คุยกับทูต | มุน ซึง-ฮย็อน เกาหลีใต้ ผู้นำโลกด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี (3)

คุยกับทูต | มุน ซึง-ฮย็อน เกาหลีใต้ ผู้นำโลกด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี (3)

 

“สําหรับเกาหลีใต้ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งทำให้เกาหลีใต้ได้ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่างแข็งขัน ตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ การต่อต้านการก่อการร้าย และประเด็นอื่นๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก”

นายมุน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย ชี้แจงถึงการดำเนินแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกตามช่องทางการทูต

“เพื่อส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตย โดยให้การสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นพื้นที่เปิดให้กับระบบการเมืองที่หลากหลายได้ร่วมมือกัน และเปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันหรือพัฒนาเพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน”

เกาหลีใต้มีบทบาทอย่างมากในฐานะที่เป็น 1 ในเสาหลักของยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งส่งผลสนับสนุนพลังทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้ด้วย

“ทั้งอียูและนาโต ต่างก็พยายามหาจุดเชื่อมกับประเทศในเอเชียเพื่อสร้างสันติภาพและความมีระเบียบอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”

 

ทุกวันนี้ เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องของภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ไปจนถึงคลื่นความร้อนรุนแรงที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นจนสร้างสถิติใหม่ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้สามารถพบเห็นได้ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน

“เกี่ยวกับเรื่องซีโร่ คาร์บอน วาระลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นคำมั่นสัญญาของเกาหลี ไทย และอีกหลายประเทศ”

“ประเทศเกาหลีตั้งคำปฏิญาณที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 26.3% เป็น 40% ภายในปี 2030 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050”

“ส่วนเรื่องไออาร์เอ (Inflation Reduction Act – IRA) ของสหรัฐอเมริกา เท่าที่ทราบเป็นกฎหมายที่สหรัฐออกมาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ มีข้อมูลบางอย่างบอกว่า ถ้ากฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ดูเหมือนบริษัทของเกาหลี ญี่ปุ่น หรืออียู จะเสียเปรียบ เกาหลีอาจจะเสียเปรียบในด้านรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลเกาหลีพยายามที่จะลดผลกระทบในทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ในขณะที่มีการเจรจากับสหรัฐอเมริกาซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีความร่วมมือกันมากขึ้นทางอุตสาหกรรมแบตเตอรี่กับโซลาร์เซลล์ ส่วนนี้ก็ถือว่าได้เปรียบ”

ข้อมูลจาก Techsauce กล่าวว่า แม้ว่าชื่อกฎหมายไออาร์เอ จะเป็นการลดเงินเฟ้อ แต่พบว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่กลับเป็นการลงทุนในด้านพลังงานสะอาดซึ่งครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตพลังงาน การพัฒนาพลังงานสะอาด รวมไปถึงรถยนต์ EV อีกด้วย

“และเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้ เยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ เพื่อฉลองครบรอบ 70 ปีของการเป็นพันธมิตรระหว่างทั้งสองประเทศ”

นายมุน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย

เกาหลีใต้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายมุน ซึง-ฮย็อน ย้ำว่า

“จุดยืนของประเทศเกาหลีไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันที่รัสเซียเริ่มรุกรานประเทศยูเครน ถือว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเกาหลีให้ความร่วมมือตามมติของสหประชาชาติ และตำหนิรัสเซียที่ทำการรุกรานยูเครน รัฐบาลเกาหลีสนับสนุนด้านการเงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากสงครามครั้งนี้”

“ตอนนี้เรายังไม่ได้สนับสนุนทางด้านอาวุธ เพราะถ้าสนับสนุนอาวุธก็เป็นการเข้าร่วมในสงครามนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีจึงให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อมนุษยธรรม”

“สงครามยูเครนกับรัสเซีย ไม่ใช่แค่สหรัฐหรือสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ประชาคมระหว่างประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องรวมพลัง กล้าออกเสียง แสดงความคิดเห็น เพราะเมื่อไรก็ตาม ประเทศใหญ่เข้าไปรุกรานประเทศเล็ก แต่ประเทศอื่นเงียบเฉยก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี”

“ยกตัวอย่าง หากเกาหลีถูกรุกรานจากประเทศใหญ่ เกาหลีจะไปขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นได้อย่างไร เรื่องที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผิดกฎกติกา ขัดต่อระเบียบระหว่างประเทศ เราต้องส่งเสียงแสดงออก”

 

เกาหลีกับสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน (Taiwan Strait)

“เรื่องของไต้หวัน ก็เช่นเดียวกับสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ตอนนี้กลายเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลไปทั่วโลก สันติภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญมากต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงของอินโด-แปซิฟิกและประชาคมโลก”

“เกาหลีไม่เห็นด้วยที่จะใช้กำลังในภูมิภาคนั้น ต้องการให้แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยให้นานาประเทศร่วมมือกัน มีการเจรจากัน เพราะสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมโลก”

มีแถลงการณ์ร่วมระหว่างประธานาธิบดีเกาหลีใต้กับประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ออกมาระหว่างการเยือนวอชิงตันอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้ เพื่อฉลอง 70 ปีความสัมพันธ์ระหว่างกัน และหาทางร่วมมือเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ

ได้มีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสันติภาพเหนือช่องแคบไต้หวัน และต่อต้านความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ในอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งสถานที่ทางทหารบนพื้นที่ปรับปรุงในทะเล และการกระทำที่เป็นการข่มขู่หรือบีบบังคับ

นายมุน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย

เกาหลีกับอาเซียน (ASEAN)

“เกาหลีมีความร่วมมือกับอาเซียนซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่อินโดนีเซีย และในขณะเดียวกันประเทศเกาหลีก็พยายามหาทางร่วมมือกับทุกประเทศที่อยู่ในอาเซียนด้วย”

“ประธานาธิบดีเกาหลีคนปัจจุบัน เน้นถึงความร่วมมือระหว่างเกาหลีกับอาเซียน โดยมีกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKED Fund) ที่มากกว่าเดิมถึงสองเท่า ในขณะเดียวกัน ก็เน้นในการให้ความร่วมมือทางด้านแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศที่เกี่ยวข้อง คือ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เราจึงมีกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (MKCF) ทั้งสองประเด็นนี้ เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ในหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มากขึ้นหลายด้าน”

การฝึกการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ในคอบร้าโกลด์ 2023

“เกาหลีใต้ได้ร่วมคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold : CG) ซึ่งเป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1982 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคีโดยมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตอนนี้เป็น 7 ประเทศแล้ว”

“จำนวนทหารที่เข้าร่วมในการฝึกมากที่สุดคือ สหรัฐ ไทย และเกาหลี โดยปีนี้ เกาหลีได้ส่งเรือยกพลขึ้นบก LST IL CHONG BONG จากสาธารณรัฐเกาหลี มายังท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ”

การฝึกคอบร้าโกลด์ มีวัตถุประสงค์ ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมในการฝึก เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมความสงบสุขและความมั่นคงในภูมิภาค ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และจากภัยพิบัติ รวมทั้งการฝึกภาคสนามด้วย

นายมุน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย

การลงทุนของเกาหลีในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

“มีบริษัทเกาหลีประมาณ 400 แห่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก ตอนนี้เรากับอมตะกรุ๊ปกำลังเจรจาเพื่อจะสร้างพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ตซิตี้ แบบเกาหลี และเกาหลีก็ยังสนใจที่จะสร้างสมาร์ตซิตี้แบบเกาหลีในโซน EEC ด้วย”

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเกาหลี เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ลงทุนในพื้นที่ EEC มากที่สุด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี และยังสามารถขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมในพื้นที่ EEC ได้

โดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจ BCG (จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก : สกพอ.)

โครงการ Working Holiday Program : WHP ของเกาหลี

“เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันและการจัดตั้งบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศพันธมิตร มีจุดประสงค์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลจากประเทศพันธมิตร ในการเดินทางไปเกาหลี ระยะเวลา 1 ปี เพื่อเสริมสร้างทักษะ ประสบการณ์ชีวิต โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาทำงานมีรายได้ผ่านการจ้างงานระยะสั้น”

“หลังจากที่ผมมารับตำแหน่งที่สถานทูตเกาหลีประจำประเทศไทยแล้ว จึงทราบว่า รัฐบาลเกาหลียังไม่ได้ดำเนินโครงการนี้กับประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียน ผมจึงเริ่มต้นจัด Working Holiday Program ให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน” •

 

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin