เมอร์คิวรี่ : จุดพลุ “อาเซียน” จัดบอลโลก 2034 นับถอยหลังสู่ความฝันอันเลือนราง

จากการประชุม “สุดยอดอาเซียน” ครั้งที่ 34 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจแล้ว

ประเด็นทางด้านกีฬาก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่กลายเป็นประเด็นน่าสนใจกับการร่วมมือกันของชาติอาเซียนในการจัดกีฬาใหญ่ระดับโลกอย่าง “ฟุตบอลโลก ปี 2034”

ในการประชุมร่วมกันของ 10 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีความเห็นพ้องตรงกันตามสมาคมกีฬาฟุตบอลของบรรดาชาติสมาชิกในการให้อาเซียนร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2034 หรือในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า

ซึ่งถือเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับโลกของอาเซียน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาติอาเซียนรวมตัวกันเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพศึกฟุตบอลระดับโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ 3 ชาติมหาอำนาจลูกหนังแห่งอาเซียนอย่าง “อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนาม” รวมทั้ง “มาเลเซีย, สิงคโปร์” เคยริเริ่มแผนในการยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการชิงชัยฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับเมื่อปี 2011 แนวความคิดที่ชาติอาเซียนจะร่วมมือกันจัดฟุตบอลโลก 2034 เคยถูกหยิบยกมาจุดพลุนำเสนอครั้งแรกในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียน จนกลายเป็นประเด็นฮือฮาครั้งแรกมาแล้ว

ซึ่ง “ไซนุดิน นอร์ดิน” อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งสิงคโปร์ได้เสนอประเด็นดังกล่าวต่อที่ประชุมเมื่อ 8 ปีก่อน

แต่หลังจากนั้นประเด็นจุดพลุดังกล่าวก็ค่อยๆ จางหายไปจนกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2013 ไซนุดิน นอร์ดิน และ “โมฮาเหม็ด ไฟซอล ฮัสซาน” ประธานสเปเชียลโอลิมปิกแห่งมาเลเซีย ปัดฝุ่นประเด็นนี้ให้ชาติอาเซียนตื่นตัวอีกครั้งในการร่วมกันจัดฟุตบอลโลก ซึ่งตามข้อกำหนดของฟีฟ่าจะวนรอบไปมีโอกาสจัดในทวีปเอเชียได้อีกครั้งในปี 2034

จนกระทั่งเมื่อปี 2017 ชาติอาเซียนได้มีการเสนอโปรเจ็กต์ดังกล่าวนี้ต่อ “จานนี่ อินฟานติโน่” ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมดูงานที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยที่มีหัวเรือใหญ่ 3 ชาติก็คือ อินโดนีเซีย, ไทย และเวียดนาม

ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ถอนตัวไปจากแนวความคิดนี้ทั้งที่เป็นแกนหลักในการจุดพลุขึ้นมา

จนล่าสุดในปี 2019 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือกันในการยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2034 ภายในอีก 15 ปีข้างหน้าขึ้นมาอีกครั้ง

ซึ่งถือเป็นประเด็นเก่าที่ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นให้ได้รับความสนใจจากแฟนลูกหนังอาเซียนอีกครั้ง

 

แต่ก็อาจจะเป็นเพียงประเด็นใหญ่ที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง รวมทั้งก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นเพียงความฝัน และค่อยๆ จางหายเลือนรางไปเหมือนที่ผ่านมา

สำหรับชาติอาเซียนถือเป็นกลุ่มแรกที่มีแนวความคิดที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2034 ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรกของอาเซียนที่ได้จัดศึกมหกรรมลูกหนังระดับโลก

โดยก่อนหน้านี้ในเอเชียก็มีเพียง “เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น” ที่เคยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดศึกฟุตบอลโลก เมื่อปี 2002 และ “กาตาร์” ชาติมหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางที่เป็นเจ้าภาพชาติเดียวในฟุตบอลโลก ปี 2022

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากชาติอาเซียนที่เสนอตัวจัดฟุตบอลโลกปี 2034 แล้ว ยังมี “จีน” ชาติยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่หวังจะจัดศึกบอลโลกครั้งแรกของชาติตัวเอง

รวมทั้ง “ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์” อีก 2 ชาติเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย-โอเชียเนีย ต่างก็ให้ความสนใจที่จะยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก

อีกทั้งยังมีชาติจากทวีปแอฟริกาอีก 3 ชาติก็คือ อียิปต์, ซิมบับเว, ไนจีเรีย ซึ่งได้ให้ความสนใจเป็นเจ้าภาพเช่นกันด้วย

 

สําหรับศึกฟุตบอลโลกครั้งต่อไปในปี 2022 จะจัดขึ้นที่กาตาร์ และในฟุตบอลโลกปี 2026 ได้มีการคัดเลือกเจ้าภาพกันแล้วคือ “สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก” จากนั้นฟีฟ่าก็จะหมุนเวียนเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกครั้งต่อไปในปี 2030 ไปยังทวีปแอฟริกา

