รีด เฮสติง ‘ตำนาน’ แห่งเน็ตฟลิกซ์

(Photo by Patrick T. FALLON / AFP)

ในวัย 62 ปี “รีด เฮสติง” เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเน็ตฟลิกซ์ บริษัทผู้ให้บริการ “สตรีมมิ่ง” ที่เขาร่วมกับพวกก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อนอย่างสง่างาม

เน็ตฟลิกซ์ ไม่เพียงได้รับการยอมรับว่าเป็น “การปฏิวัติทางเทคโนโลยี” ครั้งใหญ่เท่านั้น ยังได้ชื่อว่าเป็นตัวการสำคัญในการ “ปฏิวัติวงการบันเทิง” และทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงที่ยิ่งใหญ่มานานปีอย่างฮอลลีวู้ด พลิกคว่ำคะมำหงาย กับวิธีการใหม่ในการผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์นานาชนิด จนเปลี่ยนโฉมหน้าและกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป

ทุกวันนี้ บริษัทที่เฮสติงก่อตั้งขึ้นร่วมกับมาร์ก แรนดอล์ฟ และเท็ด ซาแรนดอส ยังคงเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหญ่เพียงรายเดียวเท่านั้นในโลกที่มีผลกำไร มีฐานสมาชิกผู้ใช้บริการ 231 ล้านราย และมีงบประมาณในการผลิตเนื้อหาปีละราวๆ 17,000 ล้านดอลลาร์

หลายคนทั้งในวงการบันเทิงและในแวดวงเทคโนโลยี ยกย่องเฮสติงว่าเป็น “นักนวัตกรรม” ในตำนานระดับ “หนึ่งในพันล้าน” ทำนองเดียวกับอีลอน มัสก์ แต่เจ้าตัวเองยังคงยืนกรานแข็งขันว่า เขาไม่ใช่นักสร้างนวัตกรรมใดๆ

เฮสติงบอกว่า พวกเขาเพียงแค่พยายาม “สร้างระบบ” ขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง

 

เมื่อตอนที่เฮสติงยังคงเป็นนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกาในราวทศวรรษ 1980 เขาบอกว่าสิ่งที่เขา “ฝัน” ในตอนนั้นก็คือการพัฒนา “เมาส์สำหรับเท้า” เมาส์ที่ใช้เท้าควบคุม เพราะไม่ต้องการละมือทั้งสองข้างออกจากคีย์บอร์ดให้เสียเวลา

เขายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ความฝันในการพัฒนา “ฟุตเมาส์” ที่ว่านั้น คือ “หายนะชัดๆ” ในความเป็นจริง

เฮสติงกับพวก เริ่มต้นก่อตั้งเน็ตฟลิกซ์ในปี 1997 เพื่อให้บริการ “ส่งดีวีดีทางเมล” ใส่ซองสีแดงให้กับผู้ต้องการเช่าไปใช้เพื่อความบันเทิง ขณะที่มีผู้ให้บริการเช่าดีวีดีรายใหญ่อย่าง “บล็อกบัสเตอร์” ครองตลาดอยู่ในเวลานั้น

เฮสติงเป็นเจ้าของแนวคิดการให้บริการรูปแบบใหม่สำหรับเป็นทางเลือก โดยให้ผู้ใช้ใช้การดาวน์โหลดดีวีดีแต่ละเรื่องที่ต้องการเพื่อรับชมที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลารอไปรษณีย์เมื่อปี 2000

แล้วก็แทบกลายเป็น “หายนะ” ไปเหมือนๆ กับ “ฟุตเมาส์”

เหตุผลเป็นเพราะตอนนั้น อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังช้ามากๆ จำเป็นต้องใช้เวลากว่าครึ่งวันในการดาวน์โหลดภาพยนตร์หนึ่งเรื่องมารับชม แถมค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ในเวลานั้นยังแพงหูฉี่ แพงกว่าค่าเช่าดีวีดีเป็นไหนๆ

แต่เน็ตฟลิกซ์ตั้งหลักได้ และเริ่มแสดงพลังของการ “ดิสรัปต์” ของตนเองออกมา

 

เริ่มจากการทำให้คู่แข่งที่ต่อกรกันมาตั้งแต่แรกเริ่มอย่าง “บล็อกบัสเตอร์” ถึงกับชะตาขาด ต่อด้วยการ “รีเซ็ต” โมเดลในการผลิตและขายภาพยนตร์และวิดีโอเพื่อการบันเทิงของฮอลลีวู้ด อย่างที่เราเห็นกันในที่สุด

เฮสติงนำพาเน็ตฟลิกซ์จากบริษัทที่ขายหุ้น หุ้นละ 1 ดอลลาร์ เมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วอลสตรีตครั้งแรกในปี 2002 ให้กลายเป็นธุรกิจมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้ราคาหุ้นตกประมาณ 336 ดอลลาร์ต่อหุ้น

