณที่สไลธ์ช่วยให้พ่อของพวกเขาเติมเต็มฝันก่อนจะลาโลกไป

นอกจากการติดตามเชียร์สโมสรแล้ว แฟนบอลบางคนยังมีนักเตะในดวงใจที่ทำให้พวกเขาต้องตามมาเชียร์ให้ได้ ยิ่งประเทศตัวเองมีนักเตะมาค้าแข้งในสโมสรไหน ก็จะทำให้คนประเทศนั้นๆ ตามเชียร์ทีมที่นักเตะบ้านเดียวกันมาสังกัดอยู่ไปด้วย

แฟนบอลเบลเยียมหันมาเชียร์ “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” เพราะ “แว็งซองต์ กอมปานี” เคยมาค้าแข้งที่นี่ ซึ่งเป็นการสร้างฐานแฟนบอลเรือใบสีฟ้าในเบลเยียมได้อย่างยอดเยี่ยม หลังจากนั้น “เควิน เดอ บรอยน์” ก็ย้ายตามมาอีก

เอ็ดการ์ หนุ่มชาวเบลเยียมยอมรับว่า เมื่อกอมปานีย้ายมา ทำให้เขากลายเป็นแฟนบอลเรือใบสีฟ้าพันธุ์แท้ ทั้งๆ ที่ประเทศตัวเองก็มีลีกฟุตบอลที่ดีเช่นกัน แต่กลับสนุกกับฟุตบอลอังกฤษมากกว่า

เขาบอกว่า ตัวเองไม่มีทีมในบ้านเกิดที่เชียร์อยู่เลย เพราะบรรยากาศฟุตบอลของเบลเยียมไม่สนุกเท่าที่อังกฤษ

หรือการที่ “ซน ฮึง มิน” กองหน้าเกาหลีใต้มาโด่งดังกับสเปอร์ส ก็ทำให้แฟนบอลเกาหลีใต้หันมาเชียร์สเปอร์สมากขึ้น จากที่พวกเขาเคยติดตามแมนฯ ยู เพราะ “ปาร์ก จี ซอง” ที่เคยมาเล่นให้ทีมปีศาจแดงอยู่ช่วงหนึ่ง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตามรอยซูเปอร์สตาร์ล้วนๆ

 

พรีเมียร์ลีกสร้างรายได้ได้อีกหลายมิติ การพาทีมออกปรีซีซั่นทัวร์นอกทวีป เอเชียและอเมริกาเป็นหลัก บัตรเข้าชมขายดีมาก บรรยากาศตื่นเต้นเร้าใจ เพราะไม่ใช่ว่าแฟนบอลทุกคนจะมีโอกาสมาดูทีมรักถึงอังกฤษ ดังนั้น เมื่อทีมที่เชียร์ไปถึงบ้านเกิดตัวเอง แฟนบอลเหล่านั้นก็ไม่อยากพลาดที่จะเข้าไปเห็นนักเตะตัวเป็นๆ แม้จะรู้ดีว่าการปรีซีซั่นไม่ได้ปล่อยของกันเต็มที่เหมือนในแมตช์อย่างเป็นทางการก็ตาม

อีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับอานิสงส์จากพรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือ พ่อค้าขายผ้าพันคอประจำแมตช์และสินค้าที่ระลึกต่างๆ ผ้าพันคอที่ว่านี้จะมีพ่อค้ามาเดินขายหน้าสนามแข่งขัน อาจจะก่อนแมตช์ 2-3 วัน ยาวมาจนถึงหลังจบแมตช์แข่งในวันนั้น ลวดลายในผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ของสองสโมสรที่ลงเตะในวันนั้น หรืออาจจะมีลวดลายนักเตะในตำนาน นักเตะปัจจุบันของทีมก็ได้

“เกรแฮม แอนเดอร์สัน” พ่อค้าขายของที่ระลึกหน้าสนามกูดิสัน ปาร์ก ของ “เอฟเวอร์ตัน” บอกว่า ขายของแบบนี้มา 15 ปีแล้ว และพบว่าแฟนบอลต่างชาติจะสนใจซื้อผ้าพันคอเป็นพิเศษ แต่ไม่มีแฟนบอลท้องถิ่นซื้อเท่าไรนัก เพราะอาจจะมองเห็นเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นเมืองของตัวเอง

ส่วนแฟนบอลที่มาจากประเทศอื่นๆ อยากจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าเคยมาดูแมตช์นี้

 

การเอาใจแฟนบอลทั่วโลกเพื่อหารายได้เข้าสโมสรเป็นเรื่องที่ไม่ผิด อย่างไรก็ตาม สโมสรต้องไม่ลืมสิ่งที่แฟนบอลในท้องถิ่นมอบให้กับทีมของตัวเองด้วย

เพราะค่าเหล่านี้ทุ่มเทเงิน เวลา กำลังกาย กำลังใจ ให้กับทีมมาเป็นเวลาหลายสิบปี จากรุ่นสู่รุ่น

ถ้าไม่มีแฟนบอลพันธุ์แท้เหล่านี้มาตั้งแต่อดีต โอกาสที่สโมสรจะมาได้ไกลขนาดนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริหารสโมสรฟุตบอลควรจะคำนึงถึงมากที่สุดคือ การสร้างความสมดุลระหว่างรายได้กับหัวใจของแฟนบอลนั่นเอง