ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
เกาหลีใต้มี “Soft Power” หรือ “อำนาจอ่อน” อย่างแข็งแกร่งโดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่แพร่หลายมากที่สุดในนามของ “คลื่นเกาหลี” (Korean Wave) หรือ ‘ฮันรยู’ (Hallyu) ได้รับการพัฒนาจากการเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยควบคู่กับวัฒนธรรมสมัยนิยม เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เกาหลีใต้มีบทบาทในการเมืองโลก
สมกับเป็นประเทศที่มีอำนาจเศรษฐกิจใหญ่ สืบสานต่อโดยรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) จากพรรคอนุรักษนิยม
“Soft Power” นั้นเกิดจากการสร้างเสน่ห์หรือการโน้มน้าว แตกต่างจากอำนาจแบบเดิมที่เรียกได้ว่า อำนาจอย่างแข็ง ซึ่งเป็นอำนาจเชิงบังคับจากการใช้กำลังทางทหารและพลังทางเศรษฐกิจ
นายมุน ซึง-ฮย็อน (Moon Seoung-hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จในการส่งเสริมอำนาจละมุน (soft power) และการทูตวัฒนธรรมของเกาหลีใต้
“กระแสเกาหลีเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยผ่านสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ เพลงและดนตรี K-Pop, ละคร K-Drama, ภาพยนตร์ K-Movies, เครื่องสำอาง K-Beauty, อาหาร K-Food, การท่องเที่ยว K-Travel, แฟชั่น K-Fashion”
“กระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีได้สาดซัดไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ถ้าจะพูดถึงเรื่องเกาหลี ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องคลื่นความนิยมเกาหลี (K-Wave) หรือที่เรียกกันว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu) ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม ช่วยสร้างภาพประเทศเกาหลีในแง่บวกมากขึ้น”
“เกิดการส่งผลทางอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจ คือเหตุผลที่ประเทศไทยก็อยากจะร่วมมือกับประเทศเกาหลีด้าน Soft Power ด้วย เพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และทั้งสองฝ่ายกำลังหาแนวทางในด้านนี้”
ปัจจัยที่ทำให้ ‘ฮันรยู’ (Hallyu) ประสบผลสำเร็จ
ท่านทูตเล่าว่า มี 3 อย่าง คือ ระบบเปิด คุณค่าสากล และนโยบายของรัฐบาล
“ส่วนที่หนึ่ง คือระบบเปิด หมายความว่าไม่ได้เจาะจงเพียงเกาหลีชาติเดียวหรือต้องทำโดยคนเกาหลีเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ลิซ่าซึ่งเป็นคนไทย ก็อยู่ในวง Blackpink และไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ยังมีคนจีนร่วมวงด้วยเช่นกัน”
“ส่วนที่สอง เน้นเรื่องคุณค่าสากล หมายความว่า ทั้งในเพลง หรือภาพยนตร์ จะมีเนื้อหาที่เป็นสากล เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Parasite, Squid Game มีเนื้อหาตำหนิระบบทุนนิยม คือ ชนชั้นกลางต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดในสังคมทุนนิยม ช่องว่างระหว่างคนรวย คนจนกำลังห่างไปเรื่อยๆ สังคมที่เต็มไปด้วยแรงกดดันให้ต่อสู้เพื่อตนเอง ความเหลื่อมล้ำบีบบังคับให้คนต้องหาทางรวยทางลัด เป็นต้น”
“ส่วนที่สาม คือ นโยบายของรัฐบาล เป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลในการขยายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในระยะยาว เน้นการ ‘ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม’ รัฐบาลจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณการสร้างวัฒนธรรม และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหลังจากนั้น ก็เหมือนกับว่า ปกป้องสิทธิ์ ให้อิสระในการสร้างวัฒนธรรม”
ความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทย-เกาหลี ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กล่าวถึงในตอนแรกไปแล้ว อันดับต่อไปคือ ความร่วมมือด้าน Soft Power และแรงงาน
“ความร่วมมืออันดับที่สาม ด้าน Soft Power”
“เกาหลีใต้สามารถปั้นอำนาจอย่างอ่อน หรือความเป็น Soft Power ให้มีอิทธิพลไปแล้วทั่วโลก ดังนั้น เกาหลีจึงหาโอกาสร่วมมือกับไทยด้านนี้ด้วย และประเทศไทยก็เน้นถึง 5 F เช่นกัน นั่นคือ F-Food อาหาร, F-Fashion แฟชั่น, F-Festival เทศกาล, F-Film ภาพยนตร์, F-Fighting เช่น มวยไทย”
“เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการจัดสัมมนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Soft Power ของประเทศเกาหลีและประเทศไทย เพื่อหาแนวทางร่วมมือทางด้าน Soft Power ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้สร้างมลพิษ ดังนั้น จึงถือว่ามีศักยภาพสูงเพราะจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
จากความนิยมของวัฒนธรรมสมัยนิยมเกาหลีในต่างประเทศ เกาหลีจึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในต่างประเทศ เช่น งานครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และการส่งเสริมศิลปะการแสดง เทศกาลภาพยนตร์ และศิลปะเกาหลีในต่างประเทศของมูลนิธิเกาหลี การทูตวัฒนธรรมยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนเยาวชนและการให้ทุนการศึกษา ซึ่งถือเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับประชาชน
ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม และความต้องการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตนเอง
ความร่วมมืออันดับสี่ ด้านแรงงาน (labor cooperation)
“คนไทยที่ไปทำงานในประเทศเกาหลีอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ 20,000 คน ส่วนคนไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายซึ่งเรียกกันว่า ผีน้อย (Little Ghost) อยู่ที่ประมาณ 200,000 คน ตอนนี้ คนไทยจึงเป็นอันดับหนึ่ง ที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศเกาหลี”
“ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีจึงพยายามที่จะช่วยให้คนไทยมีโอกาสได้ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น โดยการเพิ่มโควต้าให้มากขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อก่อน”
“โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่น การต่อเรือ ก็จะให้วีซ่าพิเศษ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้ไปทำงานเฉพาะทางมากขึ้น”
“ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเกาหลียังมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการให้เงินเดือน คือไม่ว่าจะเป็นคนเกาหลี หรือเป็นคนต่างชาติ ทุกคนจะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันหมด เพราะฉะนั้น คนต่างชาติที่ทำงานในประเทศเกาหลี ถือว่าได้เงินเดือนเหมือนๆ หรือเท่าๆ กับคนเกาหลีที่ทำงานที่นั่น”
“ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายนั้น เราเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยการแจ้งให้พวกเขารีบกลับประเทศของตัวเองซึ่งก็คือประเทศไทย แล้วค่อยหาโอกาสที่จะกลับไปทำงานที่ประเทศเกาหลีอย่างถูกกฎหมายในภายหลัง”
“แน่นอน ที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามหรือรณรงค์ให้คนไทยที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีสมัครใจกลับมาประเทศไทย เพราะถ้าถูกจับ ก็จะโดนปรับหนักด้วย”
“อย่างไรก็ตาม คนไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลี แม้จะรู้ว่าเสี่ยง แต่ก็ยังแอบทำงานอย่างผิดกฎหมายต่อไป เพราะเงินเดือนที่จะได้ในเกาหลีเมื่อเทียบกับประเทศไทยในงานเดียวกันสูงกว่าประมาณ 3 เท่า แม้มีข่าวว่าคนไทยบางคนถูกจับแล้วถูกส่งกลับมาที่ประเทศไทยบ่อยครั้ง แต่จำนวนคนไทยที่สนใจไปเสี่ยงโชคก็ไม่ได้ลดน้อยลง”
“ส่วนที่อยากจะเน้นคือ ไม่ใช่จับคนทำผิดกฎหมายแล้วก็ไล่ออก เพราะอย่างที่เล่ามาแล้ว ตอนนี้ รัฐบาลเกาหลีพยายามเพิ่มโควต้าสำหรับคนไทยเพื่อให้ทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศเกาหลี”
“โดยรวมแล้วคนเกาหลีไม่ได้รังเกียจคนไทยที่ลักลอบทำงานในประเทศเกาหลี เพราะหากคนเกาหลีรังเกียจ คนไทยก็คงไม่สามารถไปทำงานที่นั่นได้ แต่เพราะเงินเดือนในเกาหลีสูงกว่า จึงทำให้คนไทยยอมเสี่ยง”
“ซึ่งตอนนี้อุตสาหกรรมของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรและอีกหลายด้าน ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากทีเดียว”
“โดยปกติ คนเกาหลีก็ชอบคนไทยอยู่แล้ว เพราะว่าเรามีวัฒนธรรมคล้ายกัน และคนไทยมักจะมีนิสัยดี ทั้งค่อนข้างมีแนวโน้มในเรื่องการเชื่อฟังเป็นอย่างดี”
“เกาหลีมีวัฒนธรรมของศาสนาพุทธด้วย ซึ่งความคล้ายคลึงกันนี้ ทำให้คนเกาหลีชอบแรงงานคนไทย ไม่ว่าจะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย หรือไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าคนไทยไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เมื่อมีปัญหาขึ้นมา ก็จะไม่ได้รับการปกป้องตามหลักมนุษยธรรม เพราะไปอยู่แบบไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย”
“มีเหตุผลอย่างหนึ่งคือ ระหว่างประเทศเกาหลีกับประเทศไทย ได้มีการตกลงเรื่องการเข้าประเทศ คนเกาหลีมาเที่ยวประเทศไทยและคนไทยไปเที่ยวประเทศเกาหลีได้โดยต่างก็ไม่ต้องมีวีซ่า อย่างน้อยอยู่ได้ 3 เดือน ไม่เหมือนเวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องมีวีซ่า อาจลำบากในการเข้าประเทศเหล่านี้ ก็เลยไปน้อยกว่า”
“คนไทยบางคนที่ไปประเทศเกาหลีอาจคิดว่าไม่ต้องมีวีซ่าแล้ว พอเข้าประเทศปุ๊บก็หายตัวปั๊บ ซึ่งอาจจะกลายเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไทยไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีมากทีเดียว”
“เรื่องที่กล่าวมานี้มีสามประเด็นคือ เงินเดือนเกาหลีสูงกว่าที่ไทยประมาณ 3 เท่า ในขณะเดียวกันวีซ่าไม่ต้องมี จึงเข้าง่าย และปัญหาโบรกเกอร์หรือนายหน้า”
“สามประเด็นนี้รวมแล้วเป็นโครงสร้างในการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น การแก้ไขจึงค่อนข้างยากในระดับหนึ่ง แม้รัฐบาล กระทรวงแรงงาน ตำรวจ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการลักลอบเข้าไปทำงานก็ยังไม่ค่อยลดลง”
“นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลียังเปิดโอกาสให้คนไทยไปทำงานในเกาหลีอย่างถูกกฎหมายในระยะเวลาที่นานขึ้น สมัยก่อน คนไทยไปทำงานในเกาหลีได้นานอย่างมากที่สุดเพียง 5 ปี แต่ตอนนี้ขยายเป็น 10 ปีแล้ว”
“ส่วนประเด็นคอร์รัปชั่น แน่นอน เกาหลีก็มีปัญหาคอร์รัปชั่น และมีความพยายามในการพัฒนาเรื่องนี้ตลอดมา แต่จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ของประเทศ แสดงให้เห็นว่า เกาหลีมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะเกาหลีมีกฎหมายชื่อว่า คิม ยอง รัน (Kim Young – ran Law หรือ Anti-Corruption Law) กำหนดว่า ถ้าได้รับของขวัญต้องไม่ควรเกิน 50,000 วอน หรือประมาณพันกว่าบาท ถ้ากินอาหารมื้อหนึ่งต้องต่ำกว่า 3,000 วอน หรือประมาณ 70 บาท” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022