จนครั้งหนึ่ง จอห์น คาร์ล มาโลน มหาเศรษฐีระดับพันล้านที่มั่งคั่งจากการริเริ่มแนวคิดเคเบิลทีวี ผู้เป็นเจ้าของ “เทเล-คอมมูนิเคชั่น อิงก์” (ทีซีไอ) เคยกล่าวติดตลกว่า บรรดาคนที่เป็นเจ้าของหุ้นเน็ตฟลิกซ์ ควรสร้าง “อนุสาวรีย์” ให้เฮสติง

แน่นอน ตัวเฮสติงเองย่อมมีหุ้นอยู่ในเน็ตฟลิกซ์อยู่ด้วย สัดส่วนที่เขาถือครองอยู่ในเวลานี้มีมูลค่ามากกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์

มาโลนบอกว่า ความสำเร็จของเฮสติงคือการทำลายกรอบเดิม รูปแบบเดิมๆ ไปทั้งหมด

“เขาเป็นคนแรกที่ก้าวไปอยู่ในที่นั้น ถึงตอนนี้มีคนเป็นจำนวนมากยึดถือเน็ตฟลิกซ์ว่าเป็นรากฐาน เป็นพื้นฐานของโปรแกรมการให้บริการออนไลน์ แต่ผมเชื่อว่าความสำเร็จของเขามาจากการลงมือทำตามแนวคิดได้อย่างวิเศษสุด”

 

แต่ระบบเน็ตฟลิกซ์ ที่เฮสติงสร้างขึ้นมายังไม่ “ถึงที่สุด” เน็ตฟลิกซ์เปลี่ยนแปลงธุรกิจบันเทิงไปมหาศาล แต่การเปลี่ยนแปลงยังคงเกิดขึ้นและเกิดขึ้นในระดับความเร็วที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาก แต่ผลกำไรของอุตสาหกรรมใหม่นี้ยังไม่ได้ใกล้เคียงกับที่โมเดลการให้บริการโทรทัศน์แบบเดิมๆ เคยทำได้ในช่วงรุ่งเรืองถึงขีดสุดด้วยซ้ำไป

คู่แข่งขันผุดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอชบีโอแม็กซ์, ดิสนีย์พลัส, อเมซอนไพรม์ ฯลฯ แต่ยังหาใครที่มีอิทธิพลใกล้เคียงกับเน็ตฟลิกซ์ได้ยากยิ่ง

ซีอีโอคู่แข่งของเน็ตฟลิกซ์รายหนึ่งระบุว่า เน็ตฟลิกซ์มีอิทธิพลต่อบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันสูงมากจากความสำเร็จที่ทำไว้ สูงจนถึงระดับที่ทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องทุ่มเทเดิมพันมหาศาลเพื่อก้าวขึ้นมาเทียบเคียงให้ได้ในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง

ซึ่งส่งผลให้แต่ละรายขาดทุนอยู่ในเวลานี้รวมกันเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ และ “ไม่มีใครในธุรกิจเดียวกันนี้รู้ว่ามันสามารถทำกำไรได้หรือไม่ได้” ยกเว้นเน็ตฟลิกซ์

 

รีด เฮสติง ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ เมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมา เขาระบุว่า 25 ปีที่ผ่านมาเน็ตฟลิกซ์ได้ก้าวมาถึงจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเองที่จะวางมือ แล้วปล่อยให้คนอื่นๆ ทำหน้าที่นำพากิจการต่อไป

เท็ด ซาแรนดอส ซีอีโอร่วมที่ทำงานกับเฮสติงมาตลอด 25 ปี ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอแล้วดึงเอาเกร็ก ปีเตอร์ส ที่ขลุกอยู่กับเน็ตฟลิกซ์มา 15 ปีขึ้นมาเป็นซีอีโอร่วมอีกคน ทำนองเดียวกับที่เฮสติงเคยมีซาแรนดอส เพื่อนำพาเน็ตฟลิกซ์ก้าวต่อไป เผชิญกับความท้าทายในอนาคต

เฮสติงยังคงทำหน้าที่ประธานบริหารของบริษัท ตำแหน่งที่แม้จะมีส่วนดูแล แต่ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงานบริหารวันต่อวัน ทำนองเดียวกับที่บิลล์ เกตส์ ทำอยู่กับไมโครซอฟต์ หรือเจฟฟ์ เบซอส ทำอยู่กับอเมซอนในเวลานี้

เมื่อถูกถามว่า อะไรคือเคล็ดลับที่นำมาซึ่งความสำเร็จซึ่งเขาภาคภูมิใจ เฮสติงตอบว่า เขาภูมิใจอย่างยิ่งในความชัดเจน และความซื่อสัตย์อย่างแรงกล้า ที่เขาแสดงออกตลอดมา

เพื่อนร่วมงานรายหนึ่งบอกถึงเหตุผลที่มหาเศรษฐีพันล้านอย่างเฮสติงลาออกจากการเป็นซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์ว่า เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ยังหลงเหลืออยู่ของเจ้าตัว เพื่อใช้เวลาให้มากขึ้นกับงานการกุศลโดยใช้ทรัพย์สินส่วนตัวที่สั่งสมมา “ส่งคืน” ให้กับสังคมโลก

“เขาไม่อยากตายอย่างมหาเศรษฐี แต่ต้องการจบชีวิตเช่นคนจนธรรมดาๆ เท่านั้น”