วิศวกรหญิงชาวไนจีเรีย คิดค้น “สมาร์ท บรา” ตรวจมะเร็งเต้านมระยะแรก

Image credit : https://img.internethaber.com/

Kemisola Bolarinwa วิศวกรหญิงชาวไนจีเรีย สูญเสียคุณป้าของเธอไปจากมะเร็งเต้านมระยะที่ 3

Kemisola Bolarinwa บอกว่า หากคุณป้าของเธอตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ได้ในระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสที่จะรักษาได้

“ผู้ป่วยจำนวน 9 ใน 10 คน ที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ในระยะแรก สามารถรักษาอาการดังกล่าวให้หายได้” Kemisola Bolarinwa ระบุ

สถาบันวิจัยและรักษาโรคมะเร็งแห่งไนจีเรีย ชี้ว่า ในแต่ละปี ไนจีเรียมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 72,000 ราย

และในจำนวนนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคือกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดราว 19,000 คนต่อปี

เหตุผลหลักที่ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตมากก็คือ การตรวจพบที่ล่าช้า เพราะคนเก่าคนแก่ไม่ยอมไปโรงพยาบาล

สาเหตุอีกประการหนึ่ง แม้ผู้ป่วยจะยอมไปโรงพยาบาล แต่ต้องพบกับขั้นตอนการรอตรวจคัดกรองที่นานเกินไป

นี่คือ 2 เหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนไนจีเรียจากโรคมะเร็งกำลังปรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างก้าวกระโดด

Kemisola Bolarinwa บอกว่า คุณป้าของเธอซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า ท่านเชื่อว่ามะเร็งเป็นฝีมือของภูตผีวิญญาณ

“ป้าเลือกที่จะอ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยรักษาอาการดังกล่าว แทนที่จะไปโรงพยาบาล” Kemisola Bolarinwa กล่าว และว่า

หลังเกิดเรื่องกับคุณป้า Kemisola Bolarinwa ได้ตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยชีวิตของผู้หญิงคนอื่นๆ ให้ห่างไกลจากมะเร็งเต้านม

Kemisola Bolarinwa จึงได้คิดค้น “ยกทรง 4.0” หรือ Smart Bra ขึ้น

เธอเรียก Smart Bra ว่า “ยกทรงอัจฉริยะ” ที่มีสมรรถนะคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นได้

โดย “ยกทรง 4.0” จะทำการวัดค่าบางอย่างบริเวณทรวงอก จากนั้นจัดเก็บข้อมูล และส่งผลตรวจดังกล่าวเข้ามาที่ Application ในโทรศัพท์มือถือ

“ทั้งหมดนี้ ทำได้ภายระยะเวลาเพียง 30 นาที” Kemisola Bolarinwa กล่าว และว่า

“ฉันคาดว่า ยกทรง 4.0 รุ่นแรกจะเปิดตัวในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ หลังจากแถลงข่าวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา”

 

Kemisola Bolarinwa บอกว่า “ยกทรง 4.0” ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้หญิงทั่วโลก

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนมาก ที่ให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยกทรง 4.0”

Kemisola Bolarinwa หวังว่า “ยกทรง 4.0” ที่เธอประดิษฐ์ขึ้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การตรวจพบมะเร็งเต้านมมีความรวดเร็ว

“ยกทรง 4.0 จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นได้” Kemisola Bolarinwa กล่าว และว่า

ฉันกำลังมองหาความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อที่จะนำ “ยกทรง 4.0” ไปใช้ในคลินิกในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ

“เพื่อให้ผู้หญิงของเราสามารถเข้าถึงกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้โดยง่ายขึ้น” Kemisola Bolarinwa สรุป

 

นอกจาก Smart Bra ของ Kemisola Bolarinwa แล้ว ยังมี “ยกทรง 4.0” อีก 2 ชิ้นที่น่าสนใจนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ชิ้นแรกคือ Myant Smart Underwear “ชุดชั้นในอัจฉริยะ” ที่มาพร้อม Sensor ตรวจจับทางสุขภาพ

Myant Smart Underwear อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของ Smart Clothing ที่สามารถประเมินอัตราการเต้นของหัวใจได้

โดย Smart Clothing ก็อยู่ใต้ร่มของ Smart Wearable เช่น Smart Watch, Wristband, Activity Tracker อีกทีหนึ่ง

Smart Clothing ของ Myant Smart Underwear คือระบบ Skin Connected Health & Wellness ซึ่งเป็นการรวม Sensor เข้ากับเสื้อผ้า

การที่ Myant เลือก “ชุดชั้นใน” ก็เพราะเราทุกคนใส่ “ชุดชั้นใน” ทุกวัน และเพราะ “ชุดชั้นใน” ใกล้ชิดกับผิวหนังที่สุด

เป็นโอกาสดีที่จะพัฒนา “ชุดชั้นในอัจฉริยะ” Myant Smart Underwear ขึ้นมานั่นเอง

โดย Myant ได้ใส่ Sensor ตรวจวัดสุขภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ, ระดับความเครียด, คุณภาพการนอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจวัดอุณหภูมิในช่วง COVID-19 ซึ่งข้อมูลที่ Sensor จับได้ จะถูกรวบรวมไปยัง Application ในโทรศัพท์มือถือ

