คุยกับทูต | โจนาธาน คิงส์ นิวซีแลนด์บนเวทีโลกวันนี้ (จบ)

นิวซีแลนด์มีชื่อเสียงด้วยมาตรฐานการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงระดับโลก (World Class Facilities) และเป็นประเทศโลกที่หนึ่งที่ให้อิสระและให้เกียรตินักเรียนนานาชาติมากที่สุด

ระบบการศึกษาของนิวซีแลนด์เน้นการสอนให้นักเรียนนักศึกษามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างทันสมัย มีอิสระในการใช้ความคิด มีความสามารถในการแก้ปัญหา ฝึกการวิเคราะห์ นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง รวมไปถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น

นายโจนาธาน คิงส์ (H.E. Mr. Jonathan Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เล่าถึงมาตรฐานการเรียนการสอนในนิวซีแลนด์

นายโจนาธาน คิงส์ (H.E. Mr. Jonathan Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย

“นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักเรียนไทย เรามีความยินดีให้การต้อนรับนักเรียนไทยที่ไปศึกษาในประเทศของเรา ซึ่งก่อนเกิดโรคระบาดมีนักเรียนไทยกว่า 3,000 คนศึกษาอยู่ในนิวซีแลนด์ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นกระแสความสนใจที่เพิ่มขึ้นจากผู้ปกครองและนักเรียนไทย โดยมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง”

“ในนิวซีแลนด์ นักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาวิชาการที่มีความจำเป็นมากเท่าๆ กับการเรียนทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเรียนรู้โดยมุ่งเน้นอนาคตอย่างแท้จริง สำหรับการจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ ประเด็นสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอย่างแท้จริงโดยผู้สอนต้องยอมรับว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติกำลังเปลี่ยนรูปแบบโลกแห่งการทำงาน”

“เราจึงมีความภาคภูมิใจในระบบการศึกษาของเราที่มีคุณภาพสูง”

“มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 3% แรกของโลก ที่เป็นผู้นำในความเป็นเลิศทางวิชาการและมอบประสบการณ์ด้านการศึกษาที่ช่วยสร้างนวัตกรรม ความคิดส่วนบุคคล และการเชื่อมโยงทั่วโลก”

“นิวซีแลนด์ได้รับการจัดอันดับโดย The Worldwide Educating for the Future Index (2019), Economist Intelligence Unit ให้เป็นอันดับ 1 จากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ในการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะพร้อมสู่อนาคตได้ดีที่สุดในโลก”

“เป็นระบบการศึกษาที่ช่วยเตรียมเยาวชนให้เป็นพลเมืองโลกและเป็นนักคิดรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ มีไหวพริบ และเป็นอิสระ ได้รู้จักพิจารณาว่าจะนำความรู้ไปใช้อย่างไร ไม่ใช่แค่การท่องจำ!”

“และจากการที่นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม นักเรียนจำเป็นต้องได้รับความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เป็นการเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับชีวิตในโลกที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

“นอกจากประเทศของเราจะมีสภาพแวดล้อมที่สวยงามและปลอดภัยสำหรับนักเรียนแล้ว เรายังเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในโลกที่ใช้ ‘แนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักเรียนนานาชาติ’ (Code of Practice for the Pastoral Care of International Students) หลักเกณฑ์นี้กำหนดมาตรฐานทั้งในและนอกห้องเรียนที่ผู้ให้บริการด้านการศึกษาต้องปฏิบัติ ตามที่นักเรียนต่างชาติคาดหวังว่าจะได้รับจากผู้ให้บริการด้านการศึกษาที่พวกเขาเลือก ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ปกครองทุกคน”

“การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น! เรามีกิจกรรมกลางแจ้งดีๆ ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม และเป็นเรื่องง่ายที่จะเพลิดเพลินไปกับการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงเพื่อสุขภาพที่ดี เพราะไม่มีที่ใดในนิวซีแลนด์อยู่ห่างจากทะเลเกิน 120 กิโลเมตร”

“ทุกเมืองมีป่าสงวนท้องถิ่นที่มีเส้นทางเดิน หรือปั่นจักรยาน มีสวนสาธารณะ สปอร์ตคลับ และสระว่ายน้ำ ในสภาพอากาศที่สดใสและมีพื้นที่ว่างให้เคลื่อนที่ได้ง่ายเสมอ”

บรรยากาศภายในบ้านพัก

ประเทศนิวซีแลนด์มีความยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ 1,600 กิโลเมตร เกาะที่ใหญ่กว่าอยู่ตอนบนของประเทศ เรียกว่า “เกาะเหนือ” (North Island) เกาะด้านล่างเรียกว่า “เกาะใต้” (South Island) ส่วนเกาะปลายล่างสุดของเกาะใต้เรียกว่า เกาะสจ๊วร์ต (Stewart Island) เกาะใหญ่ทั้งสองมีรูปร่างแคบยาวและทำให้ไม่มีส่วนใดของประเทศเลยที่อยู่ไกลจากชายฝั่งเกิน 120 กิโลเมตร

