คำเตือนจากเวิลด์แบงก์ ข่าวร้ายเศรษฐกิจโลก

(Photo by Andrew CABALLERO-REYNOLDS / AFP)

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เผยแพร่รายงานการประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของโลกที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญของธนาคารออกมาเมื่อ 27 มีนาคม ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีแนวโน้มที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกจะตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ต่อเนื่องกันยาวนานนับสิบปี นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

เหตุผลก็เพราะเกิดปัญหาระดับวิกฤตใหญ่ๆ ขึ้นเหลื่อมซ้อนทับกันมากมาย ส่งผลให้เกิดการบ่อนเซาะ ทำลายศักยภาพในการขยายตัวในระยะยาวของโลก และทำให้ทรัพยากรที่สามารถนำไปใช้ในการต่อสู้กับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกงวดลงจนเหลือน้อยเต็มที

ผลลัพธ์ก็คือ โลกไม่เพียงยากจนมากขึ้นเท่านั้น ยังอาจเผชิญกับอันตรายจากภาวะวิกฤตของภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

โลกต้องรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก พิกลพิการ ระบบบริการด้านสาธารณสุขทั่วโลกตึงตัวแทบล่มสลาย แต่ในทันทีที่ปัญหาการแพร่ระบาดเริ่มสร่างซา รัสเซียก็ส่งทัพใหญ่บุกยูเครน ที่ไม่เพียงแค่ก่อให้เกิดการสู้รบรุนแรง แต่ยังสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นหัวใจของการผลิตและการค้าของโลกปั่นป่วนขนานใหญ่ ก่อให้เกิดความโกลาหลขึ้นกับความสัมพันธ์ด้านการค้าของนานาประเทศ ตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะการแซงก์ชั่นที่เกิดขึ้นตามมา

พอจะเริ่มปรับตัวตั้งหลักได้ ภาวะตึงเครียด ตึงตัวในระบบการเงินโลกที่เริ่มต้นออกอาการให้เห็นตลอดปีที่ผ่านมาเมื่อบรรดาธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาและอีกหลายต่อหลายประเทศ เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตลอดทั้งปี ก่อให้เกิดวิกฤตธนาคารขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

กลายเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกอ่อนแอมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในรายงานชิ้นใหม่นี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างปี 2023 จนถึงปี 2030 อัตราการขยายตัวของผลผลิตทั่วโลกจะลดลงมาอยู่เพียงแค่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อันเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี และถ้าหากนำไปเทียบกับอัตราขยายตัวของผลผลิตโลกในช่วง 10 ปีแรกของศตวรรษนี้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ก็จะเห็นได้ชัดว่าลดลงอย่างฮวบฮาบเลยทีเดียว

อินเดอร์มิท กิลล์ รองประธานอาวุโสของธนาคารโลก ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์อยู่ด้วย ระบุว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้คือกระบวนการที่จะนำไปสู่ “ทศวรรษที่สูญเปล่า” สำหรับเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อขีดความสามารถของโลก ในอันที่จะต่อสู้เพื่อแก้ไข หาทางออกให้กับปัญหาท้าทายที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกยุคนี้ อย่างปัญหาความยากจนไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

คณะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์เตือนไว้ว่า “ยุคทอง” ของการพัฒนาที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นนั้น “สิ้นสุดลงไปแล้ว” บรรดาผู้นำและผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศ จำเป็นต้อง “ใช้ความคิดสร้างสรรค์” ให้มากยิ่งขึ้น เพราะไม่สามารถพึ่งพาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในประเทศอื่นอย่างเช่นจีนซึ่งเคยเป็นหัวใจของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกมานานปี ได้อีกต่อไปแล้ว

การหวนกลับไปสู่ยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนั้นยาก แม้แต่จะพยายามฟื้นฟูให้กลับมาขยายตัวได้ในระดับเดียวกับในช่วง 10 ปีแรกของศตวรรษนี้ ก็ยังจำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างใหญ่หลวง ต้องดำเนินนโยบายในระดับนานาชาติให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง จึงสามารถจะทำให้เป็นไปได้

ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ในทันทีที่มีวี่แววว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว วิกฤตการณ์ระดับโลกก็เกิดขึ้นอีกครั้ง การเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบของเหตุวิกฤตระดับโลกเช่นนี้ยังคงอยู่ เหตุผลก็เพราะการแก้ปัญหาหนึ่งอาจก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมา อย่างเช่น การดำเนินความพยายามเพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อของบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ส่งผลให้ธนาคารอย่างซิลิคอน วัลเลย์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ในสหรัฐอเมริกาล่ม ต่อด้วยธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างเครดิต สวิส ที่ต้องถูกเทกโอเวอร์ไปในที่สุด

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ในเวลานี้ก็คือ เหตุการณ์อย่างเช่นวิกฤตธนาคารในสหรัฐและยุโรป จะก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตสินเชื่อขึ้นตามมาหรือไม่ และในที่สุดจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือเศรษฐกิจของยุโรปตกสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

นีล คาชคารี ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาสาขามินนีอาโปลิส ยอมรับว่า วิกฤตธนาคารทำให้สหรัฐอเมริกาขยับเข้าใกล้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากยิ่งขึ้น “ที่ยังไม่ชัดเจนในเวลานี้ก็คือปัญหาในระบบธนาคารจะก่อให้เกิดวิกฤตสินเชื่อได้กว้างขวางมากแค่ไหนเท่านั้น”

นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุว่า ถ้าหากปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารในเวลานี้ปั่นป่วนรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกและทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นทั่วโลก อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ประเมินเอาไว้ที่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ก็อาจต้องปรับลดลงอีก เพราะวิกฤตและเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลให้เกิดภาวะว่างงาน และการหดตัวของการลงทุนขึ้นทั่วโลกนั่นเอง

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน