ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
แร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน
การใช้ชีวิตอย่างสมดุลของนักการทูตดัตช์ (4)
มาถึงการใช้ชีวิตครอบครัวของท่านทูตที่ต้องบาลานซ์ในทุกเรื่อง ทั้งครอบครัวและหน้าที่การงาน ท่านทูตแร็มโก (Remco Johannes van Wijngaarden) เล่าถึงเหตุที่ต้องการมีลูก
“แน่นอนว่าเราได้พบเห็นเด็กๆ ในครอบครัวของเรา ของเพื่อนๆ และของคนทั่วไป ซึ่งก็ไม่ใช่สาเหตุที่เราต้องการมีลูก แต่เป็นเพราะเราสองคน ผมและสามี คุณคาร์เตอร์ (Carter Xuan Duong) มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและรักกันมาก ในปี 2012-2013 เราอยู่ด้วยกัน เราแต่งงานกัน แล้วไม่นานจึงเริ่มคิดถึงความเป็นพ่อคน ต่อมา ผมได้ลูกสาวคนแรกตอนที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ และได้ลูกฝาแฝดที่ประเทศจีน”
“ปัจจุบัน เรามีลูกสามคน ลูกสาวคนโตชื่อ เอลล่า (Ella) อายุ 6 ขวบ และน้องฝาแฝดหญิงและชาย ลิลลี่และคูเปอร์ (Lily & Cooper) อายุ 4 ขวบ ลูกทั้งสามไม่ได้เกิดจากเรา เพราะเราสองคนเป็นผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถตัดสินใจได้เพียงชั่วข้ามคืนว่าตกลงเรามีลูกกันเถอะ เพราะนี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ได้มีการปรึกษาหารือคุยกันอยู่นานทีเดียว เช่น นานเท่าไหร่จึงจะมีลูกได้ หรืออะไรประมาณนั้น นับครั้งไม่ถ้วน ก็เลยคิดว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตัวผมเองอายุก็ค่อนข้างมากแล้ว ไม่เหมือนคุณคาร์เตอร์ที่มีอายุน้อยกว่ามาก”
“แล้วเราก็ล้มเลิกความฝันที่จะเป็นพ่อคน”
“มาวันหนึ่งมีคนมาคุยกับคุณคาร์เตอร์ว่า เพื่อนของเราคนหนึ่งได้อุปการะเด็กเป็นลูกสองคน จากประเทศจีน และยังบอกด้วยว่า ผมสามารถที่จะขอรับอุปการะเด็กเป็นบุตรบุญธรรม”
“เมื่อได้ยินดังนั้น จึงเสมือนไฟดวงเล็กๆ ส่องประกายเจิดจ้าขึ้นมาทันที จากนั้นเราก็เริ่มกระบวนการซึ่งไม่ง่ายเลย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากมายด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน เราต้องขับรถไปเมืองอื่นเพื่อการสัมภาษณ์ มีการตรวจสอบเกี่ยวกับสวัสดิการของเด็ก และในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งตรวจสอบเพื่อนๆ ของเราด้วย รวมแล้วใช้เวลาในกระบวนการนี้กว่าสามปี”
“ในฐานะผู้ชายสองคนอย่างเรา เราไม่สามารถรับอุปการะเด็กได้จากทุกแห่งหนในโลก กระทำได้เพียงในสี่ประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส และแอฟริกาใต้ ที่สามารถรับอุปการะเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมในประเทศของตนเองได้ และที่บ้านต้องมีพี่ชาย หรือน้องสาว แต่ในกรณีของผม เขาไม่ได้อยู่ที่บ้าน ดังนั้น เราจึงตัดสินใจที่จะรับอุปการะเด็กในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในหกสัปดาห์แรก เราอยู่กันลำพังเพื่อรับมือกับเด็กแรกเกิดในรัฐฟิลาเดลเฟีย”
“เราได้เรียนรู้วิธีการดูแลเด็กทารกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และเราทำได้ค่อนข้างดี บางครั้งก็ผลัดกันดูแล หนึ่งคืนสำหรับคุณคาร์เตอร์ หนึ่งคืนสำหรับผม เราดูแลลูกสาวคนโตที่เป็นทารกอยู่นานหกสัปดาห์ในสหรัฐอเมริกา และหลังจากหกสัปดาห์ กระบวนการทั้งหมดก็เสร็จสิ้น เธอได้รับอนุญาตให้บินไปเนเธอร์แลนด์กับเรา โดยเป็นชาวดัตช์เช่นเดียวกับเรา”
ท่านทูตเล่าถึงส่วนที่ดีที่สุดของการได้เป็นพ่อคน นั่นคือ
“พวกเขาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง เราอบอวลด้วยความรัก อิ่มเอมไปกับความสุขรอบตัว และเมื่อเด็กๆ เห็นเรา พวกเขาดูมีความสุขมาก ครอบครัวคือความอบอุ่น คือความสุข และสำหรับเราแล้ว ไม่ใช่ตัวเลือกตามธรรมชาติแน่นอน เพราะเราทั้งสองคนเป็นผู้ชาย เรายิ่งกว่าพอใจ”
“ก็นับว่าเราโชคดีมากที่ได้รับอนุญาตให้มีลูกสามคน จึงรู้สึกเหมือนถูกล็อตเตอรี่ หรืออะไรทำนองนั้น เป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับเราจริงๆ เพราะหญิงชายบางคู่ไม่สามารถมีลูกได้ หรือมีปัญหาในการมีลูกด้วย”
“ในตอนเช้า เราจะปลุกเด็กๆ ให้ตื่น กินอาหารเช้า แล้วจึงพาไปโรงเรียน”
“ลูกๆ ชอบสระว่ายน้ำ เราให้ลูกได้เรียนรู้วิธีว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ตอนนี้ทุกคนสามารถว่ายน้ำได้ เพราะในสวนที่นี่มีทั้งสระน้ำและบ่อน้ำเก่าแก่ดั่งโอเอซิสในเมืองหลวง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เราจะได้ไม่ต้องกังวลว่าพวกเขาจะเดินลงบ่อ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็สามารถว่ายน้ำช่วยเหลือตัวเองได้”
“ตอนปีแรก คุณคาร์เตอร์ยังคงทำงานในเนเธอร์แลนด์ เราจึงเป็นพ่อแม่ที่ทำงานด้วยกันทั้งคู่ การดูแลเด็กเล็กจึงไม่ใช่เรื่องง่าย อาจต้องมีพี่เลี้ยงเด็ก มีพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่ดูแลเด็กได้เต็มเวลา”
“และเมื่อสองสัปดาห์ก่อน พ่อแม่ของผมก็ได้มาเยี่ยมเราที่นี่ ชื่นชมมากว่า เราเป็นครอบครัวที่มีความสุขและสนุกสนาน”
บ้านที่กรุงเทพฯ เป็นสถานที่เหมาะสมในการดูแลเด็ก
“เราโชคดีเพราะเราได้มาอยู่ในบ้านใหญ่หลังนี้ใกล้กับสถานทูต และเรายังมีแม่ของคุณคาร์เตอร์อีกคนที่อยู่บ้านดูแลลูกได้ การทำงานใกล้ๆ บ้านทำให้มีความสะดวกมากขึ้นเพราะผมสามารถมองเห็นลูกๆ ผ่านหน้าต่างกระจกใสในสำนักงานตอนมื้อเที่ยงเกือบทุกวัน เว้นแต่ว่าผมต้องเดินทาง ผมคิดว่าผมเห็นลูกๆ ที่นี่บ่อยกว่าตอนอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เพราะบ้านในเซี่ยงไฮ้อยู่ไกลจากที่ทำงาน และผมอยู่ที่นั่นสามปี”