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะความพิเศษของ Myant Smart Underwear ยังมี Sensor ที่จะตรวจกับการเคลื่อนไหว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถแจ้งเตือนเมื่อผู้สวมใส่กำลังจะลื่นล้ม ซึ่งเหมาะกับผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก

หรือจะเป็น Sensor วัดความอ่อนเพลียของกล้ามเนื้อ และตรวจจับความเมื่อยล้าขณะขับขี่รถยนต์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Myant Smart Underwear ยังผสมผสาน Smart Sensor เข้ากับ Application Skin ของ Myant เชื่อมโยงไปยังอุปกรณ์ Smart Home

เมื่อ “ชุดชั้นในอัจฉริยะ” Myant Smart Underwear ตรวจพบอัตราความเครียดของผู้สวมใส่ ก็จะส่งสัญญาณไปยังเครื่องเสียงเพื่อเปิดเพลง ช่วยลดความเครียดลงได้

 

นอกจาก Smart Bra ของ Kemisola Bolarinwa และ Myant Smart Underwear “ชุดชั้นในอัจฉริยะ” แล้ว ยังมี “ยกทรง 4.0” อีก 1 ชิ้น ที่จะแนะนำเป็นการส่งท้าย

นั่นก็คือ “ยกทรง Microsoft”

โดย Microsoft Research ร่วมกับ University of Rochester ในสหรัฐอเมริกา และ University of Southampton แห่งสหราชอาณาจักร พัฒนาต้นแบบ “ยกทรง Microsoft”

ซึ่งเป็น “ยกทรงอัจฉริยะ” ที่ฝังเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG: Electrocardiogram) กับเครื่องวัดการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของผิวหนัง (EDA : Electrodermal Activity) Gyroscope 2 ทิศทาง และเครื่องวัดอัตราเร่ง 3 ทิศทาง

Microsoft บอกว่า สัญญาณ EKG และ EDA ที่เกิดขึ้น สามารถใช้ประเมินอารมณ์ของผู้สวมใส่ ณ ขณะนั้นได้

ซึ่งการที่ Microsoft เลือกใช้ “ยกทรง” ก็เพราะต้องการอุปกรณ์ที่ผู้ใช้สวมใส่สบายเป็นเวลานาน และสามารถเก็บสัญญาณ EKG และ EDA ได้ในคราวเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยกทรง Microsoft” จะสามารถติดตั้งอุปกรณ์ EKG และ EDA ให้ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจใกล้หัวใจ รวมทั้งสัญญาณชีวภาพอื่นๆ ได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ Microsoft Research ยังได้มีการพัฒนาระบบเพื่อเก็บข้อมูลจาก Real-time Senso ภายใต้รหัส GRASP (Generic Remote Access Sensing Platform)

ซึ่งประกอบด้วย Sensor Board, Firmware, Software Development Library โดย GRASP ส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือ ผ่านช่องสัญญาณ Bluetooth

โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกสำรองขึ้นบน Cloud ของ Windows Azure

ผ่าน Application ที่ชื่อ EmoTree เพื่อช่วยตรวจดูสถานะอารมณ์ของผู้สวมใส่ ณ ขณะนั้น โดยจะมีหน้าจอให้ผู้ใช้ระบุอารมณ์ด้วยตัวเองทุกชั่วโมง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าจอบันทึกอาหาร หรือขนม ที่ผู้สวมใส่ชอบกิน

ซึ่งเมื่อผู้สวมใส่ “ยกทรง Microsoft” ได้บันทึกสิ่งที่รับประทานเข้าไปแล้ว Application จะสอบถามถึงสภาวะอารมณ์ก่อนกินสิ่งเหล่านั้น

และหน้าจอ Intervention Screen จะปรากฏขึ้น เพื่อแนะนำให้ผู้สวมใส่ ฝึกนับ 1 ถึง 10 และหายใจเข้า-ออกลึกๆ เป็นเวลา 10 ครั้ง โดยจะมีปุ่มให้กดเมื่อทำครบหนึ่งรอบ

เป็นอันจบกระบวนการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม (CBT : Cognitive Behavioral Therapy) ที่จะช่วยให้ผู้สวมใส่ “ยกทรง Microsoft” สงบสติอารมณ์

 

ผลการทดลองพบว่า ผู้สวมใส่ “ยกทรง Microsoft” ร้อยละ 87.5 บอกว่า พวกเขาเริ่มตระหนักถึงอารมณ์ และผลกระทบของอารมณ์ ที่มีต่อนิสัยการกินมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการลดโอกาสที่จะเข้าสู่ Mode “กินตามอารมณ์” หรือ Emotional Eating อย่างได้ผลชะงัดนักแล

ขณะที่ผู้สวมใส่ “ยกทรง Microsoft” ร้อยละ 12.5 บอกว่า พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป หลังจากพวกเขาตระหนักถึงอารมณ์ และหมั่นจดบันทึกเมนูอาหารทั้งคาวหวานที่กินเข้าไป

บทสรุปในภาพรวมก็คือ Sensor ของ “ยกทรง Microsoft” ทำงานได้อย่างน่าพอใจ โดยมีความแม่นยำอยู่ที่ 72%

อย่างไรก็ดี Microsoft Research ยอมรับว่า การกินตามอารมณ์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเกิดกับผู้ชายด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนา Smart Underwear ให้ผู้ชายเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจาก EKG มีไว้วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

คงลำบากถ้าจะเอาไปติดตั้งกับกางเกงในผู้ชาย