“นิวซีแลนด์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราจึงเป็นคนง่ายๆ ยอมรับในวิถีชีวิตและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ผู้มาเยือนจะพบว่าเป็นเรื่องง่ายในการพบปะผู้คนและหาเพื่อนใหม่เพราะผู้คนเป็นมิตร อัธยาศัยดี คนนิวซีแลนด์จึงมีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นมิตรและเข้าใจในความแตกต่าง”

“ปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้เราเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักเรียนที่ต้องการสร้างเส้นทางของตนเองและพัฒนาความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จท่ามกลางความท้าทายปัจจุบัน”

นายโจนาทาน เดล คิงส์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย

การเผชิญความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มาเป็นทูตประจำประเทศไทย

“ปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ยุ่งเหยิง แต่ก็เต็มไปด้วยศักยภาพอย่างมาก ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC 2022) โดยมีการประชุมระดับผู้นำในช่วงปลายปี ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่และผู้บริหารบริษัทต่างๆ จากนิวซีแลนด์เข้าร่วมการประชุมด้วย”

การประชุมเอเปค 2022 (APEC 2022 Thailand) เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2022 และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2022 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และแนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance)

“เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC เมื่อปี 2021 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราที่จะต้องส่งมอบความรับผิดชอบการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ให้เป็นไปด้วยดี โดยให้การสนับสนุนในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพอย่างจริงจัง”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับนายโจนาธาน เดล คิงส์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย และคณะ ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับการพัฒนากรุงเทพฯ

“เรื่องความท้าทายนอกจากนี้ เห็นจะเป็นเรื่องปัญหาสุขภาพของผม ซึ่งต้องรีบเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างปัจจุบันทันด่วนในเช้าวันเดียวกับที่ผมมีหมายกำหนดการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย แต่ผมก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้งในอีก 4 เดือนต่อมา คือ วันที่ 4 ตุลาคม 2022”

“นิวซีแลนด์และไทยมีประวัติการสืบทอดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาแล้วร่วม 67 ปี เรายึดมั่นในการส่งเสริมความร่วมมืออันก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาของทั้งสองประเทศ สนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าให้ก้าวสู่มิติใหม่อย่างต่อเนื่อง”

“ผมตั้งเป้าที่จะกระชับความร่วมมือทางการค้าของเรา และสนับสนุนการลงทุนจากนิวซีแลนด์มายังประเทศไทยให้มากขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะเห็นการกลับมาอีกครั้งของนักเรียน นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางระหว่างนิวซีแลนด์และไทย”

เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

“แล้วผมก็ยังเห็นโอกาสในเชิงบวกอีกมากมายสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลของเราที่จะเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อให้เราได้แบ่งปันมุมมองและแนวทางที่เกี่ยวกับความท้าทายระดับภูมิภาคและระดับโลกซึ่งเราต้องเผชิญ”

“ดังนั้น ในทุกสัปดาห์ เรามักจะจัดงานในหลายกรณีและหลายแบบที่บ้านพัก ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงอาหาร การจัดสัมมนา และการประชุม เพราะที่นี่เป็นทั้งบ้านสำหรับพักอาศัย และเป็นทรัพย์สินที่สำคัญซึ่งเราใช้ประโยชน์ในการนำเสนอประเทศนิวซีแลนด์สู่ประเทศไทย”

ท่านทูตและภรรยา นางอแมนด้า แมคโดนัลด์

กิจกรรมในยามว่างที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์และความเครียดจากการงาน

“ผมอยู่ที่นี่กับภรรยา ส่วนลูกสาวและหลานสองคนของเราอยู่ในเวลลิงตัน กิจกรรมสำหรับผม คือการเล่นกอล์ฟ ถ้าอยู่ที่กรุงเทพฯ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมมักจะเล่นกอล์ฟอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงสุดสัปดาห์”

“นอกจากนี้ ผมกับภริยายังชอบไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ในกรุงเทพฯ เช่นที่ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) หรือเพลิดเพลินกับการเลือกไปร้านอาหารยอดนิยมมากมายหลายแห่งในกรุงเทพฯ บางครั้งเราก็ไปสำรวจรอบๆ กรุงเทพฯ หรืออาจแวะเวียนไปเดินออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ เช่น สวนลุมพินี สวนเบญจกิติ เป็นต้น”

“ขณะเดียวกัน เราก็อยากเห็นประเทศไทยภาคอื่นๆ ด้วย จึงหาโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยตัวเอง เช่น หัวหิน กระบี่ และพัทยา ซึ่งเราประทับใจสุโขทัยและอยุธยาเป็นพิเศษ และยังได้ไปทัศนศึกษาที่จัดขึ้นโดยสยามสมาคม แต่อีกไม่นานนัก นอกเหนือจากจะไปเยือนยุโรปแล้ว เกาะสมุย และอีสานก็เป็นอีกจุดหมายปลายทางในรายการของเรา”

ในวิดีโอ ซึ่งจัดทำโดย The Asia New Zealand Foundation มีตอนหนึ่งซึ่งท่านทูตโจนาธาน คิงส์ กล่าวว่า

“แต่สำหรับกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่แม้ว่าคุณจะอยู่ระยะเวลานานเท่าใด คุณก็ยังจะพบเจอสิ่งและสถานที่ใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เยี่ยมชมได้ในทุกสุดสัปดาห์”

“Kia ora Thailand! สวัสดีประเทศไทย!” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin