ญี่ปุ่น “เร่งผลักคน” ออกจากมหานครโตเกียว

(Photo by Philip FONG / AFP)

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ก็คือความพยายามของรัฐบาลเพื่อ “เร่ง” การผลักดันประชากรให้ออกจากพื้นที่ของเมืองใหญ่ระดับมหานครอย่างมหานครโตเกียว, นครโอซากา และอีกไม่กี่เมือง เพื่อไปตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่ชนบทให้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ที่บอกว่า “เร่ง” เป็นเพราะโครงการผลักดันดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่ปี 2019 ตอนนั้นรัฐบาลเสนอให้เงิน “รางวัล” สำหรับการย้ายออกจากเมืองหลวง 300,000 เยนสำหรับครอบครัวที่มีลูก 1 คน บวกกับเงินให้เปล่าอีกจำนวนหนึ่งสำหรับการไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กเมืองน้อยในต่างจังหวัดเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ใครที่อยู่ไม่ถึงก็ต้องคืนเงินที่ได้รับมาให้กับทางการ

มาครั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นหันมาจริงจังกับโครงการนี้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเงินรางวัลขึ้นหลายเท่าตัว โดยเริ่มต้นจากการให้เงินสนับสนุนต่อครอบครัวที่ตัดสินใจจะย้ายออกจากเมืองหลวงสูงถึง 3 ล้านเยน บวกกับเงินสนับสนุนลูกๆ อีก 1 ล้านเยนต่อคน

และถ้าครอบครัวไหนก็ตามทีสามารถไปเริ่มกิจการธุรกิจในเมืองเล็กที่ไปปักหลักได้ ก็จะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อธุรกิจอีกต่างหากอีกด้วย

 

เหตุผลที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องจริงจังกับเรื่องนี้มาก ไม่เพียงเป็นเพราะกรุงโตเกียวและบรรดามหานครต่างๆ ของประเทศที่มีอยู่เพียงหยิบมือกำลังแออัดมากขึ้นทุกขณะเท่านั้น

แต่ยังเป็นเพราะการโยกย้ายมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงและมหานครต่างๆ ของคนหนุ่มสาวทั้งหลายกำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

เมืองเล็กๆ หรือหมู่บ้านในชนบท บางแห่งหลงเหลือแต่ผู้สูงวัยเป็นส่วนใหญ่

บางแห่งเลวร้ายยิ่งกว่านั้น กลายเป็นเมืองหรือหมู่บ้านที่ “กลวงเปล่า” ไม่มีผู้คนอาศัย

สถานการณ์จะไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าหากญี่ปุ่นไม่ตกอยู่ภายใต้วิกฤตประชากรอย่างรุนแรง ประชากรญี่ปุ่นไม่เพียงประกอบด้วยผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงจนไม่สามารถทดแทนอัตราการตายได้

ผลก็คือ จำนวนประชากรญี่ปุ่นกำลังหดตัวลงตามลำดับ

เมื่อคนหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่วัยทำงานตัดสินใจเดินทางเข้ามาหางานหาเงินในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ หลายเมือง หลายหมู่บ้านจึงกลายเป็นเมืองที่มีแต่อาคารบ้านเรือน แต่ไม่มีผู้คน

ทำไมคนเหล่านั้นถึงต้องอพยพไปหางานทำที่อื่น เหตุผลเป็นเพราะธุรกิจในท้องถิ่นเรียวลงเรื่อยๆ และล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่มีทั้งลูกค้า และไม่มีทั้งแรงงาน

คนรุ่นใหม่จำนวนมากถึงกับต้องทิ้งบ้านมาดิ้นรนในเมืองหลวงเพราะรู้ว่าอยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคต ไม่มีงาน

หลายคนทิ้งบ้านหลังโต พร้อมที่ดินที่ได้รับเป็นมรดกให้ว่างเปล่าไว้อย่างนั้นเพราะความจำเป็น

ตัวเลขของทางการประมาณว่า บ้านมรดกที่ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ในเมืองเล็กเมืองน้อยในชนบท คาดว่าจะพุ่งขึ้นสูงถึง 10 ล้านหลังภายในปี 2023