ก่อนที่ครั้งต่อไปในปี 2034 ก็จะวนมายังทวีปเอเชียอีกครั้งหนึ่ง สอดคล้องกับแผนที่ชาติอาเซียนได้เตรียมความพร้อมร่วมกันในการยื่นเสนอตัวจัดฟุตบอลโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า

การจัดฟุตบอลโลกจำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านสนามแข่งขันและระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬาฟุตบอล เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม และแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกที่จะเดินทางมาร่วมเกาะติดรับชมการแข่งขันนับล้านคน

ดังนั้น จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพื่อจัดเตรียมสนามแข่งขันที่ควรจะมีทั้งหมด 12 สนาม ซึ่งแต่ละสนามจะต้องมีมาตรฐาน และมีความจุไม่น้อยกว่า 35,000 ที่นั่ง

ส่วนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ก็จะต้องเพียบพร้อมอีกด้วย

แต่ปัญหาของการร่วมกันจัดของชาติอาเซียนก็คือ การกระจายการแข่งขันไปในทั้งหมด 10 ชาติ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการให้ลงตัวกับสเกลมหกรรมใหญ่ระดับฟุตบอลโลก

ดังนั้น ทั้ง 10 ชาติอาเซียนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการฟุตบอลโลก 2034 ให้ลงตัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และจะต้องเสนอแผนความร่วมมือเป็นหนึ่งไปให้กับฟีฟ่าได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ และความพร้อมในการจัดศึกฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติอาเซียน

 

“บิ๊กก้อง” “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ระบุถึงกรณีที่ชาติอาเซียนร่วมมือกันยื่นจัดศึกฟุตบอลโลก 2034 ว่า ในส่วนประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งประชาคมอาเซียน และเป็นผู้นำด้านกีฬาของกลุ่มอาเซียนจะต้องมีการเตรียมตัวให้ดีที่สุด

โดยเฉพาะเรื่องระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งการคมนาคมขนส่ง และสนามแข่งขันที่จะต้องได้มาตรฐานของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) และฟีฟ่า

“ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลที่ได้ออกมาเป็นผู้นำ และสนับสนุนแนวคิดที่ชาติอาเซียนจะร่วมกันยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกในปี 2034 อย่างเต็มที่ โดยเรื่องนี้การกีฬาแห่งประเทศไทยก็ได้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว ขณะที่ในส่วนของประเทศอินโดนีเซียก็ริเริ่มให้กลุ่มอาเซียนเสนอตัวร่วมกัน ซึ่งผมมั่นใจว่าหากทุกฝ่ายร่วมกัน ไทยเราและชาติอาเซียนพร้อมจะเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2034 ได้อย่างแน่นอน”

ผู้ว่าการ กกท.กล่าว

 

ส่วนการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นนั้น กกท.ได้อยู่ในช่วงดำเนินการปรับปรุงสนามต่างๆ ทั้งสนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬาสมโภช 700 ปี จ.เชียงใหม่ และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ในการรับรองการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นไม่เกิน 23 ปี ในช่วงต้นปีหน้า

ซึ่งถือเป็นรายการใหญ่ของทวีปเอเชีย เป็นรองเพียงแค่รายการเอเชี่ยนคัพ อีกทั้งยังเป็นรายการคัดเลือกทีมผ่านเข้าไปสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ได้วางแผนในการก่อสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ภายในศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติของ กกท. จ.สระบุรี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับมิติใหม่ในการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยในอนาคต

ทางคณะกรรมการร่วมของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ กกท. กำลังศึกษาสถานการณ์ร่วมกัน เพื่อวางแผนเดินหน้าในการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย รวมทั้งวางแผนคิดการใหญ่ไปถึงการรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดศึกฟุตบอลโลกในปี 2034

ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องการที่ชาติอาเซียนร่วมมือกันยื่นเสนอตัวจัดฟุตบอลโลก 2034 ถูกจุดพลุขึ้นมาแล้วก็ค่อยๆ จางหายไปมาแล้วหลายครั้ง และเวลาก็ค่อยๆ ถอยหลังลงไปทุกทีๆ ดังนั้น หากชาติอาเซียนมีความจริงจังที่จะร่วมมือกันจัดศึกลูกหนังโลกก็ควรที่จะร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจออกมาอย่างแท้จริง ทั้งนามธรรมและรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมร่วมกันที่จะต้องวางแผนเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 10 ปีก่อนที่จะเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์จริงในปี 15 ปีข้างหน้า…

แม้จะเหลือเวลาอีกถึงกว่า 15 ปี แต่หากตอนนี้ยังไม่ริเริ่มลงมือเตรียมความพร้อม เวลาก็จะค่อยๆ ถอยหลังลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความฝันในการที่อาเซียนร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งประวัติศาสตร์ก็จะค่อยๆ นับถอยหลังจางหายเลือนรางไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาเช่นกัน…