“บ้านหลังนี้เป็นหนึ่งในบ้านหรือทำเนียบที่พักอาศัยอย่างเป็นทางการของผู้แทนประเทศเนเธอร์แลนด์ที่สวยที่สุดที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของ มีอาณาบริเวณกว้างขวาง และใหญ่โต เด็กๆ ก็รู้ว่าบ้านนี้พิเศษมาก แถมมีสัตว์ต่างๆ เช่น งู เต่า นก ที่อยู่กันตามธรรมชาติมานานประหนึ่งบ้านของมันในป่าคอนกรีต”
ความคิดในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
“ผมพยายามทำตัวให้เป็นแบบอย่างเสมอเฉกเช่นพ่อแม่ทุกคน เช่น คุณต้องทำดีกับทุกคน ต้องสุภาพกับทุกคน ต้องกล่าวขอบคุณทุกคน ต้องรับฟังทุกคน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราพยายามสอนลูกๆ ของเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป แต่เราพยายามเป็นตัวอย่างที่ดีให้พวกเขาเป็นเช่นนั้น”
“เมื่อผมไปต่างประเทศ หรือมีงานในตอนเย็น ก็จะไม่ได้เห็นเด็กๆ ทำให้รู้สึกผิดเล็กน้อย และก็คิดถึงพวกเขา ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับพ่อแม่ที่ทำงานทุกคน”
“ที่พูดมานี้ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นตัวอย่างหรือสอนคนอื่นให้เป็นพ่อแม่ที่ดีได้ ผมเพียงต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเราก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่เป็นพ่อแม่”
“สิ่งที่เด็กๆ ทำให้ผมประหลาดใจมากที่สุดเห็นจะเป็นตอนที่เด็กมีอารมณ์ขันครั้งแรก และเมื่อเริ่มโตขึ้น ก็มีการพัฒนาอารมณ์ขันเพิ่มขึ้น โดยจะแสดงบทบาทด้านต่างๆ ของตัวละคร ซึ่งมักทำให้เราประหลาดใจอยู่เสมอ”
ความคาดหวังในอนาคตของลูกทั้งสาม
“ผมเพียงขอให้เขาเป็นคนที่มีความสุข ให้เกียรติผู้อื่น เป็นคนอ่อนโยนอบอุ่น ไม่ได้ทำเพราะเราต้องการให้เขาทำ แต่เพื่อให้เขาเป็นคนที่สมดุลในชีวิต ตอนนี้ลูกๆ พูดภาษาดัตช์และอังกฤษ แต่ลูกสาวคนโตค่อนข้างมีทักษะด้านภาษา จึงได้ภาษาจีนบ้างตอนที่เราอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ พอมาอยู่ที่นี่ ก็ได้ภาษาไทยจากคนนั้นนิด คนนี้หน่อย เช่น จากพี่เลี้ยง แม่บ้าน และโรงเรียน”
ตอนนี้คุณคาร์เตอร์เสริมว่า
“ก่อนนอน ลูกๆ ทั้งสามคนจะนั่งรวมกันบนเตียง แล้วผมจะอ่านหนังสือนิทานให้เด็กๆ ฟัง เด็กๆ ชอบมาก ประมาณทุ่มตรงเด็กๆ ก็จะหลับยาวนานเกือบ 12 ช.ม. เป็นอย่างนี้ทุกวัน ส่วนใหญ่เราจะเลี้ยงลูกกันเอง มียกเว้นในบางวันเมื่อเราทำไม่ได้เพราะมีภารกิจ”
“ในเนเธอร์แลนด์ผมทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง พอวันหนึ่งได้เป็นพ่อ ผมจึงลาออกจากงานนั้นมาดูแลลูกสองสามปีแรก เมื่อมาอยู่ที่ประเทศไทย ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ถือว่าเป็นโอกาสวิเศษสุดที่จะได้เห็น ได้อยู่กับลูกๆ ของเราอย่างใกล้ชิด ลูกๆ ก็ได้มีเวลาอยู่กับเรามากที่สุด”
“ดังนั้น เราจึงมีความสุขกันมาก โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะคู่สามีภรรยามักจะต้องทำงานกันทั้งสองคน หรือไม่ก็ทำงานล่วงเวลา” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022