ในเวลาเดียวกันนั้น มหานครโตเกียว ก็พองตัวพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ราวกับก้อนแม่เหล็กขนาดยักษ์พลังมหาศาลดึงดูดผู้คนมาจากทั่วทุกสารทิศเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองหลวง กลายเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดของโลกไป

ค่าครองชีพแพงระยับ สถาบันเศรษฐศาสตร์อสังหาริมทรัพย์ (อาร์อีอีไอ) องค์กรวิชาการอิสระ ระบุว่า ในปี 2021 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจชะลอตัวเพราะโควิด และมีการสนับสนุนให้ “ทำงานจากที่บ้าน” แต่ราคาคอนโดมิเนียมใหม่โดยเฉลี่ยในโตเกียวกลับพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับที่เคยสูงสุดเพราะฟองสบู่อสังหาฯ เมื่อปี 1989 ด้วยซ้ำไป

 

รายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า มีเขตเทศบาลท้องถิ่นทั้งหมด 1,300 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมอยู่ในโครงการนี้ แหล่งข่าวในรัฐบาลบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า ในปีงบประมาณ 2021 มีคนตัดสินใจรับเงินจากรัฐบาลแล้วย้ายออกไปจากเมืองหลวงเพียงแค่ไม่ถึง 2,400 คน

คิดเป็นสัดส่วนแล้วเท่ากับ 0.006 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 38 ล้านคนของเขตมหานครโตเกียว (เกรทเทอร์ โตเกียว)

หลายๆ เทศบาลที่เข้าร่วม พยายามโฆษณาจูงใจคนจากเมืองหลวงผ่านเว็บไซต์ อวดอ้างเสน่ห์ของชนบทแต่ก็ไม่วายซื่อสัตย์ตรงไปตรงมากับสถานการณ์ในท้องถิ่นของตน

ตัวอย่างเช่น อูมาจิ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดโคจิ ที่มีประชากรเพียง 820 คน โฆษณาว่าสามารถจัดหาสถานรับเลี้ยงเด็กในตอนกลางวันให้ฟรี “และแน่นอน ไม่มีเด็กๆ รอคิวอยู่เลยด้วย”

หรือกรณีของทาโนะ เมืองเล็กที่ตั้งอยู่ใกล้กัน อ้างว่าเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงาน “เกลือตาก” ด้วยแสงแดดที่หาได้ยากยิ่ง แต่ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เช่นกันว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของเมืองอายุเกิน 65 ปีแล้ว

ปัญหาเชิงประชากรในญี่ปุ่นหนักหน่วงและแก้ไขได้ยากเย็นมาก ญี่ปุ่นไม่เพียงเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนญี่ปุ่นยังต่อต้านความคิดที่จะสร้าง “ครอบครัวขยาย” หรือ “ครอบครัวใหญ่” อย่างแข็งขันไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามโน้มน้าวชักจูงเพียงใดก็ตาม

นอกจากนั้น ญี่ปุ่นยังมีปัญหาประชากรหดตัว เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำ ไม่สามารถทดแทนอัตราการตายได้ (อัตราการเกิดที่ทดแทนอัตราการตายได้คือ พ่อแม่ ควรมีลูก 2 คน เพื่อได้แทนที่เมื่อพ่อกับแม่เสียชีวิต) จำนวนประชากรวัยทารกของญี่ปุ่นก็หดตัวลงตามลำดับอีกด้วย

ในปี 2021 จำนวนเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียงเกิน 811,000 คนเล็กน้อยเท่านั้น และในปี 2022 อาศัยฐานจาก 9 เดือนแรกของปี ทางการคาดการณ์ว่า จำนวนทารกแรกเกิดจะลดลงต่ำกว่า 800,000 คนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจดบันทึกเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยแห่งชาติด้านประชากรและความมั่นคงทางสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางการเคยคาดการณ์เอาไว้ในปี 2017 ว่า จำนวนเด็กแรกเกิดที่ต่ำกว่า 800,000 คนนั้น จะไม่ปรากฏในญี่ปุ่นจนกว่าจะถึงปี 2030

แต่กลับมาเกิดขึ้นก่อนคาดการณ์ถึง 8 ปีเลยทีเดียว